กล้วยกวนลานดอกไม้

กล้วยกวนลานดอกไม้

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2022 ผู้ชม 1,848

[16.6272885, 99.3609305, กล้วยกวนลานดอกไม้]

บทนำ
         กล้วยกวนเป็นผลไม้แปรรูปชนิดหนึ่งที่นำกล้วยมาแปรรูปเพื่อคงสภาพกล้วยไม่ให้เกิดเน่าเสียและสามารถเก็บไว้ได้นาน กล้วยกวนลานดอกไม้เป็นกล้วยกวนแปรรูปของกำแพงเพชร โดยเริ่มจากนางสาวรุ่งนภา ไหววิจิตร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี ที่ได้อบรมกับสมาชิกและองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อคิดค้นทำผลิตภัณฑ์กล้วยกวน จนได้รับเป็นสินค้า OTOP 5 ดาว ของกำแพงเพชร บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา 1) ประวัติความเป็นมาของกล้วย 2) ลักษณะและรสชาติของกล้วยกวน 3) วัสดุผลิตภัณฑ์ 4) กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน 5) รางวัลและเกียรติบัตรที่ได้รับ

 ประวัติความเป็นมาของกล้วย
         กล้วยเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีผู้คนนิยมปลูกตามบ้านและบริโภคมากที่สุด มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบมากที่สุดในประเทศอินเดีย มีหมอของกรุงโรมมีนามว่า แอนโตนิอุส มูซา ได้นำหน่อกล้วยจากประเทศอินเดียมาปลูกในอียิปต์เมื่อประมาณ 2,000 ปี จนมีการแพร่ขยายพันธุ์ไปในดินแดนแอฟริกาและชาวอาหรับ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 พ่อค้าชาวโปรตุเกสได้เดินเรือไปยังทวีปแอฟริกาและได้นำกล้วยไปขายตามหมู่เกาะคะแนรี ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป หลังจากนั้น ชาวสเปนจึงได้นำกล้วยจากหมู่เกาะคะแนรีเข้าไปปลูกในหมู่เกาะอินดีสตะวันตกในอเมริกากลาง ส่งผลให้ดินแดนในอเมริกากลางมีการปลูกกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจกันอย่างแพร่หลาย และนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นแหล่งปลูกกล้วยส่งเป็นสินค้าออกมากที่สุดของโลก (มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, ม.ป.ป.) แสดงให้เห็นว่ากล้วยมีต้นกำเนิดจากประเทศอินเดีย และได้มีพ่อค้าได้นำกล้วยไปเร่ขายตามพื้นที่ต่างๆจนเกิดได้รับความนิยมของชาวอาหรับ มีการนำกล้วยไปประกอบอาหารจนเป็นที่เลื่องชื่อ ต่อมามีการขยายแพร่พันธุ์กล้วยจากอินเดียไปยังพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งพื้นที่ในประเทศไทยด้วย
         พันธุ์กล้วยที่ปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม และนำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง โดยสายพันธุ์กล้วยยอดนิยมที่พบเห็นได้บ่อยในเมืองไทย ดังเช่น กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือนาง และกล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมรับประทาน เนื่องจากกล้วยน้ำว้าสามารถนำส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ทั้งผล ใบตอง และหยวก ออกผลผลิตได้ง่าย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย เช่น กล้วยบวชชี กล้วยปิ้ง กล้วยเชื่อม กล้วยกวน เป็นต้น