รากสามสิบ

รากสามสิบ

เผยแพร่เมื่อ 17-07-2020 ผู้ชม 6,678

[16.4258401, 99.2157273, รากสามสิบ]

รากสามสิบ ชื่อสามัญ Shatavari

รากสามสิบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Asparagus racemosus Willd. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Protasparagus racemosus (Willd.) Oberm.) จัดอยู่ในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ASPARAGOIDEAE

สมุนไพรรากสามสิบ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า สามร้อยราก (กาญจนบุรี), ผักหนาม (นครราชสีมา), ผักชีช้าง (หนองคาย), จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ), เตอสีเบาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พอควายเมะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), ชีช้าง, ผักชีช้าง, จั่นดิน, ม้าสามต๋อน, สามสิบ, ว่านรากสามสิบ, ว่านสามสิบ, ว่านสามร้อยราก, สามร้อยผัว, สาวร้อยผัว, ศตาวรี เป็นต้น

ลักษณะของรากสามสิบ

  • ต้นรากสามสิบ จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยหนาม (หนามเปลี่ยนมาจากใบเกล็ดบริเวณข้อ) สามารถเลื้อยปีนป่ายต้นไม้อื่นขึ้นไปได้สูงประมาณ 1.5-4 เมตร แตกแขนงเป็นเถาห่าง ๆ ลำต้นเป็นสีเขียวหรือสีขาวแกมเหลือง เถามีขนาดเล็กเรียว กลม เรียบ ลื่น และเป็นมัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร เถาอ่อนเป็นเหลี่ยม ตามข้อเถามีหนามแหลม หนามมีลักษณะโค้งกลับ ยาวประมาณ 1-4 มิลลิเมตร บริเวณข้อมีกิ่งแตกแขนงแบบรอบข้อ และกิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวลักษณะแบนเป็นรูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.5-2.5 มิลลิเมตร ทำหน้าที่แทนใบ มีเหง้าและรากอยู่ใต้ดิน ออกเป็นกระจุกคล้ายกระสวย ลักษณะของรากออกเป็นพวงคล้ายรากกระชาย ลักษณะอวบน้ำ เป็นเส้นกลมยาว มีขนาดโตกว่าเถามาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา ชวา จีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย พบขึ้นตามป่าในเขตร้อนชื้น ป่าเขตร้อนแห้งแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าโปร่งหรือตามเขาหินปูน
  • ใบรากสามสิบ ใบเป็นใบเดี่ยว แข็ง ออกรอบข้อเป็นฝอย ๆ เล็กคล้ายหางกระรอก หรือออกเรียงสลับเป็นกระจุก 3-4 ใบ ใบเป็นสีเขียวดก ลักษณะของใบเป็นรูปเข็มขนาดเล็ก ปลายใบแหลม เป็นรูปเคียว โคนใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-36 มิลลิเมตร แผ่นมักโค้ง สันเป็นสามเหลี่ยม มี 3 สัน มีหนามที่ซอกกระจุกใบ ก้านใบยาวประมาณ 13-20 เซนติเมตร
  • ดอกรากสามสิบ ออกดอกเป็นช่อกระจะ ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบและข้อเถา ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีประมาณ 12-17 ดอก ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีกลีบรวม 6 กลีบ แยกเป็น 2 วง วงนอก 3 กลีบ และวงในอีก 3 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายกลีบมน ขอบเรียบ กลีบกว้างประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมีลักษณะบางและย่น โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปดอกเข็มยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนปลายแยกเป็นแฉก ดอกมีเกสรผู้เชื่อมและอยู่ตรงข้ามกับกลีบรวม เป็นเส้นเล็ก 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว อับเรณูเป็นสีน้ำตาลเข้ม รังไข่เป็นรูปไข่กลับ อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มี 2 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุล 2 เมล็ด หรือมากกว่า ส่วนก้านเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉกขนาดเล็ก โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
  • ผลรากสามสิบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม หรือเป็นพู 3 พู ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือสีม่วงแดง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-6 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำ เปลือกหุ้มมีลักษณะแข็งแต่เปราะ ออกผลในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม

สรรพคุณของรากสามสิบ

  1. รากสามสิบมีรสเฝื่อนเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาชูกำลัง (ราก)
  2. ตำรายาไทยจะใช้รากเป็นยาแก้กระษัย (ราก)
  3. ในประเทศอินเดียจะใช้รากเป็นยากระตุ้นประสาท (ราก)
  4. รากใช้ผสมกับเหง้าขิงป่าและต้นจันทน์แดง ผสมกับเหล้าโรงใช้เป็นยาแก้วิงเวียน (ราก)
  5. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาลดความดันโลหิตและลดไขมันในเลือด (ราก)
  6. รากสามสิบมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยไปกระตุ้นการทำงานของตับอ่อนให้เพิ่มการหลั่งสาร insulin (ราก)
  7. ทั้งต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคคอพอก (ราก, ทั้งต้น)
  8. ผลมีรสเย็น ใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้เซื่องซึม แก้พิษไข้กลับไข้ซ้ำ มักใช้ร่วมกับผลราชดัด เพื่อเป็นยาดับพิษไข้จากบิดเรื้อรัง (ผล)
  9. รากมีรสเฝื่อนเย็น ใช้กินเป็นยาแก้พิษร้อนในกระหายน้ำ (ราก)
  10. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)
  11. ช่วยขับเสมหะ[4]แก้การติดเชื้อที่หลอดลม (ราก)
  12. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยขับลม และช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร (ราก)
  13. ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้อาการอาหารไม่ย่อย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะ (ราก)
  14. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเสีย แก้บิด (ราก)
  15. ใบมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ใบ)
  16. ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ราก)
  17. รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ ช่วยหล่อลื่นและกระตุ้น (ราก)
  18. ช่วยรักษาอาการประจำเดือนผิดปกติของสตรี (ราก)
  19. ทั้งต้นหรือรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตกเลือด (ราก, ทั้งต้น)
  20. ในอินเดียจะใช้รากสามสิบเป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศทั้งชายและหญิง คนทางภาคเหนือบ้านเราจะใช้รากสามสิบทำเป็นยาดอง ใช้กินเป็นยาบำรุงสำหรับเพศชาย กินแล้วคึกคักเหมือนม้า 3 ตัว จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ม้าสามต๋อน" ส่วนหมอยาโบราณจะใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ"สาวร้อยผัว" หรือ "สามร้อยผัว" กล่าวคือไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ยังสามารถมีลูกมีผัวได้ อายุเท่าไรก็ยังดูสาวเสมอ แต่ไม่ใช่กินแล้วจะสามารถมีผัวได้เป็นร้อยคน ในตำราอายุรเวทจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรหลักในการบำรุงสตรี ทำให้กลับมาเป็นสาว ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสตรี ไม่ว่าจะเป็นภาวะประจำเดือนไม่ปกติ ภาวะหมดประจำเดือน ปวดประจำเดือน ตกขาว มีบุตรยาก หมดอารมณ์ทางเพศ ช่วยบำรุงครรภ์ บำรุงน้ำนม ป้องกันการแท้ง ฯลฯ ส่วนวิธีการใช้ก็ให้นำรากมาต้มกิน หรือนำรากมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง นอกจากนี้ยังใช้กระตุ้นน้ำนมในวัวนมได้อีกด้วย (ราก)
  21. ใช้เป็นยาบำรุงตับและปอดให้เกิดกำลังเป็นปกติ แก้ตับและปอดพิการ (ราก)
  22. รากใช้ฝนทาแก้พิษจากแมลงป่องกัดต่อย (ราก)
  23. รากใช้ฝนทาแก้อาการปวดฝี ทำให้เย็น ช่วยถอนพิษฝี พิษปวดแสบปวดร้อน (ราก)
  24. ช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง (ราก)
  25. รากใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย ครั่นตัว (ราก)
