ผ้าทอกะเหรี่ยง

ผ้าทอกะเหรี่ยง

เผยแพร่เมื่อ 16-08-2018 ผู้ชม 3,841

[16.4546601, 98.5363494, ผ้าทอกะเหรี่ยง]

         นายคือบือ เป็นราษฎรอาศัยอยู่บ้านกี่โก๊ะโคะโก ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ปัจจุบันหมู่บ้านดังกล่าวได้ล่มสลายแล้วเนื่องจากมีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการตั้งบ้านเรือน ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2474 นายคือบือ ขณะนั้นอายุได้ 25 ปี ได้เดินทางมาที่บ้านอุฮูทะ พร้อมกับญาติพี่น้องจำนวนหนึ่งเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินแห่งใหม่และพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีลำห้วยวาเล่ย์กับลำห้วยอุฮูโกร มาบรรจบกันทำให้พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมแก่สร้างบ้านเรือนและบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้มีราษฎรชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่แล้วจำนวน 15 คน 3 ครัวเรือน คือ ครอบครัวของนายแต้แน นายโกโค และนายซะแฮ
        ต่อมาเมื่อชุมชนได้ขยายตัวมากขึ้นมีประชากรถึง 53 คน 20 ครัวเรือน ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “อุฮูทะ” และได้แต่งตั้งให้นายคือบือ เป็นผู้นำคนแรก สภาพทั่วไปของหมู่บ้านเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่ามากมาย เช่น หมู่ป่า กวาง เก้ง ฯลฯ เหมาะสมกับวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจยังชีพ คือ มีความเรียบง่ายปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติเก็บของป่า ล่าสัตว์ และปลูกข้าวไว้เพียงเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น
         หลังจากได้สร้างบ้านเรือนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ราษฎรบ้านอุฮูทะ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตไว้ที่กลางหมู่บ้านนั้นคือ “เจดีย์ทราย” เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพุทธศาสนา แต่ก็ยังมีความเชื่อในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิต ได้แก่ พิธีเลี้ยงผีหัวฝาย พิธีเลี้ยงผีข้าวเขียว พิธีเสกท้อบือซา และพิธีเซกท้อโท้ ในเรื่องของระบบคุณค่า ได้แก่ พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ พิธีมัดมือ ทำบุญขนมจีน และสุท้ายเป้นระบบความสัมพันธ์ คือ ประเพณีการแต่งงาน การคลอดลูกและการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว มีการประกอบพิธีกรรมในระดับครอบครัวและชุมชน เพื่ออ้อนวอนให้เทพต่างๆ ช่วยคุ้มครองคนในหมู่บ้านให้ปลอดภัยจากภยันตรายที่อาจจะเกิดขั้นได้ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ชุมชนมีความมั่นคง ยั่งยืน และมีพลังในตัวเอง
         และเมื่อ พ.ศ. 2513 ทางราชการได้เข้ามาสำรวจหมู่บ้านขณะนั้นมีจำนวนครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 30 ครัวเรือนแล้ว และเริ่มจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้กับคนในหมู่บ้านเพื่อเป็นการสำรวจจำนวนประชากรในเขตพื้นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก (อ้างจากบัตรประจำตัวประชาชน นายคือบือ)
         หลังจากที่นายคือบือ อายุมาก (65 ปี) จึงได้ลาออกจากตำแหน่งผู้นำหมู่บ้านและได้แต่งตั้งให้นายปาอู เป็นผู้นำคนต่อไป (ประมาณ พ.ศ.2522 – 2533) และในสมัยนี้เองเมื่อ พ.ศ.2524 ราษฎรชาวกะเหรี่ยงได้รวมกันสร้างวัดขึ้นโดยใช้วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่และหลังคาเป็นใบตองตึงและนายคือบืออดีตผู้นำหมู่บ้านคนแรกได้เดินทางไปที่จังหวัดผาอัน ประเทศพม่าเพื่อนิมนต์พระกะเหรี่ยงจำนวน 2 รูป มาจำพรรษาที่บ้านอุฮูทะ ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 ได้มาสร้างโรงเรียนให้กับบ้านอุฮูทะ ทำการสอนในระดับปฐมศึกษามีชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 และได้ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น “แม่ออกฮู”