และกล้วยน้ำว้ายังเป็นกล้วยที่ทนต่อสภาพอากาศของประเทศไทยอย่างยิ่งโดยเฉพาะฤดูร้อนที่กล้วยน้ำว้านั้นทนต่อสภาพอากาศได้ดีที่สุดกล้วยน้ำว้าในประเทศไทยเป็นกล้วยที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ของกล้วยป่า 2 ชนิด ได้แก่ Musa acuminate และ Musa balbisaina มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยมีการปลูกกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้ขาว กลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้เหลือง และกลุ่มกล้วยน้ำว้าไส้แดง โดยกล้วยน้ำว้าในแต่ละกลุ่มก็มีลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น กล้วยน้ำว้าไส้ขาว ที่รู้จักกันดีคือ “กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง” เป็นกล้วยน้ำว้าไส้ขาว เมื่อนำไปทำ “กล้วยตาก” จะได้กล้วยตากที่มีสีเหลืองสวย ไม่ดำคล้ำ หรือเอาไปทำกล้วยแผ่นอบก็จะมีสีเหลืองสวยพอดี ไม่เหลืองมากเหมือนกลุ่มกล้วยน้ำว้าเหลือง ส่วนกล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้เหลืองเหมาะสำหรับการกินผลสด ทำกล้วยเชื่อม กล้วยทอด กล้วยบวชชี เป็นกล้วยที่เหมาะสำหรับการแปรรูปทำขนมใช้งานได้หลากหลายที่สุด สุดท้ายคือ กล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้แดง เป็นกล้วยที่ติดผลค่อนข้างดก ไส้กลางค่อนข้างแข็ง มีความฝาด จะเหมาะนำไปทำกล้วยเชื่อมหรือทำไส้ข้าวต้มมัด เพราะไส้ของกล้วยมีความแข็งไม่เละ กล้วยน้ำว้ากลุ่มไส้แดงนั้น ไม่เหมาะที่จะนำไปทำกล้วยตาก เพราะกล้วยตากที่มีสีคล้ำดำ สีไม่สวย ดูเหมือนกล้วยตากเก่า (กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน, 2563) แสดงให้เห็นว่ากล้วยน้ำว้าในไทยมี 3 ชนิดคือ กล้วยน้ำว้าขาว กล้วยน้ำว้าเหลือง และกล้วยน้ำว้าแดง โดยกล้วยทั้ง 3 ชนิดนี้ กล้วยที่เหมาะแก่การนำไปประกอบอาหาร การแปรรูปมากที่สุดคือกล้วยน้ำว้าเหลือง เพราะกล้วยน้ำว้าขาวจะมีรสชาติที่หวานจัด จึงอาจไม่เหมาะนำไปทำอาหารหรือแปรรูปในเรื่องของรสชาติที่หวานจัด ส่วนกล้วยน้ำว้าแดงจะค่อนข้างแข็ง มีรสฝาด ไม่เหมาะต่อการทำอาหารหรือทำผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูป ดังนั้นกล้วยน้ำว้าเหลืองจึงนิยมในการทำอาหารและทำผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยน้ำว้ามากที่สุดนั่นเอง
         กล้วยน้ำว้าสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กล้วยตาก กล้วยเชื่อม กล้วยฉาบเคลือบคาราเมล เป็นต้น สำหรับในพื้นที่ชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี ได้นำกล้วยน้ำว้า มาแปรรูปทำเป็นกล้วยกวนและต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ประจำอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากกล้วยน้ำว้ามีผลผลิตเป็นจำนวนมาก ปลูกง่าย ทนต่อสภาพอากาศในประเทศไทย ดังนั้นวิธีการแก้ไขของชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีที่ดีที่สุดคือการนำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยกวนเพื่อขายและเก็บรักษาให้ได้นานยิ่งขึ้น
         จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคกล้วยกวนของผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้กล้วยกวนมีรสชาติ ไม่หวานมากนัก เนื้อสัมผัสไม่เหนียวเกินไป สีของกล้วยกวนไม่ดำ และให้มีกลิ่นรสของกล้วยมากขึ้น ในการศึกษาเปรียบเทียบองค์ประกอบทางเคมีของกล้วยน้ำว้า 3 ชนิดคือ กล้วยน้ำว้าไส้ขาว กล้วยน้ำว้าไส้เหลือง และกล้วยน้ำว้าไส้แดง พบว่าปริมาณความชื้น (74.88-75.21), โปรตีน (2.24-2.40), ไขมัน (0.12-0.13), คาร์โบไฮเดรท (19.56-19.86), เถ้า (2.11-2.68) และเยื่อใย (74.88-75.00) ค่าความเป็นกรด ด่าง (4.55-4.61) และปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ (22.81-23.03) ไม่แตกต่างกันทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95 เมื่อนำกล้วยทั้ง 3 ชนิด มาทดลองทำกล้วยกวน พบว่า กล้วยกวนที่ทำจากกล้วยน้ำว้าไส้เหลืองได้คะแนนความชอบทางด้านสี เนื้อสัมผัสและความชอบโดยรวมเฉลี่ยสูงสุด (สุพร ชุ่มจิตต์, 2544) แสดงให้เห็นว่า ในการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคกล้วยกวนของผู้บริโภคนั้น ส่วนใหญ่ผู้บริโภคชอบ  กล้วยกวนที่ทำมาจากกล้วยน้ำว้าไส้เหลืองมากที่สุด เนื่องจากสีสวย รสชาติหวานพอดี ส่วนกล้วยน้ำว้าไส้ขาว  ที่ทำกล้วยกวนจะมีรสชาติที่หวานที่สุด ซึ่งแตกต่างจากจากกล้วยน้ำว้าไส้แดงมีรสฝาดและมีสีดำเข้มดูไม่น่าทาน ดังนั้นกล้วยน้ำว้าไส้เหลืองจึงเป็นที่นิยมในการทำกล้วยกวนและตอบโจทย์แก่ผู้บริโภคมากที่สุด
         กล้วยกวนลานดอกไม้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี ซึ่งจัดตั้งกลุ่มขึ้น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2543 นางสาวรุ่งนภา ไหววิจิตร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี ได้มีการอบรมกันในจำนวนสมาชิก 25 คน โดยการอบรมขององค์การบริหารส่วนตำบลทั้งตำบล เพื่อคิดค้นทำผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปจนเป็นของขึ้นชื่อของอำเภอลานดอกไม้ ที่ได้รับรางวัลมากมาย ซึ่งกล้วยกวนลานดอกไม้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากกล้วยน้ำว้าเนื่องจากกล้วยน้ำว้ามีต้นทุนต่ำ ปลูกง่าย ทนต่อสภาพอากาศในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากกล้วยไข่ที่มีต้นทุนสูงและปริมาณน้อย จนได้เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ระดับห้าดาว
         จากการสัมภาษณ์ รุ่งนภา ไหววิจิตร (สัมภาษณ์, 14 ตุลาคม 2564) ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี พบว่า รุ่งนภา ไหววิจิตร ได้ทำส้มโอกวนมาก่อน หลังจากนั้นได้นัดอบรมกันในสมาชิก 25 คน กับทางองค์การบริหารส่วนตำบลว่าจะทำผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปเพิ่มเติม จึงได้คิดค้นในการทำผลิตภัณฑ์กล้วยกวนและจัดออกจำหน่ายตามตลาดมอกล้วยไข่ แต่แรกกล้วยกวนนั้นได้ห่อกล้วยกวนด้วยกระดาษแก้วแต่ไม่เป็นจุดที่สนใจของลูกค้า จนได้เห็นแม่ค้าขายสับปะรดที่ห่อสับปะรดรูปแบบคล้ายข้าวต้มมัด จึงได้ฉุดคิดไอเดียในการห่อกล้วยกวนในรูปแบบของข้าวต้มมัด และได้มีการนำผลิตภัณฑ์กล้วยกวนลานดอกไม้บรรจุในชะลอมเป็นทรงช่อ ทำให้เป็นที่จุดสนใจของลูกค้าที่ตลาดมอกล้วยไข่เป็นอย่างมาก จนมีผู้ติดตามและสนใจในการทำกล้วยกวนที่มากขึ้นจนมีสมาชิกที่ทำกล้วยกวนปัจจุบันทั้งหมด 30 คน