  26. ช่วยแก้อาการปวดข้อและคอ (ราก)
  27. ใบมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนม ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ)
  28. รากใช้เป็นยาบำรุงเด็กทารกในครรภ์ บำรุงน้ำนม บำรุงร่างกายหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)
  29. ใน "พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)" ได้กล่าวถึงสรรพคุณของรากสามสิบไว้ว่า "ผักหวานตัวผู้มีรสหวาน แก้กำเดา แก้จักษุโรค รากสามสิบทั้ง 2 มีคุณยิ่งกว่าผักหวาน" กำเดาหรือไข้กำเดา มีอยู่ 2 ชนิด อย่างแรก คือ ตัวร้อน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ และอีกอย่างหนึ่ง คือ มีอาการรุนแรงมากกว่า มีเม็ดผุดขึ้นตามร่างกาย มีอาการคัน ไอ มีเสมหะ และมีเลือดออกทางปากและจมูก (ราก)
  30. ส่วนในหนังสือ "พระคัมภีร์เวชศาสตร์สงเคราะห์" ได้กล่าวถึงตำรับยารักษาคนธาตุหย่อน อันมีตัวยารากสามสิบรวมอยู่ด้วยร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิด โดยระบุว่ามีสรรพคุณ (ที่ค่อนข้างจะเข้าใจยาก) ว่าช่วยจำเริญชีวิตให้เกิดกำลัง ให้บำรุงธาตุไฟ ให้จำเริญอินทรีย์แต่ละอย่าง มีกำลังมากต่างกัน กินเข้าไปแล้วหาโทษมิได้ ใช้ได้ทั้งเด็ก คนแก่ คนมีกำลัง คนผอม คนไม่มีกำลัง คนธาตุหย่อน ให้ประกอบยานี้กันเถิด อนึ่ง กินแล้วให้บังเกิดบุตร ให้อกตอแค่นแขงทั้ง 4 มีกำลัง ถึงกระหักก็ดี แพทย์ก็นับถือรักษาด้วยยานี้เถิด (ราก)
  31. อีกตำรับหนึ่งเป็นยาแก้โรคผอมแห้ง แก้หอบหืด แก้ปิดตะ และแก้โรคลมต่าง ๆ จะมีสมุนไพรอยู่ด้วยกัน 20 อย่างรวมทั้งรากสามสิบ (ราก)
  32. ใน "พระคัมภีร์วรโยคสาร" ตำรับยา "วะระนาทิคณะ" เป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยรากไม้ 17 อย่าง รวมทั้งรากสามสิบ ซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้แก้อันตะวิทราโรค หรือโรคที่มีอาการเสียดแทงในลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาแก้มันทาคินี แก้เสมหะ แก้คุลุมโรคหายแล และยังมีตำรับยาอีกอย่างก็คือ ตำรับยาแก้เสมหะ ที่มีสมุนไพรรวมอยู่ด้วย 16 อย่าง รวมทั้งรากสามสิบ (ราก)
  33. ตำรับยาบำรุงครรภ์ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ ประกอบไปด้วยสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ รากสามสิบ แก่นสน กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ชะลูด อบเชย เปลือกสมุลแว้ง เทียนทั้ง 5 บัวน้ำทั้ง 5 โกฐทั้ง 5 จันทน์ทั้ง 4 และเทพทาโร (ใช้อย่างละเท่ากัน) นำทั้งหมดมาใส่ในหม้อเคลือบหรือหม้อดิน เติมน้ำลงไปให้ท่วมยาสูงราว 6-7 เซนติเมตร แช่ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที แล้วนำขึ้นตั้งด้วยไฟอ่อน ๆ ต้มเคี่ยวประมาณ 30 นาที น้ำยาเดือดและมีกลิ่นหอมจึงยกลงจากเตา ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น วันละ 2 เวลา เป็นยาบำรุงครรภ์อย่างดี (ราก)
  34. นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณของรากสามสิบตามเว็บไซต์ต่าง ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา สมุนไพรชนิดนี้ยังมีสรรพคุณช่วยสร้างสมดุลให้แก่ระบบฮอร์โมนเพศหญิง แก้วัยทอง เพิ่มขนาดหน้าอกและสะโพก ช่วยแก้ปัญหาช่องคลอดอักเสบ ดับกลิ่นในช่องคลอด ช่วยกระชับช่องคลอด ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ช่วยกระชับสัดส่วน ลดไขมันส่วนเกิน บำรุงโลหิต บำรุงผิวพรรณ ลดสิว ลดฝ้า ทำให้ผิวขาวใส ช่วยชะลอความแก่ชรา ลดกลิ่นตัว กลิ่นปาก ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาความจำและสติปัญญา (ไม่มีอ้างอิง)

