หนึ่งพันปีเมืองกำแพงเพชร

หนึ่งพันปีเมืองกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 21-01-2020 ผู้ชม 2,499

[16.4264988, 99.2157188, หนึ่งพันปีเมืองกำแพงเพชร]

          จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณที่สำคัญยิ่ง มาตลอดยุคสมัย และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยมาโดยตลอด อาจนับตั้งแต่ พระร่วงโรจนราช กษัตริย์ต้นราชวงศ์พระร่วง จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ว่ามาจากบ้านโคน เมืองคณฑี จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งชาวบ้านโคนถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึงท้าวแสนปมเป็นพระราชบิดาของ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา..เป็นความเชื่อทั้งสองเรื่องที่คู่กับจังหวัดกำแพงเพชรเล่าขานสืบต่อกันมาช้านาน…ว่าปฐมกษัตริย์ทั้งกรุงสุโขทัย และอยุธยามาจากกำแพงเพชรทั้งสองพระองค์ ….
          จากตำนานสิงหนวติกุมาร ฉบับสอบค้น ของนายมานิต วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงกำแพงเพชรที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หลายตอนอาทิ….พระเจ้าพรหม เป็นวีรบุรุษ เป็นศูนย์กลางของพวกเผ่าพันธุ์ที่อยู่ในตระกูลไทย-ลาว เป็นผู้นำขับไล่พวกขอมดำสำเร็จ ในตำนานสิงหนวติกุมาร บอกว่าพรหมกุมารกำจัดพญาขอมดำและพวกขอมบริวารทั้งหลาย หนีลงไปทางทิศใต้ พรหมกุมารตามพิฆาตเข่นฆ่า จนร้อนถึงพระอินทร์ต้องเนรมิตกำแพงหินกั้นกางขวางหน้าไว้ เพื่อช่วยชีวิตพวกขอมดำมิให้สูญเผ่าพันธุ์ กำแพงขวางกั้นกลายเป็นกำแพงเพชร ในกาลต่อมา พระเจ้าชัยสิริ โอรสพระเจ้าพรหม หนีพระยาสุธรรมวดี มาเดือนหนึ่งถึงแนวกำแพงที่พระอินทร์เนรมิต จึงประกาศสร้างเมืองกำแพงเพชร ณที่นั้น….
           หลักฐานมาปรากฏชัดเจน เป็นที่ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า พญาลิไท กษัตริย์แห่งสุโขทัยเสด็จมาเมืองนครชุมในปีพ.ศ. 1900 โดยมีหลักฐานจากจารึกนครชุม (จารึกหลักที่ 3) ว่า พระยาลือไทยราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัย …..จึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชิราช หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี้ปีนั้น พระมหาธาตุอันนี้ใช่ธาตุอันสามานย์คือพระธาตุแท้จริงแล เอาลุกแก่ลังกาทวีปพู้นมาดาย เอาทั้งพืชพระศรีมหาโพธิ์ อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นและผจญพลขุนมาราธิราช ได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธมาปลูกเบื้องหลังมหาธาตุนี้ ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าว่าไซร้มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล…….
           ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระมหากษัตริย์ในยุคนั้นได้เสด็จมากำแพงเพชรหลายครั้งดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร
            ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2088 สมเด็จพระชัยราชาธิราช ยกกองทัพไปเชียงใหม่ ประทับพักทัพหลวง ณ เมืองกำแพงเพชร ถึงหนึ่งเดือน ตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปทัพเชียงใหม่ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้าและยกพลตั้งทัพชัยตำบลบางพาน (เมืองเก่าในอำเภอพรานกระต่าย) ทัพหลวงประทับแรมที่เมืองกำแพงเพชร 1 เดือน
            ครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ. 2102 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จมาคล้องช้าง ณ เมืองแสนตอ ซึ่งขึ้นกับเมืองกำแพงเพชร ได้ช้าง 40 เชือก
            ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีรบกับพระเจ้ากรุงอังวะจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบันทึกไว้ว่า ศักราช ๙๔๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๒๗) ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า เสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลก รู้ข่าวมาว่าพระเจ้าหงสากับพระเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้นเสด็จไปช่วยการเศิกพระเจ้าหงสาและอยู่ในวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๕ ช้างต้นพลายสวัสดิมงคลและช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน และงาช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ยข้างซ้าย และโหรทำนายว่าห้ามยาตรา และมีพระราชโองการตรัสว่าได้ตกแต่งการนั้นสรรพแล้ว จึงเสด็จพยุหยาตราไป ครั้งเถิง ณ วันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จออกตั้งทัพชัยตำบลวัดยม ท้ายเมืองกำแพงเพชรในวันนั้นแผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองแครง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนครศรีอยุธยา ฝ่ายเมืองพิษณุโลกนั้นอยู่ในวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐
           ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จเมืองกำแพงเพชร และประทับที่เมืองกำแพงเพชร 15 วัน
          ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2310 พระยาวชิรปราการ (พระเจ้ากรุงธนบุรี) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่มิทันได้มาครองเมือง ไปช่วยราชการที่กรุงศรีอยุธยาก่อน
          ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ ยกกองทัพผ่านเมืองกำแพงเพชร
          ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2318 พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งเป็นพระยาจักรี ยกกองทัพมาตั้งที่เมืองกำแพงเพชร เกิดตำนานสมเด็จพุฒาจารย์(โต)
          ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิศริยยศที่พระบรมโอรสาธิราช เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน ในระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2448 ประทับแรมที่พลับพลา หน้าวัดชีนางเกา 2 ราตรี
          ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร
ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม ถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2449 ทรงนำความเจริญและความสงบสุขมาสู่เมืองกำแพงเพชรอย่างมากมาย ทรงถ่ายภาพเมืองกำแพงเพชร ไว้จำนวนมาก และบันทึกการเดินทางประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรไว้อย่างละเอียด
          ครั้งที่ 10 พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิศริยยศที่พระบรมโอรสาธิราช เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน ในวันที่ 15 มกราคม 2450 ประทับแรมที่พลับพลา หน้าวัดชีนางเกา 1 ราตรี พระบรมโอรสามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเมืองกำแพงเพชรสองคราว มีการจารึกเล่าเรื่องราวการเสด็จประพาสไว้ในศิลาแผ่นหนึ่ง ความว่า… ศุภมัสดุพระพุทธศาสนายุกาลได้ 2448 พรรษา จุลศักราช 1267 ศกมะเส็ง รัตนโกสินทรศก 124 เป็นปีที่ 38 ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพ มาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้ วันอังคารเดือนยี่ แรม7ค่ำ สุริยคติกาลกำหนด วันที่ 16 มกราคม เสด็จประพาสทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่งเป็นครั้งแรก ประทับแรมอยู่สองราตรี ตั้งพลับพลานอกกำแพงเมืองกำแพงเพชร ที่วัดชีนางเการิมน้ำปิงฝั่งเหนือ ครั้นลุพระศาสนายุกาลได้ 2450 พรรษาจุลศักราช 1269 ศกมะแม รัตนโกสินทรศก 126 เป็นปีที่ 40 ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาพระองค์นั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้ วันพุธเดือนยี่ขึ้น 13 ค่ำ สุริยคติกาลกำหนด วันที่ 15 มกราคม ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตร โบราณสถานซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 ประทับแรมอยู่ 3 ราตรี ที่พลับพลาเดิม
           ทั้งหมดคือในอดีตที่พระมหากษัตริย์เสด็จเมืองกำแพงเพชร ประวัติศาสตร์และพระราชพงศาวดารได้บันทึกเรื่องราวไว้