ลักษณะและรสชาติของกล้วยกวน
         จากการสัมภาษณ์ รุ่งนภา ไหววิจิตร (สัมภาษณ์, 14 ตุลาคม 2564) ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี มีที่อยู่จัดตั้งที่บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 11 ถนน - ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า กล้วยกวนลานดอกไม้มีรสชาติ หวาน มัน อร่อยถูกสุขลักษณะ มีคุณค่าทางโภชนาการ บ่มโดยธรรมชาติไม่ใช้แก๊สและไม่ใช้วัตถุกันเสีย ลักษณะของกล้วยกวนเป็นชิ้นเล็กสีดำพอดีคำ บรรจุภัณฑ์ห่อด้วยกระดาษแก้วสามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ได้ง่ายสะดุดตา มีการห่อเป็นมัดเหมือนข้าวต้ม โดยใช้ใบตองห่อและมัดรวมเป็นช่อสวยงาม เป็นบรรจุภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม

วัสดุผลิตภัณฑ์
         จากการสัมภาษณ์ รุ่งนภา ไหววิจิตร (สัมภาษณ์, 14 ตุลาคม 2564) ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี ในเรื่องของส่วนผสมที่ผลิตกล้วยกวนลานดอกไม้นั้นไม่มีส่วนผสมที่ใช้วัตถุกันเสีย กล้วยที่นำมาใช้นั้นมาจากสวนที่ปลูกเองทั้งหมด ส่วนผสมในการทำกล้วยกวนลานดอกไม้มี 1.กล้วยน้ำว้าสุก 2.กะทิ  3.น้ำตาลทราย 4.แบะแซ 5.เกลือ และ 6.นมข้นหวาน 
         1. กล้วยน้ำว้าสุก      10    กิโลกรัม
         2. กะทิ                 2     กิโลกรัม
         3. น้ำตาลทราย        500 กรัม
         4. แบะแซ              1    กิโลกรัม
         5. เกลือ                2    ช้อนชา
         6. นมข้นหวาน         1    กระป๋อง
         ส่วนผสมที่ผลิตกล้วยกวนลานดอกไม้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีจะไม่มีส่วนผสมในเรื่องของสารกันเสีย ปราศจากสารพิษ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน
         จากการสัมภาษณ์ รุ่งนภา ไหววิจิตร (การสัมภาษณ์, 14 ตุลาคม 2564) ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีในเรื่องของกระบวนการผลิตกล้วยกวนลานดอกไม้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนได้ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ถูกสุขอนามัย ไม่ใส่สารกันเสีย มีพนักงานสวมเครื่องแต่งกายและถุงมือก่อนเริ่มการผลิตกล้วยกวน ขั้นตอนการทำกล้วยกวนของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีมีดังนี้
         1. นำกล้วยน้ำว้าที่สุกแล้วไปบดให้ละเอียด
         2. นำกล้วยที่บดละเอียดแล้วไปกวนกับกะทิจนสุก
         3. เมื่อกวนกล้วยจนสุกแล้วจึงใส่ น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย แบะแซและเกลือแล้วกวนต่อไปเรื่อยจนเหนียวและกะทิแตกมัน (จะสังเกตได้จากกระทะจะเลื่อมกล้วยเริ่มจะไม่ติดกระทะ)
         4. เมื่อกวนจนเหนียวแล้วและกะทิแตกมันแล้วจึงใส่นมข้นหวานเป็นลำดับสุดท้ายและกวนต่อไปเรื่อย ๆ โดยใช้ไฟอ่อน ๆ โดยกวนต่อไปประมาณ 8 ชั่วโมงจึงใช้ได้
         5. เมื่อกวนเสร็จแล้วจึงตักออกใส่ถุงประมาณ 3 กิโลครึ่ง ใส่แบบรีดให้เรียบเป็นแผ่น พักทิ้งไว้ให้เย็น 1 คืน
         6. ตัดเป็นชิ้นเล็กตามขนาดที่ต้องการแล้วนำไปห่อด้วยกระดาษแก้วหรือใบตองแห้งแล้วจึงบรรจุใส่ถุงหรือกล่อง
         แสดงให้เห็นว่ากระบวนการผลิตกล้วยกวนลานดอกไม้ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย ถูกสุขอนามัย พนักงานสวมเครื่องแต่งกายและถุงมือก่อนเริ่มปฏิบัติงาน ซึ่งได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด และมีใบรับรองยืนยัน

