วัดโพธิคุณ

วัดโพธิคุณ

เผยแพร่เมื่อ 17-08-2018 ผู้ชม 2,403

[16.7623176, 98.6448626, วัดโพธิคุณ]

       การก่อสร้างวัดโพธิคุณนั้นได้รัตนบุรุษสองท่านคือ ท่านหนึ่งหาทุนเพื่อการดำเนินการ และอีกท่านหนึ่งนั้นสละทั้งชีวิตและจิตใจทุ่มเทถวายตัวเป็นพุทธบูชา โดยไม่ยอมรับค่าตอบแทนใดๆจากทางวัดเลย สร้างอุโบสถและศาลาการเปรียญเป็นสถาปัตยกรรม ซึ่งมีศิลปะงดงาม พร้อมทั้งจัดอาณาบริเวณอันเป็นพุทธสถานไว้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นดังการเนรมิตของพระวิษณุ ฉะนั้นสถานที่ตั้งวัดโพธิคุณก่อนปีพุทธศักราช 2523 ยังเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่เคยมีที่พักสงฆ์ สำนักสงฆ์ หรือวัดมาก่อนเลย มีประชาชนในตัวอำเภอแม่สอดมาจับจองแผ้วถางทำไร่พืชผักผลไม้อยู่ 5 เจ้าของด้วยกัน ประชาชนหมู่ที่ 6 ตำบลแม่ปะเป็นชาวพุทธทั้งสิ้น เพราะมีร่องรอยที่จะทำเป็นที่พักสงฆ์อยู่ทั้งที่บ้านห้วยหินฝนและบ้านห้วยเตย (เรื่องชื่อบ้านนั้นเอาไว้เล่าในเรื่องสันติเกนิทาน) แต่ไม่มีพระภิกษุ-สามเณรมาอยู่ประจำ ทั้งนี้ทั้งนั้นยากแก่การสันนิษฐาน แต่พออนุมานได้ว่า อาจเป็นเพราะสถานที่ตรงนี้ขณะนั้นยังมีไข้ป่า เช่น ไข้มาลาเรียชุกชุมก็เป็นได้ และชาวบ้านโดยรวมมีความเป็นอยู่ไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก ส่วนมากมีอาชีพรับจ้างและหาของป่ายังชีพกันตามมีตามได้ และความเป็นอยู่ก็กระจัดกระจายเปลี่ยนแปลงโยกย้ายกันอยู่ตามที่ที่จับจองห่าง ๆ กัน ไฟฟ้าไม่มีใช้ น้ำกินน้ำใช้ก็อาศัยน้ำตามลำธาร ยังไม่มีระบบการบริหารและจัดการให้เป็นองค์รวมอย่างมีกฎเกณฑ์เหมือนอย่างเป็นหมู่บ้านแล้วในปัจจุบันนี้               ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2523 มีพระเที่ยวกัมมัฏฐานสายปฏิบัติของพระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี สองรูปด้วยกัน คือพระอาจารย์วิจิตรและพระอาจารย์ถาวร ได้มาปักกลดบำเพ็ญสมณธรรม อยู่บริเวณบ้านห้วยเตย ประชาชนในหมู่บ้านนอกจากจะถวายอาหารบิณฑบาตกับท่านแล้ว ยังมีโอกาสสนทนาธรรมกับท่านและได้นิมนต์ให้ท่านอยู่นานๆ และได้พาขึ้นมาดูที่ตรงที่สร้างวัดในปัจจุบันนี้ เมื่อท่านทั้งสองรูปมาเห็นที่แล้วก็พอใจ และได้ปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ใต้ต้นขนุนใกล้ลำธารน้ำ ประชาชนในหมู่บ้านทั้งบ้านห้วยเตยและบ้านห้วยหินฝน โดยการนำของคุณครูประสิทธิ์ สิทธิสงคราม คุณโยมประภาส บินทวิหค และคุณโยมชัย กันเกตุ ตกลงที่จะสร้างวัดขึ้น และได้ติดต่อเจ้าของที่ทั้ง 5 เจ้าของนั้น เจ้าของที่บางรายเมื่อทราบว่าชาวบ้านหมู่ที่ 6 ต้องการจะสร้างวัด บางเจ้าของได้ถวายที่ให้โดยไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ แต่บางรายขอค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย เมื่อปัญหาเรื่องที่จากเจ้าของที่จับจองไม่มีปัญหาแล้ว เรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไปคือเรื่องทางราชการบ้านเมือง คือกรมป่าไม้  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจวบกับเวลานั้นอาตมาภาพ พุทฺธญาณภิกฺขุ ซึ่งมีสังกัดอยู่วัดอินทารามวรวิหาร ตลาดพลูธนบุรี กรุงเทพมหานคร กลับจากไปจำพรรษาที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดียในพรรษาปี 2522 เดินทางถึงวัดอินทารามวรวิหาร เกิดลางสังหรณ์ในใจอยู่ว่า เราคงหมดที่พึ่งแล้วกระมัง เพราะพระเดชพระคุณหลวงพ่อวิเชียรมุนี ซึ่งเป็นอธิบดีสงฆ์ คือเป็นเจ้าอาวาสและเป็นพระนิสยาจารย์ของอาตมาภาพ ได้มรณภาพจากไปก่อนหน้าอาตมาภาพเดินทางกลับมาถึงแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2522 และในระหว่างที่ร่วมบุญในงานศพของพระเดชพระคุณท่านนั่นเอง ก็ได้รับหนังสือบอกลงไปจากคุณโยมสิงห์น้อย ชาพรม บ้านแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่าสหธรรมิกของอาตมาภาพทั้งสองรูปดังกล่าวแล้ว ได้มาพักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ยังที่ตั้งวัดในปัจจุบันนี้  และในหนังสือยังเน้นไปด้วยว่า สหธรรมิกทั้งสองรูปต้องการพบเป็นพิเศษ ขอให้ขึ้นมาพบกับท่านด้วย เมื่อทราบงานพระราชทานเพลิงศพของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิเชียรมุนีเป็นที่ชัดเจนแล้ว ต้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2523 เตรียมบริขารเดินทางขึ้นมา ในระยะนั้นทางขึ้นมายังที่ตั้งวัดเป็นป่ารกทึบด้วยป่าไผ่และวัชพืช ต่ำลงไปก็เป็นป่าพงที่หนาทึบมาก เมื่อเดินทางโดยการนำของคุณโยมสิงห์น้อย ชาพรม ก็ได้พบท่านทั้งสองเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว หลังผ่านการถามทุกข์-สุขของกันและกันพอสมควรแล้ว ท่านทั้งสองได้ปรารภให้ฟังว่า ประชาชนในหมู่บ้านต้องการจะให้สร้างเป็นวัดขึ้นในที่ดังกล่าวนี้ อาตมาภาพพิจารณาดูอาณาบริเวณแล้ว ก็บอกกับท่านทั้งสองว่า ถ้าทำได้ก็จะดีมากเพราะป่าเขาลำธารน้ำอุดมสมบูรณ์ดีอย่างยิ่ง เป็นเหมือนมีขอบเขตที่แบ่งไว้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีภูเขาเป็นเหมือนเขตที่ชัดเจน และอยู่ห่างจากชุมชนดีมาก สงบสงัดปราศจากสิ่งรบกวนเหมาะสมที่จะเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) สำหรับบำเพ็ญสมณธรรมของผู้ใฝ่ความสงบทางจิตวิญญาณ เมื่อท่านพร้อมที่จะอยู่เพื่อให้ประชาชนเขาสร้างวัดก็สมควร และสำหรับผมเองมีอะไรจะช่วยเหลือได้ก็จะช่วยตามกำลังความสามารถ
       จากการสนทนาเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว ท่านทั้งสองก็ได้นำพาอาตมาภาพขึ้นไปพักที่กุฏิหญ้าคาเชิงดอยที่สร้างเสร็จแล้ว กุฏิหลังดังกล่าวยังอนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์หลังหนึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ และท่านทั้งสองก็ได้กลับลงไปพักที่บริเวณต้นน้ำซึ่งท่านแขวนกลดพักอยู่ใต้ต้นขนุน ในช่วงตอนต้นของค่ำคืนนั้น หลังจากสวดมนต์ไหว้พระเจริญสมณธรรมตามปกติแล้ว ได้พิจารณาพระธรรมวินัยที่ประพฤติปฏิบัติอยู่และดูความรู้สึกในจิตใจของตน ก็นึกแปลกใจอยู่อย่างว่า ทำไม? จิตใจของเราพอมาถึงสถานที่แห่งนี้แล้ว เหมือนกับมีความอบอุ่นอะไรบางอย่างเกิดขึ้นอย่างประหลาด ทำให้นึกถึงคำเตือนของครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติที่ท่านเคยเตือนอยู่ว่า “ถ้าไปถึงที่ใด แล้วมีความรู้สึกว่าเหมือนกับสถานที่เหล่านั้นเป็นที่อยู่ของตน ตรงนั้นจะต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมที่เราจะต้องดำเนินต่อไปให้ดีที่สุดก็ได้” และก็เผลอหลับไป ในการหลับไปของคืนแรกเป็นเรื่องแปลกมาก ฝันเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนอย่างกับเป็นเรื่องจริงๆที่เจอ และพบเห็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็น จนเวลาใกล้อรุณพอรู้สึกตัวตื่นขึ้นพยายามทบทวนความฝันก็ยังนึกแปลกใจว่า ทำไม ? ฝันยืดยาวเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้  ฝันอย่างใดนั้นเอาไว้เล่าในการเขียนนิทานเกิดวัดโพธิคุณก็แล้วกัน เพราะในที่นี้เพียงต้องการให้รู้ประวัติวัดโดยย่อๆเท่านั้น พอได้อรุณก็พากันเที่ยวโคจรบิณฑบาต เพราะบ้านประชาชนในระยะนั้นอยู่กระจัดกระจายห่างออกไปไกลมาก บางแห่งถึงสามกิโลเมตรก็มี และได้อยู่บำเพ็ญสมณธรรมกับสหธรรมิกจวนเวลาใกล้งานพระราชทานเพลิงศพ พระเดชพระคุณพระวิเชียรมุนี ต้นเดือนเมษายน 2523 จึงได้ลาท่านทั้งสองเดินทางลงกรุงเทพฯ กลับไปวัดอินทารามวรวิหาร
       และเมื่องานพระราชทานเพลิงศพของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิเชียรมุนีผ่านไปแล้ว แต่กลางเดือนเมษายน 2523 ก็ยังไม่ได้เดินทางไปไหน  เพราะพระเดชพระคุณพระราชธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันขอร้องให้อยู่ช่วยกันก่อน เพราะอาตมาภาพมาอยู่ในนิสสัยของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิเชียรมุนีตั้งแต่ปี 2500 ได้ทั้งคันถะธุระและแนวทางทางวิปัสสนาธุระเริ่มต้นจากที่นี่ จึงตั้งใจว่าจะอยู่ช่วยเป็นธุระให้กับทางวัดสักระยะหนึ่ง แต่แล้วทุกอย่างที่ว่าเป็นลางสังหรณ์ก็เริ่มปรากฏเป็นความจริงขึ้น เมื่อเวลาใกล้พรรษาในปีดังกล่าว ก็ได้รับหนังสือบอกลงไปจากคุณโยมครูประสิทธิ์ สิทธิสงคราม ว่าขอนิมนต์ขึ้นมาอยู่จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์ด้วย เพราะไม่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา และบอกไปด้วยว่าสหธรรมิกทั้งสองรูปของอาตมาภาพ คือพระอาจารย์ถาวรและพระอาจารย์วิจิตร ได้เดินทางกลับไปวัดหนองป่าพงแล้ว เมื่อทราบจากหนังสือก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า ทำไม ? ท่านทั้งสองจึงจากไปเสียทั้งที่บอกว่าจะอยู่เพื่อให้ประชาชนเขาสร้างวัด  และก็น่าจะส่งข่าวให้ทราบบ้างก็ไม่ส่งข่าวอะไรเลย แต่เมื่อญาติโยมเขานิมนต์แล้วก็ต้องไป จึงลาผู้รักษาการเจ้าอาวาสเดินทางขึ้นไป ท่านผู้รักษาการได้ให้พระบวชใหม่เป็นพระอนุจรติดตามขึ้นไปสองรูป และในพรรษาแรกเป็นที่พักสงฆ์มีพระอยู่จำพรรษาร่วมกัน 4 รูป เพราะก่อนเข้าพรรษาไม่กี่วันมีพระภิกษุเดินทางมาจากอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มาอยู่จำพรรษาด้วยอีกหนึ่งรูป ก็อยู่จำพรรษากันมาด้วยความเรียบร้อยตลอดไตรมาส
       ออกพรรษาไม่นาน  มีหลายๆอย่างเป็นเรื่องท้าทายทั้งคนและภูมิอันลึกลับ ซึ่งทำให้ทิฐิที่เขาว่านั่นแหละทิฐิพระ  ได้ตัดสินใจทันทีว่าจะต้องทำให้ได้ถ้ายังไม่ตายเสียก่อน และก็เป็นคำสั่งของครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติได้สั่งด้วยว่า “ท่านควรเอาความตายเป็นธงชัยปักไว้บนดอยให้เขาได้ดูสักองค์หนึ่ง ในฐานะพระเที่ยวกัมมัฏฐานอย่างพวกเรา” ในระยะดังกล่าวนั้นก็ได้ให้นามที่พักสงฆ์ว่า “ที่พักสงฆ์สวนโพธิญาณอรัญวาสี” เพื่อเป็นการถวายเกียรติแก่พระสายกัมมัฏฐาน คือพระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา  สุภทฺโท) ด้วย  เรื่องรายละเอียดนั้นเอาไว้เล่าในนิทานเกิดวัดโพธิคุณ จากนั้นอาตมาภาพเดินทางลงกรุงเทพฯ คือวัดอินทารามวรวิหารและได้บอกความตั้งใจที่จะสร้างวัดขึ้นให้อดีตท่านรองอธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง คือคุณอุทัย มนธาตุผลิน ทราบ และเดินทางกลับขึ้นมาที่พักสงฆ์ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2524 ปรากฏว่า น.