แม้ในกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยทั้งชาติ เสด็จไปเยี่ยมพสกนิกร ทั่วทั้งประเทศไม่มีสถานที่ใดในประเทศไทยที่พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จไปเยี่ยม นำความผาสุกร่มเย็นมาสู่คนไทยทั้งชาติทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ล้ำเลิศด้วยทศพิธราชธรรม เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ มีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยประชาราษฏรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าท้องถิ่นนั้นจะทุรกันดารเพียงใด เสด็จไปทุกหนแห่ง ทำให้เกิดโครงการพระราชดำรินับร้อยนับพันโครงการ ซึ่งไม่มีพระมหากษัตริย์ใดในโลกเสมอเหมือน
           ตลอดระยะเวลา หกสิบปีที่เถลิงถวัลยราชสมบัติ ระยะแปดสิบปีที่ปกครองดูแลพระบารมีแผ่ไพศาลทรง ทรงมีพระราชอุตสาหะอันแรงกล้าที่จะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งราษฎรของพระองค์ที่อยู่ใต้ร่มฟ้าพระบารมีทั้งทางตรงและทางอ้อม พระบารมีที่ปกเกล้าปกกระหม่อมประจักษ์จิตชัดเจนทุกก้าวย่างจารจารึกในจิตใจประชนของพระองค์ไม่รู้ลืม
           โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดกำแพงเพชรของเรา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาเยือนถึงสามครั้ง แต่ละครั้งนำความปลื้มปิติ และสิ่งที่ดีมีมงคลมามอบให้ชาวกำแพงเพชรเสมอ ทุกรอยละอองธุลีพระบาทที่ทรงยาตรย่ำลง ณ สถานที่ใด ชาวกำแพงเพชรยังจดจำอยู่มิรู้คลาย ภาพต่างๆ ได้ประทับในดวงจิตชาวประชากำแพงเพชรมิลืมเลือน
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดกำแพงเพชรครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ . 2510 ถึงกำแพงเพชรเวลา 10.30 น. เพื่อบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อพ.ศ. 2126 ทรงกรีธาทัพผ่านเมืองกำแพงเพชร ประทับที่วัดยมท้ายเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันคือวัดกะโลทัย วันรุ่งขึ้นพักทัพชัยที่ตำบลหนองปลิงสามเพลา)วันที่ 25 มกราคม ด้วยเหตุผลที่ว่า วันนี้เมื่อ พ.ศ.2135 ตรงกับวันจันทร์ แรม 1 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 954 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำการยุทธหัตถี มีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่ แสดงออกถึงพระปรีชาสามารถ ความกล้าหาญเด็ดขาด และการเป็นผู้นำทัพที่อัจฉริยะ จนเป็นที่ยำเกรงแก่หมู่ปัจจามิตร เป็นผลให้ประเทศไทยคงคืนความเป็นเอกราชสืบมาจนทุกวันนี้(วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมตามหลักการเดิม
           นายร้อยตำรวจโทปิ่น สหัสโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เข้าเฝ้าถวายบังคมทูลอัญเชิญล้นเกล้าทั้งสองพระองค์เสด็จกระทำบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวร และเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ บรรดาราษฎรพากันตั้งโต๊ะหมู่บูชาสองข้างทาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงรับศีลก่อนทำพิธีบวงสรวง เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ จึงทรงบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวร แล้วเสด็จทอดพระเนตรผังเมืองเก่าและโบราณวัตถุที่กรมศิลปากรจัดให้ทอดพระเนตร จากนั้นเสด็จมายังศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. จึงเสด็จออกมาปลูกต้นสัก ณ บริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นด้านขวา และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงปลูกต้นด้านซ้าย ของศาลากลาง แล้วจึงเสด็จเยี่ยมราษฎรของพระองค์ เสด็จกลับด้วยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เพื่อเสด็จสู่จังหวัดพิษณุโลกและประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จนิวัติพระนคร
            ปัจจุบันต้นสักที่ทรงปลูก จังหวัดกำแพงเพชร ได้นำภาพถ่ายที่ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกมาขยายใหญ่ มาตั้งไว้ ณ ที่ นั้น นับว่าเป็นการทำที่ถูกต้องเหมาะสมยิ่ง และการได้ขยายพันธุ์สักพระราชทาน ไปปลูกทั่วทั้งจังหวัดกำแพงเพชร แสดงถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกล สมควรได้รับการยกย่อง
            ครั้งที่สอง ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ ณ วัดคูยาง อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ขณะนั้นพระวิเชียรธรรมคณี (ทองพาน) เป็นเจ้าอาวาส
            ทรงถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างพระอุโบสถซึ่งกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นเงินหก
หมื่นบาท ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. มาประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถด้านหน้า และพระนามาภิไธยย่อ ส. ก.มาประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถด้านหลัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมพ.ศ. 2523 และพระราชทานนามพระพุทธรูปประธาน ซึ่งหล่อแบบศิลปะสุโขทัย หมวดกำแพงเพชร ขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 9 นิ้ว ว่าพระพุทธวชิรปราการ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 มีราษฎรมาเข้าเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก ทั้งสามพระองค์ ทรงเกษมสำราญพระราชหฤทัย ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรอย่างใกล้ชิดนำความสุขมาสู่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า พระองค์ เสด็จนิวัติพระนครในวันเดียวกัน
            เหตุผลสำคัญที่สร้างอุโบสถใหม่เพราะอุโบสถหลังเก่ากว้าง 8เมตร ยาว 22 เมตร สภาพทั่วไปชำรุดทรุดโทรมมาก จนมิอาจที่จะบูรณะให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ ในราวพ.ศ. 2517 ทางวัดคูยางมีมติให้รื้อหลังเก่าเพื่อสร้างหลังใหม่ ระยะแรกมิได้ตอกเสาเข็มรวมทั้งทางวัดต้องการขยายอุโบสถหลังใหม่ให้มีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 32 เมตรจึงได้แก้ไขใหม่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2521 เป็นต้นมา โดยมีพระวิเชียรธรรมคณี (ทองพาน) เจ้าอาวาสวัดคูยางเป็นประธาน โดยได้ใช้ปัจจัยจำนวน 60,000 บาท ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงถวายไว้ในคราวถวายผ้าพระกฐินต้น ที่วัดคูยาง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2515 เป็นทุนเริ่มต้น โดยทางวัดคูยาง ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ผู้บริจาคทรัพย์สมทบโดยใช้คำว่าโดยเสด็จพระราชกุศล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอนุโมทนา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2524
            ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน ของอำเภอต่างๆในจังหวัดกำแพงเพชรจำนวน 117 รุ่น ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านแล้วทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท ต่อลูกเสือชาวบ้านและพสกนิกรที่มารับเสด็จ เมื่อเสร็จสิ้น
             พิธีการทรงเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมเยียนราษฎรที่เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ในบริเวณนั้น จำนวนมากมาย ในขณะนั้น ประชาชน บ้านกิโลสอง บ้านกิโลสาม และบ้านกิโลหก และชาวบ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร ได้กราบทูลขอพระราชทาน ให้ทรงช่วยเหลือจัดหาน้ำให้เพื่อใช้ในการเพาะปลูกและในการอุปโภคและบริโภคได้ตลอดปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการพระราชดำริเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2521 ซึ่งในปัจจุบันประชาชน ทั้งหมดมีคลองชลประทาน ไปถึงหน้าบ้านและเรือกสวนไร่นาของประชาชน ทุกหนแห่ง สร้างความชื่นชมของชาวบ้านที่มีต่อพระองค์อย่างมิรู้คลาย
             การเสด็จกำแพงเพชรทั้งสามครั้งแม้เป็นเหตุการณ์ที่ ผ่านไปนานแสนนานแล้วก็ตาม แต่ประชาชนชาวกำแพงเพชร ทุกคนที่ได้ชมพระบารมี เมื่อไปสัมภาษณ์แต่ละท่าน ทุกท่านยังประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างไม่ลืมเลือน เพราะชาวกำแพงเพชร จะอยู่ใต้ร่มฟ้ามหาบารมี ของพระองค์ตลอดตราบนิจนิรันดร์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ทุกรอยพระ ยุคลบาท ประกาศก้อง กำแพงเพชร ทั้งผอง ร่วมสรรเสริญ
ทรงปลูกสุข ดับทุกข์ ไทยจำเริญ ทอดพระเนตร บาทดำเนิน ทั่วแผ่นดิน
พระการุณ ทั้งสามครา มาปรากฏ กำแพงเพชร เลอยศ ทั่วทุกถิ่น
ดั่งฝนโปรย ดับร้อน ชนยลยิน ทุกชีวิน ใต้ร่มฟ้ามหาบารมี