รางวัลและเกียรติบัตรที่ได้รับ
         จากการสัมภาษณ์ รุ่งนภา ไหววิจิตร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี ได้ทำกล้วยกวนลานดอกไม้จนประสบความสำเร็จ มีการประกวดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีดีเด่นในระดับภาคและระดับเขตลำดับที่ 1 เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ระดับห้าดาวมา 4 ปีซ้อน และได้ลำดับที่ 4 ในรอบประเทศ รางวัลและเกียรติบัตรที่ได้รับของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีมี 28 รายการดังนี้
         1. ได้รับประกาศนียบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้รางวัลชนะเลิศ การประกวดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ระดับจังหวัด ประจำปี 2546
         2. ได้รับการคัดสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสามดาว ประจำปี 2547 (กล้วยกวน)
         3. ได้รับเกียรติบัตรแห่งภูมิปัญญาเกษตรไทย เพื่อแสดงว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนเป็นผู้อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านแปรรูป ดีเด่น รางวัลที่ 2 จังหวัดกำแพงเพชร (22 ก.ย. 2547)
         4. ได้รับประกาศนียบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนได้รับรางวัลที่ 1 การประกวดแข่งขันการห่อกล้วยไข่กวน (14 ต.ค. 2547)
         5. ได้รับใบอนุญาตการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรชุมชนแปรรูป (กล้วยกวน เลขที่รหัส กษ 04389900-0004-052) (16 ก.พ. 2548)
         6. ได้รับใบอนุญาตการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรชุมชนแปรรูป (ส้มโอทิพย์ชากังราว เลขที่รหัส กษ 04389900-0004-782) (16 ก.พ. 2548)
         7. ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน (รหัสทะเบียน 6-62-01-07/1-002) (18 พ.ย. 2548)
         8. ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสามดาว ประจำปี 2549 (กล้วยกวน)
         9. ได้รับโล่เกียรติบัตร รางวัลที่ 1 ในการประกวดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2549
         10. ได้รับวุฒิบัตร เพื่อแสดงว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้เข้ารับการอบรมตามโครงการอบรมการจัดทำบัญชีวิเคราะห์ต้นทุน และแผนธุรกิจ ภายใต้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP ปี 2549 (11 ตุลาคม 2549)
         11. ได้รับประกาศนียบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้รับการรับรองว่ากล้วยกวน และส้มโอทิพย์ชากังราว มีคุณภาพได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์สินค้ามาตรฐานสหกรณ์ (10 เม.ย. 2551)
         12. ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสองดาว ประจำปี พ.ศ.2552 (กล้วยกวน) (23 ธันวาคม 2551)
         13. ได้รับประกาศนียบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้รางวัลที่ 1 ในการประกวดกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น ประจำปี 2552 (14 กันยายน 2552)
         14. ได้รับเกียรติบัตรเพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้รางวัลชนะเลิศ การประกวดการจัดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง” และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร ประจำปี 2553 (8 มีนาคม 2553)
         15. ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับห้าดาว ประจำปี 2553 (กล้วยกวน) (16 กันยายน 2553)
         16. ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับห้าดาว ประเภทอาหาร (กล้วยกวน) (1 มีนาคม 2556)
         17. ได้รับเกียรติบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้รางวัลชนะเลิศ การประกวดบูธจำหน่ายสินค้า OTOP ในงานประเพณี “สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” ประจำปี 2556 (10 ตุลาคม 2556)
         18. ได้รับประกาศนียบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้รางวัลที่ 1 การประกวดกล้วยไข่รังนก ในงานประเพณี “สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” ประจำปี 2557 (25 กันยายน 2557)
         19. ได้รับอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.35/2546) (4 ธันวาคม 2557)
         20. ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับห้าดาว ประจำปี 2559 (กล้วยกวน) (15 กรกฎาคม 2559)
         21. ได้รับประกาศนียบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้รางวัลที่ 1 การประกวดแข่งขันการทำกล้วยไข่ชุบช็อกโกแลต ในงานประเพณี “สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” ประจำปี 2559 (4 ตุลาคม 2559)
         22. ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสี่ดาว ประเภทอาหาร (มะม่วงกวน) (25 ตุลาคม 2559)
         23. ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ ระดับสี่ดาว ประเภทอาหาร (ประเภทอาหาร) (25 ตุลาคม 2559)
         24. ได้รับเกียรติบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ได้ร่วมกิจกรรมและสนับสนุนทุนการศึกษาเนื่องในวันเด็กแห่งชาติปีงบประมาณ 2560 (14 มกราคม 2560)
         25. ได้รับประกาศนียบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจน ไดรางวัลที่ 1 การประกวดแข่งขันการทำกล้วยไข่ฉาบสอดไส้ ในงานประเพณี “สารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” ประจำปี 2560 (25 กันยายน 2560)
         26. ได้รับเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ OTOP กรมการพัฒนาชุมชน “Premium” รหัสเครื่องหมาย S/62/0012 (26 กันยายน 2560)
         27. ได้รับเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ OTOP กรมการพัฒนาชุมชน “Standard” รหัสเครื่องหมาย S/62/0100 (26 กันยายน 2560)
         28. ได้รับเกียรติบัตร เพื่อแสดงว่ากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคี ได้เข้าร่วมในกิจกรรม “ตลาดนัดการศึกษาและอาชีพ” ปีการศึกษา 2560 (3 ธันวาคม 2560)
         29. ได้รับอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.35/2558) (28 มีนาคม 2561)
         แสดงให้เห็นว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีได้รับรางวัลทั้งหมด 28 รางวัล โดยรางวัลที่ได้รับนั้นมีทั้งโล่รางวัล เกียรติบัตร และใบอนุญาตทะเบียนเครื่องหมายรองรับมาตรฐานการผลิตสินค้า ซึ่งสามารถการันตีได้ว่าผลิตภัณฑ์กล้วยกวนลานดอกไม้นั้นได้มาตรฐาน มีเครื่องหมายสินค้ารองรับ และรางวัลที่เชื่อถือได้