         หลังจากที่นายปาอู อายุครบ 60 ปี (พ.ศ.2533) ได้มีการประชุมราษฎรบ้านแม่ออกฮูเพื่อเลือกผู้นำหมู่บ้านคนต่อไป โดยมีเจ้าหน้าที่จากอำเภอ ครู ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 และกำนันตำบลวาเล่ย์ มาร่วมเป็นพยานและผลการเลือกตั้งปรากฏว่า “นายธาดา คีรีเกริกก้อง” ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำหมู่บ้านคนต่อไป
         เมื่อ พ.ศ.2538–2539 กลุ่มทหารกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธ ภายใต้การดูแลของพระฮูทูสะนะ ต้องการที่จะสร้างวัดในเขตอิทธิพลของ KNU (Karen National Union) แต่ถูกทหารกะเหรี่ยงที่เป็นคริสต์เตียนกีดกันจะเกิดการต่อต้าน และเกิดการปะทะกันทางความคิด และกลายมาเป็นการต่อสู้ทางกำลังและสุดท้ายค่ายมาเนอร์ปลอว์ ค่ายนอตะ (อยู่ตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง) และค่ายคอนูร่า 101 (อยู่ตรงข้ามอำเภอแม่สอด) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการ KNU แตกทำให้ราษฎรชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สู้รบได้รับผลกระทบจากภัยสงครามและหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นจำนวนมากชาวบ้านที่อพยพเข้ามาจากพม่า คือ หมู่บ้านพะอ่า, เมียวะดี, จะเอ, เซ่จี, มาตะเล และเกาะตะริ
         และในสมัยของนายาดา คีรีเกริกก้องนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ การสร้างบ้านเรือนที่เกิดจากการใช้วัสดุที่มีจากธรรมชาติเริ่มเปลี่ยนเป็นสังกะสี และกระเบื้องแทน มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการผลิต มีการปลูกพืชเชิงเดียว ได้แก่ข้าวโพด เพื่อตอบสนองระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมข้ามชาติ และส่งที่ตามมาในเรื่องของเครื่องใช้ที่อำนวยความสะดวก เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไถนา โทรทัศน์ ตู้เย็น หมอหุงข้าว โทรศัพท์ ฯลฯ มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนและนอกชุมชนมากขึ้นเพื่อตอบสนองความทันสมัยการเจ็บป่วยก็ต้องใช้การรักษาแพทย์แผนใหม่ เช่น การคลอดบุตร ต้องเดินทางไปที่สถานีอนามัยประจำตำบลหรือโรงพยาบาลเท่านั้น ทำให้ภูมิปัญญาในเรื่องของการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมเริ่มหมดความจำเป็น
         ช่วงเวลาที่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมภายในหมู่บ้านอย่างมากมาย อันเนื่องมาจากคนในหมู่บ้านเดินทางไปทำงานนอกหมู่บ้านมากขึ้นพร้อมกับการรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้านด้วย และยิ่งไปกว่านั้นคนเมืองที่มีวัฒนธรรมเมืองได้เข้ามาติดต่อค้าขาย ทำให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่แตกต่าง
         ความหลากหลายที่เข้ามาสู่ชุมชนบ้านแม่ออกฮู ไม่ได้สร้างความเลวร้ายแต่อย่างใด เพราะชุมชนมีการเลือก ปรับ และนำมาสร้างใหม่ในบริบททางสังคม และวัฒนธรรมที่มีความเป็นพลวัตได้อย่างเหมาะสมและรู้เท่าทัน อย่างไรก็ตามชุมชนยังมีการรักษาอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมที่ดีงามในเรื่องของพิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวข้องอยู่กับระบบผลิต ระบบคุณค่า และระบบความสัมพันธ์ได้อย่างมีสติ บนพื้นฐานของชาว “ปกาเกอะญอ” ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน

ประวัติความเป็นมาของ “ผ้าทอกะเหรี่ยง”
         ชาวกะเหรี่ยงขาวมีความเชื่อแต่โบราณว่าลายของผ้าทอกะเหรี่ยงนั้น ได้มาจากลายหนังงูใหญ่ซึ่งเป็นคู่รักในอดีตของหญิงสาวชาวกะเหรี่ยงโดยที่งูตัวนั้นจะเปลี่ยนลายทุกวัน และหญิงสาวก็ทอผ้าตามลายที่ปรากฏจนครบ 7 วัน ทอได้ 7 ลาย คือ ลายโยห่อกือ เกอเปเผลอ ฉุ่ยข่อล่อ ที่ข่า เกอแนเดอ เซอกอพอ และแชะฉ่าแอะ แต่ลายที่นิยมนำมาทอและปัก มี 4 ลายคือ โยห่อกือ เกอเปเผลอ ฉุ่ยข่อลอ และลายทีข่า ปัจจุบันยังมีการคิดค้นลายใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ชาวปากอเญอ มีพื้นฐานการทอผ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน ที่เหลือจึงนำมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ลักษณะลายผ้าที่ผลิตกันจะเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำลายผ้าเป็นไปตามความอำเภอใจของผู้ทอ ไม่มีเอกลักษณ์ มาตรฐานการผลิตที่แตกต่างกัน จึงมีการรวมกลุ่มกันขึ้น

เอกลักษณ์/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
         หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงจะใส่ชุดยาวสีขาว ส่วนชายหนุ่มจะใส่สีแดงสด ส่วนหญิงชาวปากอเญอที่แต่งงานแล้วจะสวมใส่เสื้อสีดำและมีลวดลายปักที่หลากหลายผสมผสานกันในส่วนชายเสื้อตั้งแต่ใต้อกคลุมถึงสะโพก ผ้าถุงสีแดง ผ้าทอกะเหรี่ยง จะทอด้วยกี่เอว ลวดลายดั้งเดิมจะมีสีสันที่สดใสมีทั้งการทอลายในตัวผืนผ้า และการปักผ้า ผ้าบางผืนจะมีการเย็บลูกเดือยเป็นลวดลายต่างๆ ปัจจุบันการให้สีสันลายผ้าจะมีการทอหรือปักสีอื่นๆ เพิ่มขึ้นอาทิเช่น สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง และสีชมพู ลวดลายที่ทอเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษและเป็นการทอมือแต่ละชิ้นจึงเป็นความภาคภูมิใจของผู้ทอส่งต่อผู้ใช้ด้วยความใส่ใจ