คำสำคัญ : กำแพงเพชร

ที่มา : สันติ อภัยราช. (2017). หนึ่งพันปีเมืองกำแพงเพชร. https://www.facebook.com/726502237386172/posts/1408496109186778/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). หนึ่งพันปีเมืองกำแพงเพชร. สืบค้น 6 พฤษภาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1283&code_db=610001&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1283&code_db=610001&code_type=01

Google search

Mic

ประวัติบ้านโคน

ประวัติบ้านโคน

ในยุคแรกของบ้านโคนนั้น มีเรื่องราวที่กล่าวถึงชุมชนบ้านโคนในหลักศิลาจารึกสุโขทัยและในตำนาน “ ชินกาลมาลีปกรณ์ “ มีข้อความระบุว่าบ้านโคน ยังมีชายหนุ่มรูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่งเห็นชายคนนั้นแล้วใคร่อยากร่วมสังวาสด้วย จึงแสดงมารยาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับเทพธิดาองค์นั้น จึงเกิดบุตรชาย และบุตรชายคนนั้นก็มีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้นชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายนั้น…. ครองราชสมบัติในเมืองสุโขทัย ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า “ โรจราจ “ บ้านโคนเป็นชุมชนที่เก่าแก่มากในทางประวัติศาสตร์เกิดมานานกว่า 700 ปีมาแล้ว สภาพทางภูมิศาสตร์มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำปิงไหลผ่านเหมาะต่อการทำมาหากิน ชุมชนบ้านโคนเดิมตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก 

เผยแพร่เมื่อ 03-04-2019 ผู้เช้าชม 2,276

เมืองไตรตรึงษ์ตามตำนานสิงหนวัติกุมาร

เมืองไตรตรึงษ์ตามตำนานสิงหนวัติกุมาร

มีเนื้อความในต้านานสิงหนวัติกุมารเล่าว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีโอรสของพระเจ้าพีล่อโก๊ะองค์หนึ่ง ชื่อพระเจ้าสิงหนวัติ ได้มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางใต้ ชื่อเมืองโยนกนาคนคร เมืองดังกล่าวนี้อยู่ในเขตละว้า หรือในแคว้นโยนก เมื่อประมาณปี พ.ศ.1111 เป็นเมืองที่สง่างามของย่านนั้น ในเวลาต่อมาก็ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ที่อ่อนน้อมให้มาเป็นเมืองขึ้นแล้วตั้งชื่อเป็นแคว้นชื่อว่าโยนกเชียงแสน มีอาณาเขตทางทิศเหนือตลอดสิบสองปันนา ทางใต้จดแคว้นหริภุญชัย มีกษัตริย์สืบเชื้อสาย ต่อเนื่องกันมา จนถึงสมัยพระเจ้าพังคราชจึงได้ เสียเมืองให้แก่ขอมดำ 

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 3,625

เมืองไตรตรึงษ์สมัยพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น

เมืองไตรตรึงษ์สมัยพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพรจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือพระพุทธเจ้าหลวงของปวงชนชาวไทย ได้เสด็จประพาสต้นหัวเมืองทางเหนือโดยมีจุดปลายปลายทางอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ในการเสด็จประพาสต้นในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ  ที่ได้ทอดพระเนตรและทรงให้บันทึกเรื่องราวเอาไว้เป็นบทพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้น ซึ่งมีเนื้อเรื่องบางตอนเกี่ยวข้องกับเมืองไตรตรึงษ์ ดังข้อความดังนี้