บทสรุป
         จากการศึกษาเรื่อง กล้วยกวนลานดอกไม้มีวัตถุประสงค์ 1) ประวัติความเป็นมาของกล้วย พบว่า กล้วยเป็นผลไม้ที่มีคนนิยมปลูกและบริโภค โดยมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย มีการขยายแพร่พันธุ์กล้วยตามทวีปต่าง ๆ โดยเฉพาะทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่ได้รับความนิยมในการปลูกกล้วยเพื่อนำมาบริโภคและประกอบอาหาร กล้วยที่ใช้ส่วนใหญ่จะใช้กล้วยน้ำว้าเนื่องจากกล้วยน้ำว้าสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งผล ลำต้น ใบ กล้วยน้ำว้าจะแบ่งได้ออกเป็น 3 ชนิดได้แก่ กล้วยน้ำว้าไส้ขาว กล้วยน้ำว้าไส้เหลืองและกล้วยน้ำว้าไส้แดง กล้วยที่สามารถประกอบอาหารและแปรรูปได้ดีที่สุดคือกล้วยน้ำว้าไส้เหลือง เพราะมีรสชาติหวาน กลิ่นหอม จึงได้รับความนิยมนำมาประกอบอาหาร ในจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอเมือง มีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีได้นำกล้วยน้ำว้าไส้เหลืองมาแปรรูปเป็นกล้วยกวนลานดอกไม้ โดยมีแกนนำ นางสาวรุ่งนภา ไหววิจิตร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีเป็นคนริเริ่มทำกล้วยกวนลานดอกไม้เพื่อรักษาคงสภาพของกล้วยไม่ให้เกิดการเน่าเสีย เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ของจังหวัดกำแพงเพชร วัตถุประสงค์ 2) ลักษณะและรสชาติของกล้วยกวน พบว่า กล้วยกวนลานดอกไม้มีลักษณะเป็นช่อคล้ายข้าวต้มมัด บรรจุภัณฑ์ใช้ใบตอง ชิ้นเล็กพอดีคำ เหมาะนำมาเป็นของฝากหรือนำมาบริโภค กล้วยกวนลานดอกไม้มีรสชาติที่หวานมัน มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย บ่มโดยใช้แก๊สธรรมชาติ วัตถุประสงค์ 3) วัสดุผลิตภัณฑ์ พบว่า วัสดุในการผลิตกล้วยกวนลานดอกไม้ไม่ใช้วัตถุดิบที่มีส่วนผสมสารกันเสียลงไป สามารถบริโภคได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ วัตถุประสงค์ 4) กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน พบว่า มีการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย สะอาด ถูกหลักอนามัย มีพนักงานสวมใส่ชุดและถุงมือทุกครั้งในการทำงาน วัตถุประสงค์ 5) รางวัลและเกียรติบัตรที่ได้รับ พบว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเกาะน้ำโจนสามัคคีทำกล้วยกวนลานดอกไม้จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลด้านเกษตรกรดีเด่นลำดับที่ 1 ของระดับภาคและเขต รางวัลผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ระดับห้าดาว

คำสำคัญ : กล้วยกวน

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=กล้วยกวนลานดอกไม้

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). กล้วยกวนลานดอกไม้. สืบค้น 29 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2085&code_db=610008&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2085&code_db=610008&code_type=01

Google search

Mic

แกงก้านคูน

แกงก้านคูน

แกงก้านคูน หรือแกงคูน เป็นอาหารพื้นบ้าน ที่คนในชุมชนรู้จักกันเป็นอย่างดี วัสดุที่ใช้และเครื่องปรุงส่วนใหญ่ เป็นของที่หาได้ง่าย ราคาถูก ในชุมชน ส่วนผสมสำคัญประกอบด้วย คูนก้านอ่อน เนื้อปลาช่อนสด หรือปลาช่อนย่าง หรือกุ้งฝอย มะเขือเทศลูกเล็ก มะนาว ใบแมงลัก เริ่มจากการแกะเปลือกก้านคูนออก หั่นเป็นท่อน คลุกกับเกลือและน้ำ แล้วจึงบีบน้ำออกเพื่อให้ก้านคูนนิ่ม โขลกเครื่องแกงรวมกันจนละเอียด ต้มน้ำสะอาดจนเดือด ละลายเครื่องแกงลงในน้ำเดือด ใส่ก้านคูนที่เตรียมไว้ลงในหม้อ หลังจากนั้น จึงใส่น้ำมะนาว มะเขือเทศ พอน้ำเดือดใส่เนื้อปลาช่อน พอปลาสุก ใส่ใบแมงลัก คนจนเข้ากัน ปิดไฟ เป็นอันเสร็จ