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้รากตาม ให้ใช้รากประมาณ 90-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละครั้งในตอนเช้า

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของรากสามสิบ

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ asparagamine, cetanoate, daucostirol, sarsasapogenin, shatavarin, racemosol, rutin
  • สมุนไพรรากสามสิบมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ลดการอักเสบ แก้อาการปวด คลายกล้ามเนื้อของมดลูก บำรุงหัวใจ ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง ขับน้ำนม มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ยับยั้งเบาหวาน ลดระดับไขมันในเลือด กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านอาการเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ยับยั้งพิษต่อตับ
  • สารสำคัญที่พบในรากคือสาร steroidal saponins ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่เลียนแบบฮอร์โมนเพศ จึงน่าจะมีบทบาทในการรักษาอาการที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดระดูของสตรี รวมไปถึงการช่วยปกป้องการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดรวมถึงโรคกระดูกพรุน
  • จากการศึกษาในหนูแรทโดยใช้สารสกัดจากรากด้วยเอทานอล แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเฉียบพลันและช่วงยาวต่อเนื่อง โดยการศึกษาในช่วงเฉียบพลันป้อนสารสกัดเอทานอลจากรากสามสิบในขนาด 1.25 กรัมต่อกิโลกรัม ให้กับหนูแรทที่ไม่เป็นเบาหวาน หนูแรทที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 พบว่าไม่มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ช่วยทำให้ทนต่อการเพิ่มขึ้นของกลูโคส ในนาทีที่ 30 ดีขึ้น ส่วนการศึกษาช่วงยาวต่อเนื่องวันละ 2 ครั้ง นาน 28 วัน ให้กับหนูที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และเพิ่มระดับของอินซูลิน 30%เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มระดับอินซูลินในตับอ่อน และเพิ่มไกลโคเจนที่ตับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเบาหวานควบคุม จึงสรุปได้ว่าฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากรากสามสิบน่าจะเป็นผลมาจากการยับยั้งการย่อยและการดูดซึมสารคาร์โบไฮเดรต และเพิ่มการหลั่งอินซูลิน ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ในการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้
  • จากการทดลองทางคลินิก คือ การใช้รักษาโรคกระเพาะในคนจริงๆ โดยการรับประทานผงแห้งของราก พบว่าได้ผลดีในการรักษาแผลที่กระเพาะและลำไส้เล็ก จากการที่กรดเกิน[11]
  • เมื่อปี ค.ศ.1997 ที่ประเทศอินได้ทำการทดลองใช้รากสามสิบกับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงชนิด mild hypertension โดยทดลองเปรียบเทียบกับยาลดความดัน (Propranolol) ใช้ระยะเวลาทำการทดลองนาน 3 เดือน ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยมีความดันโลหิตลดลง < 90 mm.Hg. และลดไขมันได้ผลดี
  • S. K. Mitra และคณะ (ค.ศ.1996) ที่ประเทศอินเดียได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วย Streptozotocin ผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถกระตุ้นตับอ่อนของหนูให้เพิ่มการหลั่ง insulin ได้
  • Kishan, A. R., Ajitha M และคณะ (ค.ศ.1999) ที่ประเทศอินเดียได้ทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยสาร Alloxan ผลการทดลองพบว่า สารดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดของหนูทดลองได้
  • Ajit Kas, B. K. Choudhary และคณะ (ค.ศ.2002) ที่ประเทศอินเดียได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยสาร Alloxan โดยใช้ขนาดของสารสกัด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำการทดลอง 2 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้
  • Saito Chizako และคณะ (ค.ศ.2005) ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากรากสามสิบกับผู้ป่วยอายุ 59 ปีขึ้นไปที่ป่วยเป็นเบาหวาน ผลการทดลองพบว่า สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จาก 270-280 mg,/dL. ลดลงเหลือ 120-130 mg./dL. และ HbAic จาก 9 ลดลงเหลือ 5.8
  • จากการทดสอบความเป็นพิษเมื่อให้หนูถีบจักรกินสารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นสามสิบด้วย 50% เอทานอล พบว่าในขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้ก่อนเกิดอาการพิษ คือ 1 กรัมต่อกิโลกรัม ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าสัตว์ทดลองที่กินส่วนของรากในขนาดสูงถึง 2 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่พบความเป็นพิษ (แสดงว่าการรับประทานเป็นครั้งคราวก็ถือว่ามีความปลอดภัย) แต่มีรายงานว่าการกินน้ำต้มรากสามสิบร่วมกับการใช้ผงรากสวนเข้าทางช่องคลอดเพื่อหวังผลให้แท้งบุตร ทำให้เกิดพิษจนถึงแก่ชีวิต และยังไม่มีข้อมูลการศึกษาความเป็นพิษ หากรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