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 1,169

ย้อนรอย “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตอนที่ 1

ย้อนรอย “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตอนที่ 1

ย้อนหลังไปเมือง พ.ศ. 2450 หรือ 107 ปี ที่ผ่านมา ชาวกำแพงเพชรได้มีโอกาสต้อนรับการเสด็จมาของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองพระร่วงคือเมืองกำแพงเพชร สุโขทัยและศรีสัชนาลัย และได้เสด็จขึ้นมาตรวจตราโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศึกษาข้อมูลตามตำนานในท้องถิ่น แล้วทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้เป็นหนังสือเรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นหนังสือนำเที่ยวเมืองไทยเล่มแรกที่มีคณุค่ายิ่งนัก และถือเป็นหนังสือดีอีกเล่มหนึ่งที่ชาวกำแพงเพชรควรต้องอ่าน ด้วยความสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎุเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเสด็จเที่ยวเมืองกำแพงเพชรและทรงบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญเอาไว้อย่างละเอียดเป็นบทพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง”

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2020 ผู้เช้าชม 4,504

พระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดกำแพงเพชร

พระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดกำแพงเพชร

พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูง ๔๐เซนติเมตร ที่บัวฐานด้านหน้า บรรจุพระพิมพ์ พระสมเด็จจิตรลดา ไว้อีกองค์หนึ่ง พระพิมพ์ส่วนพระองค์นี้ สร้างขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ ทรงสร้างไว้สำหรับ บรรจุไว้ที่ฐานบัวหงาย ด้านหน้าของพระพุทธนวราชบพิตร และเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และบุคคลอื่นไว้สักการะบูชา ผงศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาบรรจุในพระพิมพ์ส่วนพระองค์นั้นประกอบด้วย เส้นพระเจ้า คือเส้นผมพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเจ้าพนักงาน ได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ คือตัดผม ทุกครั้ง ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัย ที่ประชาชนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรง พระมหามณีรัตนปฏิมากร และทรงบูชาไว้ที่พระพุทธปฏิมากร ตลอดเทศกาล จนถึงคราวเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ดอกไม้แห้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้รวบรวมไว้ ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนที่พระมหาเศวษฉัตร และด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีฉัตรมงคล ชันและสีจากเรือใบพระที่นั่ง ขณะที่ทรงตกแต่งซ่อมแซมเรือ

เผยแพร่เมื่อ 16-08-2019 ผู้เช้าชม 2,661

ถนนราชดำเนิน กำแพงเพชร

ถนนราชดำเนิน กำแพงเพชร

เดิมถนนราชดำเนิน เป็นทางล้อเกวียน เส้นทางสัญจรทางบกของชาวกำแพงเพชร ยาวตั้งแต่กำแพงเมือง (หลังไปรษณีย์กำแพงเพชรเก่า) ตรงไปสิ้นสุดยังวัดบาง ผ่านด้านหลังวัดเสด็จ ตัดโดยพระวิเชียรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรท่านใหม่ ที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้มาปฏิรูปเมืองกำแพงเพชร ถนนเส้นนี้ กว้างราว 6 เมตร มีบ้านเรือน ราษฎรปลูกอยู่บ้างแล้ว ตรง กว้าง งดงามมาก พระวิเชียรปราการ ตั้งใจที่จะรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงด้วย  

เผยแพร่เมื่อ 14-03-2019 ผู้เช้าชม 2,289

จำรึกวงเวียนต้นโพธิ์

จำรึกวงเวียนต้นโพธิ์

เมื่อพุทธศักราช 2448 พระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาชวิราวุธ (รัชกาลที่ 6) เสด็จมาประพาสเมืองพระร่วง ได้ศึกษาเมืองเก่ากำแพงเพชรโดยละเอียด บันทึกเรื่องราวให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาให้ทรงทราบ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เห็นว่ายังไม่ถูกต้องนัก จึงนำเสด็จพระบรมโอรสาธิราชมายังเมืองกำแพงเพชร ในเดือนสิงหาคม 2449 ด้วยพระองค์เอง  และในปีพุทธศักราช 2450 พระบรมโอรสาธิราช เสด็จมาศึกษากำแพงเพชรโดยละเอียดอีกครั้ง ในครั้งนี้ทรงปลูกต้นสักไว้หน้าที่ว่าการเมืองกำแพงเพชร (ตรงข้ามธนาคารออมสินสาขากำแพงเพชร) และจารึกความสำคัญการเสด็จประพาสกำแพงเพชรไว้ในใบเสมา ได้ประดิษฐานจารึกไว้บริเวณใต้ต้นโพธิ์ หน้าเมืองกำแพงเพชร 