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้เช้าชม 1,980

เมี่ยงโบราณ/เมี่ยงชากังราว

เมี่ยงโบราณ/เมี่ยงชากังราว

เมี่ยงโบราณ เป็นของว่างของคนนครชุมในอดีต มี 2 รสคือ เมี่ยงหวาน และเมี่ยงเปรี้ยว เครื่องปรุงประกอบด้วย มะพร้าวหั่นเป็นชิ้นๆ ตามแนวยาว ถั่วลิสง น้ำตาล กระเทียมปอกเปลือก ใบเมี่ยง วิธีทำเริ่มจากการตั้งกระทะให้ร้อน นำมะพร้าวที่หั่นแล้ว ถั่วลิสง น้ำตาล กระเทียม ใส่ลงในกระทะ ผัดจนเข้ากัน ใบเมี่ยงที่หมักครบกำหนดแล้ว จะมีรสเปรี้ยวอมฝาด และอมหวาน สามารถเก็บไว้ได้นานปี เมี่ยงเป็นอาหารว่างที่คนเมืองนิยมรับประทานใช้รับแขกบ้านแขกเมือง โดยจะนำใบเมี่ยงที่ผ่านการหมักแล้ว ดึงเส้นใบออก เอามาห่อเกลือ น้ำตาล มะพร้าวคั่ว ขิง เป็นเมี่ยงส้ม (เปรี้ยว) หรือเมี่ยงหวานตามชอบ เรียกว่าเมี่ยงอม หรือเอาใบเมี่ยงมาห่อเกลือ จะทำให้รสชาติอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง การรับประทานเมี่ยงจะใช้การอม หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้เช้าชม 3,377

กระยาสารทกล้วยไข่จากรากเหง้าสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน

กระยาสารทกล้วยไข่จากรากเหง้าสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน

กระยาสารท ขนมไทยโบราณที่มีมาแต่ครั้นสมัยสุโขทัย เช่นเดียวกับข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ที่คนไทยมักจะนิยมทำขึ้นในเทศกาลสารทไทย เพื่อถวายเป็นอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ กระยาสารทจึงกลายเป็นเครื่องบ่งชี้หรือแสดงออกถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม ความเชื่อที่คนไทยมีต่อพระพุทธศาสนา ในปัจจุบันกระยาสารทกลายเป็นขนมไทยหายาก เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยาก รวมกับความร้อนที่เกิดจากท่อนฟืน ทำให้คนในปัจจุบันหันมาซื้อรับประทานแทนที่จะทำกินเองภายในครอบครัว ดังเช่นครั้งในอดีต

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2022 ผู้เช้าชม 785

กล้วยกวนตองแก้ว

กล้วยกวนตองแก้ว

กล้วยน้ำว้าของเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกกล้วย โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้ามีจำนวนมากมายสามารถที่จะให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ด้วยเหตุนี้เอง ก่อให้เกิดแนวคิดสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำว้าแปรรูปเพื่อนำออกขาย เช่น กล้วยอบ กล้วยอบกรอบ กล้วยม้วนนิ่ม นอกเหนือจากขายกล้วยสด หรือกล้วยตากเท่านั้นหนึ่งในสินค้า กล้วยน้ำว้า แปรรูปที่ว่านั้นก็ได้แก่กล้วยกวน ซึ่งกรรมวิธีค่อนข้างจะง่าย แต่ก็ต้องใช้เวลาและพละกำลังกันพอสมควร กล่าวคือเมื่อได้เนื้อกล้วยที่จำเป็นจะต้องสุกงอม เพื่อความสะดวกในการกวนแล้ว จะต้องนำมาบดอัดก่อนใส่กระทะกวนด้วยไฟร้อนๆ

เผยแพร่เมื่อ 26-02-2017 ผู้เช้าชม 3,963

ขนมถั่วแปบ

ขนมถั่วแปบ

ขนมถั่วแปบ เป็นขนมไทยชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวห่อไส้ที่เป็นถั่วเหลืองมะพร้าวขูด แล้วนำไปนึ่ง ขนมที่มีลักษณะใกล้เคียงกับขนมถั่วแปบคือขนมเขียว มีไส้เป็นแบบเดียวกัน