ข้อควรระวังในการใช้รากสามสิบ

  • รายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่ารากสามสิบมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นจึงห้ามนำมาใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง เช่น ผู้ป่วยโรค uterine fribrosis หรือ fibrocystic breast

ประโยชน์ของรากสามสิบ

  1. ผลอ่อนสามารถนำมารับประทานได้ โดยนำมาทำเป็นแกงลูกสามสิบ
  2. รากนำมาต้ม เชื่อม หรือนำมาแช่อิ่ม ใช้รับประทานเป็นอาหาร กรอบดีมาก (รากสามสิบแช่อิ่ม) หรือนำมาทำเป็นน้ำรากสามสิบ
  3. ทางภาคอีสานจะนำยอดมาลวกรับประทานเป็นผักเคียง ใช้รับประทานสด หรือนำมาผัด[6],[8]ส่วนทางภาคใต้จะใช้ส่วนที่อยู่เหนือดินมาใส่ในแกงส้มและแกงเลียง
  4. รากยังสามารถนำมาทุบหรือขูดกับน้ำ ทำเป็นน้ำสบู่สำหรับซักเสื้อผ้าได้อีกด้วย
  5. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป เพาะปลูกโดยใช้เมล็ด เหง้า หรือหน่อ ควรปลูกในช่วงฤดูฝน ควรปลูกลงในกระถางทรงสูงและใช้ดินร่วนในการปลูก ใส่ดินให้มาก ๆ รดน้ำให้ชุ่ม และควรปลูกไว้ในบริเวณที่มีแสงแดดรำไรตลอดวัน
  6. ในปัจจุบันบ้านเราได้มีการนำสมุนไพรรากสามสิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมรากสามสิบออกมาจำหน่ายหลายรูปแบบ ส่วนในต่างประเทศอย่างอินเดียจะใช้สมุนไพรชนิดนี้มากเป็นพิเศษ (เป็นอันดับ 2 รองจากมะขามป้อม) โดยการนำสารสกัดด้วยน้ำของรากสามสิบไปจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาในลักษณะเป็น dietary supplement ที่สามารถขายได้ทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

คำสำคัญ : รากสามสิบ

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). รากสามสิบ. สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610010&code_type=01&nu=pages&page_id=1785

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1785&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

งาขี้ม้อน

งาขี้ม้อน

ต้นงาขี้ม้อน จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา ต้นมีกลิ่นหอม เป็นสันสี่เหลี่ยมมน ๆ และระหว่างเหลี่ยมเป็นร่องตามยาว มีขนยาวละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น เมื่อโตเต็มที่โคนต้นจะเกลี้ยง โคนต้นและโคนกิ่งจะแข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง หรือรูปกลม ออกดอกเป็นช่อกระจะตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ริ้วประดับดอกย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ 