เผยแพร่เมื่อ 24-02-2020 ผู้เช้าชม 1,749

เมืองไตรตรึงษ์สมัยอยุธยา

เมืองไตรตรึงษ์สมัยอยุธยา

เอกสารจากพงศาวดารฉบับปลีก ซึ่งนายไมเคิล ริคคารี่ ได้นำลงในหนังสือสยามสมาคม มีข้อความสรุปได้ว่า เมืองสุโขทัยได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอีกครั้งเมื่อสมัยของพระบรมราชาธิราชที่ 2 และได้แบ่งอาณาจักรสุโขทัยออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ให้พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาลมหาธรรมราชา) ครองเมืองอยู่ที่สองแควหรือพิษณุโลก ส่วนที่ 2 ให้พระยารามครองเมืองอยู่ที่สุโขทัย ส่วนที่ 3 ให้พระยาเชลียงครองเมืองอยู่ที่สวรรคโลก และส่วนที่ 4 ให้เจ้าแสนสอยดาว ครองเมืองอยู่กำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 1,339

ทบทวนประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร

ทบทวนประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร

ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร มีเมืองโบราณตั้งอยู่มากมาย ยืนยันได้ว่ากำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณมาช้านาน ไม่ต่ำกว่าพันปี เมืองที่รู้จักกันดี คือเมืองแปบ อยู่บริเวณตีนสะพานกำแพงเพชร ฝั่งนครชุม ตั้งแต่หัวยางถึงวัดพระบรมธาตุนครชุม แต่ปัจจุบันไม่พบหลักฐาน เพราะเมืองแปบทั้งเมืองถูกน้ำกัดเซาะทำลายสิ้นทั้งเมือง แต่ประชาชน ยังเรียกขาน บริเวณนี้ว่าวังแปบอยู่ เมืองเทพนคร อยู่บริเวณตำบลเทพนครในปัจจุบันสำรวจล่าสุดปี 2556 เดิมเมื่อฝรั่งเข้าไปทำเกษตร บริเวณนั้นเคยเรียกว่า ปางหรั่ง หรือปางฝรั่ง ปัจจุบันพบเพียงคูน้ำเพียงด้านเดียว พบป้อมปราการท้ายเมืองหนึ่งป้อม เพราะเมืองเทพนคร มีอายุอยู่ในระยะสั้นมาก อาจไม่ถึงช่วงสองร้อยปี (ราวพุทธศกัราช 1600-1800)

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2020 ผู้เช้าชม 1,231

เมืองคณฑี : เมืองต้นกำเนิดของราชวงศ์พระร่วง

เมืองคณฑี : เมืองต้นกำเนิดของราชวงศ์พระร่วง

เมืองคณฑีหรือบ้านโคน มีการสืบเนื่องของชุมชนมาช้านานแล้ว แม้ในปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยของคูน้ำแนวคันดินอันเป็นที่ตั้งของเมือง แต่มีวัดและซากโบราณเก่าแก่ที่ทำให้เชื่อได้ว่าครั้งหนึ่งบริเวณบ้านโคนเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ คือ เมืองคณฑี มีตำนานเล่าเรื่องถึงชาติภูมิหรือบรรพบุรุษของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระมหาธรรมราชหรือพระเจ้าโรจน หรือที่เรียกกันในภาษาพื้นบ้าน ว่าพระร่วง

เผยแพร่เมื่อ 11-03-2020 ผู้เช้าชม 1,457