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2017 ผู้เช้าชม 5,481

กล้วยปิ้งราดน้ำกะทิมะพร้าวอ่อน

กล้วยปิ้งราดน้ำกะทิมะพร้าวอ่อน

วันนี้จะมาชวนเพื่อนๆ ทำของกินอร่อยๆ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญสามารถนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้ได้ด้วยนะครับ เมนูที่จะมาแนะนำวันนี้ได้แก่ “กล้วยปิ้งราดน้ำกะทิ​มะพร้าวอ่อน” นั่นเองจ้า กล้วยปิ้งหรือจะเรียกว่ากล้วยทับก็ได้ เป็นเมนูขนมไทยที่คุ้นปากมาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าทานเปล่าๆ คงไม่ฟินเท่าไร่นัก หลังๆ มาจึงมีการจับมาราดด้วยน้ำจิ้มหวานๆ หอมๆ ทานเพลินกว่าเดิมหลายเท่านัก ว่าแล้วเราก็ไปเตรียมอุปกรณ์และวัตถุดิบให้พร้อม แล้วเราลงมือทำกันเลยครับ

เผยแพร่เมื่อ 20-01-2020 ผู้เช้าชม 4,086

ขนมฝักบัว

ขนมฝักบัว

ขนมฝักบัว ขนมพื้นบ้านนครชุม หลากหลายวัฒนธรรม สืบทอดผ่านวิถีแห่งการกิน โดยการนำส่วนผสมทั้ง 5 อย่างรวมกันแล้วนวดแป้งให้เข้ากันเติมน้ำให้แป้งละลาย พอได้ที่ นำกระทะตั้งไฟใส่น้ำมัน พอร้อนนำแป้งที่เตรียมไว้หยอดลงในกระทะแล้วใช้ช้อนตักน้ำมันลาดตรงแป้งที่กำลังทอด แป้งก็จะฟูตรงกลาง ทำให้เหมือน ฝักบัว (แต่จะทอดได้ครั้งละ 1 ชิ้น เท่านั้น )

 

เผยแพร่เมื่อ 02-04-2019 ผู้เช้าชม 1,537

กระยาสารทมอกล้วยไข่กำแพงเพชร

กระยาสารทมอกล้วยไข่กำแพงเพชร

กระยาสารท เป็นขนมที่พบได้โดยทั่วไป ถือเป็นภูมิปัญญาไทยในการถนอมอาหาร และที่กำแพงเพชรได้มีการกวนกระยาสารทกันมาอย่างยาวนาน ในอดีตมีการกวนกันเกือบทุกบ้าน จะไม่มีจำหน่าย แต่จะแจกกันเมื่อกวนแล้ว ส่วนสำคัญจะนำไปถวายพระเนื่องในวันสำคัญต่างๆ ปัจจุบันนิยมทำกินกันในช่วงเทศกาลสารทไทยระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปีที่กำแพงเพชร กำแพงเพชรเป็นเมืองกล้วยไข่จึงมีกล้วยไข่เป็นเครื่องเคียงที่อร่อยมาก ที่ชุมชนอนันตสิงห์ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชุมชนอนันต์สิงห์ได้รวมตัวกันกวนกระยาสารทเพื่อจัดจำหน่ายวันละหลายกระทะ มีรสชาติอร่อยหวานมัน หาที่เปรียบเทียบได้ยาก และได้มีการสาธิตการกวนกระยาสารทด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง เพราะมีความภูมิใจในอาชีพนี้เป็นอย่างยิ่ง 

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2022 ผู้เช้าชม 2,852

แกงหยวกกล้วย

แกงหยวกกล้วย

หยวกหรือต้นกล้วย ส่วนที่นำมาแกง คือใจกลางต้นที่ยังอ่อนอยู่ นิยมแกงใส่ไก่บ้าน และวุ้นเส้น บ้างแกงใส่ปลาแห้ง มีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงอ่อมเนื้อต่างๆ อีกแบบหนึ่งมีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงผักหวาน สูตรที่แกงแบบเดียวกับแกงอ่อมเนื้อต่างๆ นั้น นิยมใช้เลี้ยงแขกในงานบุญต่างๆ หรืองานอื่นๆ เมื่อทำหม้อใหญ่ ไม่นิยมใส่วุ้นเส้น

เผยแพร่เมื่อ 02-04-2019 ผู้เช้าชม 5,365

ขนมขี้หนู

ขนมขี้หนู

ขนมขี้หนู เป็นขนมไทยโบราณ บ้างเรียกขนมทราย ทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำเชื่อม โรยหน้าด้วยมะพร้าว การรับประทาน ตักใส่ภาชนะ (จานแบน ๆ) โรยด้วยมะพร้าวแก่ขูดฝอยตามชอบ (ไม่ใช่มะพร้าวซึก) ขนมที่ดีจะต้องเป็นเหมือนเม็ดทรายละเอียด ร่วนซุย ไม่จับเป็นก้อน หวานเล็กน้อย หอมชื่นใจเมื่อทาน

เผยแพร่เมื่อ 18-03-2017 ผู้เช้าชม 5,025