เผยแพร่เมื่อ 25-05-2020 ผู้เช้าชม 9,304

ส้มกบ

ส้มกบ

ลักษณะทั่วไป  เป็นวัชพืชพุ่มเตี้ย อายุยืนหลายฤดูลำต้นทอดเลื้อย ตามพื้นดิน มีมีไหลไต้ยาว  ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ  ดอกออกตามซอกใบ เป็นดอกเดี่ยว มีสีเหลืองส่วนโคนกลีบดอกจะก้านยาว ออกดอกตลอดปี  ติดผลเป็นฝักตั้งตรง เป็นเหลี่ยมห้าเหลี่ยม ฝักยาว 4-6 ซม. เมื่อผลแก่จะแห้งและแตกดีดเมล็ดออกมา เมล็ดเป็นรูปไข่แบน ผิวเมล็ดย่นสีน้ำตาล   พบขึ้นเป็นวัชพืชในสวนผักและไม้ดอก และในพื้นที่ทำการเกษตรโดยทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย ออกดอกตลอดปี  ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและไหล

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 2,661

จอก

จอก

ลักษณะทั่วไป วัชพืชน้ำขนาดเล็ก ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำ มีระบบรากแก้วและมีรากฝอยจำนวนมาก อายุยืนหลายปี เจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ ลำต้นมีไหล ต้นใหม่เกิดจากโคนต้นและเกิดบนไหล ใบเป็นใบเดี่ยวเกิดบริเวณส่วนโคน ของลำต้นเรียงซ้อนกันหลายชั้น ไม่มีก้านใบรูปร่างใบไม่แน่นอน บางครั้งรูปรี แต่วนมากเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายกลีบหยักลอนเป็นคลื่น ฐานใบมนสอบแคบ ขอบใบเรียบสีแดงมีขนขึ้นปกคลุมแผ่นใบทั้งสองด้าน บริเวณบานใบพองออกมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายฟองน้ำ ทำให้ลอยน้ำได้ ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงกลางต้นหรือต้นโคนใบระหว่างกลาง ซึ่งดอกนั้นจะมีกาบหุ้มดอกอยู่ 2-3 อันมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 6,965

สลัดไดป่า

สลัดไดป่า

ไม้ต้น ลำต้นเป็นสามเหลี่ยมสีเขียว ตรง สูงประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นมักแตกออกเป็นสามยอด ตรงสันของลำต้นมีหนามเป็นกระจุกๆ ละ 2 เรียง ลงมาตลอดลำต้น-ลำต้นมียางสีขาวเหมือนนํ้านม ใบ เดี่ยวขนาดเล็ก เรียงสลับรูปไข่กลับ ร่วงง่ายจึงดูคล้ายไม่มีใบ ดอกจะออกหน้าหนาวออกเป็นตุ่มๆ สี

เผยแพร่เมื่อ 17-02-2017 ผู้เช้าชม 2,363

เต่าร้าง

เต่าร้าง

เต่าร้าง (Fishtail Palm, Wart Fishtail Palm) หรือเต่ารั้ง เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น อยู่ในตระกูลปาล์ม มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือเรียก เกี๋ยง, เขืองหลวง, เต่ารั้ง หรือเต่าร้าง ส่วนน่านเรียก หมากมือ เป็นต้น ซึ่งพืชสมุนไพรอย่างเต่าร้างนั้นเป็นพืชที่พบการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย, ตอนใต้ของจีน, ศรีลังกา, เวียดนาม และไทยเราด้วย ชอบอยู่ในป่าดิบทุกแห่ง มักขึ้นตรงที่มีความชุ่มชื้นสูง โดยลำต้นจะเป็นปล้องสูงชะลูดขึ้นไปไม่เท่ากัน โดยบางต้นอาจเตี้ย ในขณะที่บางต้นอาจสูง

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 9,275

กระเจานา

กระเจานา

ต้นกระเจานาเป็นไม้ล้มลุก ต้นเตี้ยเรี่ยพื้นจนถึงสูง 1 เมตร ลำต้นสีแดง เกลี้ยงหรือมีขน ใบกระเจานาใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนมน ขอบจักฟันเลื่อย จักสุดท้ายตรงโคนใบมีระยางค์ยื่นออกมายาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ข้างละ 1 เส้น เส้นแขนงใบออกจากโคนใบ 1 คู่ ยาวเกือบถึงปลายใบ ด้านล่างมีขนและเห็นเส้นแขนงใบชัดเจน ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร มีขนและเป็นร่องทางด้านบน หูใบรูปสามเหลี่ยมเรียวแหลมยาวประมาณ 3 เซนติเมตร

เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 2,717

ผักกาดขาว

ผักกาดขาว

ผักกาดขาวเป็นผักที่มีเส้นใยสูงมาก โดยเส้นใยที่ว่านี้เป็นเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำ แต่จะพองตัวเมื่อมีน้ำ จึงมีความสามารถในการอุ้มน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งการอุ้มน้ำได้ดีนี้จะช่วยเพิ่มปริมาตรของกากอาหาร ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้กากอาหารอ่อนนุ่ม ขับถ่ายสะดวก และยังช่วยแก้อาการท้องผูกอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความหนืด ทำให้ไม่ถูกย่อยได้ง่าย ช่วยดูดซับและแลกเปลี่ยนประจุ จึงช่วยป้องกันและกำจัดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยดึงเอาสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารที่รับประทาน ช่วยลดความหมักหมมของลำไส้ จึงมีผลทำให้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดี

เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 13,820

ขมิ้นเครือ

ขมิ้นเครือ

ต้นขมิ้นเครือ จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็ง ทุกส่วนเกลี้ยง ยกเว้นมีต่อมที่ใบ ลำต้นมีเนื้อไม้เป็นสีเหลือง เมื่อสับหรือฟันจะมียางสีเหลือง มีรอยแผลเป็นตามก้านใบที่หลุดร่วงไป ซึ่งรอยแผลเป็นจะมีลักษณะเป็นรูปถ้วย[1],[2] ส่วนรากสดที่อายุน้อยและขนาดเล็กจะมีรูปร่างโค้งงอไปมา ลักษณะค่อนข้างแบน และมีร่องคล้ายแอ่งเล็กอยู่ตรงกลางตลอดความยาวของราก ส่วนผิวนั้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเขียวหรือเป็นสีเทาปนน้ำตาล บางตอนของรากมีรอยแตกเล็ก ๆ พาดขวางอยู่ ส่วนรากที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่

เผยแพร่เมื่อ 18-05-2020 ผู้เช้าชม 5,771

หญ้ายาง

หญ้ายาง

หญ้ายาง เป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว (annual) ลำต้นตั้งตรง กลวงและอ่อน สูง 30-80 ซม. มีขนปกคลุมโดยตลอด มียางขาว ต้นสีม่วงแดง แตกกิ่งก้านสาขาไม่มาก
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน แต่คู่ล่างสุด และบนสึดมักออกตรงข้ามกัน เป็นคู่ ก้านใบมีสีม่วงแดง ยาว 0.5-2 ซม. และมีขน ใบมีหลายรูปร่าง ตั้งแต่ยาวรี ไปจนถึงกลม ปลายแหลม ขอบใบเรียบ จักละเอียด หรืออาจหยักเป็นฟันไม่สม่ำเสมอ มีขนปกคลุมประปรายจนถึงไม่มีขนเลย
ดอก ออกที่ยอดเป็นกระจุก มีทั้งดอกผู้และดอกตัวเมียปนกัน ซึ่งถูกรองรับด้วยแผ่นสีเขียวคล้ายใบ (bract) หลายใบ ดอกย่อยตั้งอยู่บนก้านสั้นๆ ดอกสีขาวอมเขียว

เผยแพร่เมื่อ 23-02-2017 ผู้เช้าชม 4,433

พรมมิแดง

พรมมิแดง

พรมมิแดง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นเตี้ย แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณโคนต้น ส่วนกิ่งที่แตกนั้นจะทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามดินปนทรายทั่วไป ในประเทศไทยพบได้ที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ส่วนในต่างประเทศพบในแอฟริกา ปากีสถาน อินเดีย พม่า มาเลเซีย และออสเตรเลีย

เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 1,568