ขั้นตอนการผลิต
       การขึ้นเครื่องทอ
       เป็นการนำเส้นด้ายมาเรียงกันอย่างมีระเบียบตามแนวนอนขนานไปกับไม้ขึ้น เรียงลำดับไว้ ดังนี้ การเรียงด้ายจะใช้จำนวนคู่ เช่น 2 เส้น หรือ 4 เส้นครบก็ได้หากต้องการผ้าหนา เช่น ผ้าห่ม ก็ใช้ด้ายไปแยกที่ตะกอเป็น 2 ส่วนๆ ละ 2 เส้น หากเป็นเส้นด้ายพื้นเมืองปั่นเอง ปกตินิยมใช้ด้ายยืนเพียงเส้นเดียว เวลาเรียงใช้ 2 เส้นควบ หากเป็นด้ายสำเร็จรูป จะใช้ด้ายยืน 2 เส้นเวลาเรียงใช้ 4 เส้นควบ จำนวนด้ายอาจเพิ่มมากขึ้น ในกรณีที่เป็นการทอผ้าลายนูนตามแนวยาว เช่น การทอเสื้อของผู้ชายสูงอายุของกะเหรี่ยงสะกอจะใช้ด้ายยืนปกติ คือ 1 เส้น เวลาเรียงใช้ 2 เส้นควบ เมื่อถึงเวลาจะเพิ่มด้ายยืนเป็น 2 หรือ 3 เส้น ฉะนั้นเวลาเรียงด้ายต้องใช้ 4 หรือ 6 เส้นควบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลวดลายที่ต้องการ
การเรียงด้าย มีขั้นตอนดังนี้
       1. คล้องด้ายที่หลักที่ 1 และสาวด้ายทั้งหมดผ่านหลักที่ 2, 3, 4 และ 5 นำไปคล้องหลักที่ 6 และสาวกลับมาคล้องหลักที่ 1
       2. ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกันและนำมาพันรอบหลักที่ 2 ตามแนวเข็มนาฬิกา
       3. ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกันมาทางด้านหน้าหลักที่ 3 ซึ่งเป็นจุดแยกได้ โดยใช้ด้ายอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นด้ายตะกอสอดเข้าไประหว่างด้ายที่แยกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน ด้ายส่วนที่ไม่ได้คล้องกับตะกอแยกผ่านด้านหลังหลักที่ 4 และส่วนที่คล้อง ตะกอดึงผ่านด้านหน้าหลักที่ 4
       4. รวบด้ายทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ดึงให้ตึงสาวพันอ้อมหลักที่ 5 ตามแนวเข็มนาฬิกา
       5. ดึง ด้ายทั้งหมดให้ตึงพันอ้อมหลักที่ 6 และสาวให้ตึง ดึงกลับมาเริ่มต้นที่หลักที่ 1 ใหม่หากต้องการสลับสี ก็เปลี่ยนด้ายกลุ่มใหม่เป็นสีที่ต้องการ โดยเริ่มตั้งแต่หลักที่หนึ่งเช่นกัน ทำหมุนเวียนไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนด้ายที่เรียงมีความสูงเท่ากับความกว้างของผ้าทีต้องการใช้
       6. ถอดไม้ทั้งหมดออกจากไม้ขึ้นเครื่องทอ และนำไม้หน่อสะยาสอดเข้าไป เก็บตะกอแทนไม้กลูโข่ (หลักที่ 6) ซึ่งต้องใช้สำหรับช่วยแยกด้ายเวลาทอ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วทอจะมีลักษณะดังภาพ จากนั้นนำเครื่องทอทางด้านไม้รั้งผ้าไปผูกยึดกับฝา หรือเสาระเบียงบ้าน โดยให้ได้ระดับความสูงประมาณศรีษะของผู้ทอขณะที่นั่งราบกับพื้น ส่วนทางด้านไม้พันผ้า นำแผ่นหนังมาอ้อมรอบเอวด้านหลังของผู้ทอ และผูกรั้งหัวท้ายกับปลายทั้งสองของไม้พันผ้า พร้อมกับดึงเครื่องทอให้ตึงพอประมาณ โดยผู้ทอกระเถิบถอยหลังนั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม

 
 

คำสำคัญ : ผ้าทอกะเหรี่ยง

ที่มา : http://www.otoptoday.com/wisdom/1359/%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2561). ผ้าทอกะเหรี่ยง. สืบค้น 29 มีนาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=772&code_db=DB0004&code_type=K0005

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=772&code_db=610007&code_type=TK003

Google search

Mic

ผ้าทอกะเหรี่ยง

ผ้าทอกะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงขาวมีความเชื่อแต่โบราณว่าลายของผ้าทอกะเหรี่ยงนั้น ได้มาจากลายหนังงูใหญ่ซึ่งเป็นคู่รักในอดีตของหญิงสาวชาวกะเหรี่ยงโดยที่งูตัวนั้นจะเปลี่ยนลายทุกวัน และหญิงสาวก็ทอผ้าตามลายที่ปรากฏจนครบ 7 วัน ทอได้ 7 ลาย คือ ลายโยห่อกือ เกอเปเผลอ ฉุ่ยข่อล่อ ที่ข่า เกอแนเดอ เซอกอพอ และแชะฉ่าแอะ แต่ลายที่นิยมนำมาทอและปัก มี 4 ลายคือ โยห่อกือ เกอเปเผลอ ฉุ่ยข่อลอ และลายทีข่า ปัจจุบันยังมีการคิดค้นลายใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย ชาวปากอเญอ มีพื้นฐานการทอผ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน ที่เหลือจึงนำมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ลักษณะลายผ้าที่ผลิตกันจะเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ลายผ้าเป็นไปตามความอำเภอใจของผู้ทอ ไม่มีเอกลักษณ์ มาตรฐานการผลิตที่แตกต่างกัน 

 

เผยแพร่เมื่อ 16-08-2018 ผู้เช้าชม 3,841