อ. พิเศษ อาวุธ  สะมะพันธ์  ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ. นพค. 33 กรป. กลาง ได้นำเครื่องมือจักรกลของหน่วยมาตัดถนนขึ้นไปยังที่พักสงฆ์ และปรับที่บริเวณที่สร้างอุโบสถในปัจจุบันให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีคุณโยมครูประสิทธ์ เป็นผู้ดูแลบอกเขตให้ทุกอย่างเหมือนกับเป็นเรื่องที่ถอยไม่ได้แล้ว จึงได้ดำเนินการต่อไป โดยสร้างกุฏิทรงไทยถาวรขึ้น ประชาชนชาวอำเภอแม่สอดหลายๆท่านก็ได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ และปลายปี พ.ศ. 2524 คุณอุทัย มนธาตุผลิน พร้อมด้วยคุณบุญมี คุ้มชาติ คุณสมศักดิ์ กิจชูศรี คุณรัญจวน กสินธุ์ศรี และคุณทวี สุพรรณฮี เพราะขณะนั้นคุณอุทัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองกษาปณ์  ได้จัดกฐินสามัคคีพร้อมด้วยชาวคณะจังหวัดพิจิตรนำโดย คุณบุญธรรม พิทักษ์ ประถมศึกษาจังหวัดพิจิตรร่วมทอดกฐินพร้อมด้วยชาวอำเภอแม่สอด ทอดกฐินได้ปัจจัยเป็นทุนครั้งแรก 400,000 บาทเศษ และก็ดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้             
       เรื่องการดำเนินเรื่องทางกรมป่าไม้ กระทรวงเกษรและสหกรณ์ ได้รับอนุญาตที่ให้สร้างวัดได้เป็นจำนวน 15 ไร่ ตามหนังสือเล่มที่ 112 ฉบับที่ 08 ที่ทำการศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 อนุญาตให้กรมการศาสนา (โดยศึกษาธิการอำเภอแม่สอด) เมื่อได้รับอนุญาตเรื่องที่แล้ว กรรมการจึงทำเรื่องขออนุญาตสร้างวัดไปทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดได้เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2528 จากนั้นจึงทำเรื่องขอตั้งวัดในพระพุทธศาสนา ทางกระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัดชื่อ “วัดโพธิคุณ” ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องตั้งวัดในพระพุทธศาสนา ตามที่นายสีมูล เพิ่มพูล ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด ณ หมู่บ้านที่ 6 ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตากนั้น บัดนี้ผู้รับอนุญาตได้สร้างเสนาสนะขึ้นสมควรเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ได้แล้วอาศัยความตามข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และด้วยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม กระทรวงศึกษาธิการ จึงประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีนามว่า “โพธิคุณ” ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้วัดโพธิคุณ สถิตสถาพรตลอดกาลนาน ประกาศ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2529 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
       เมื่อเป็นวัดถูกต้องตามกฎระเบียบแล้ว ทางการปกครองคณะสงฆ์โดยเจ้าคณะจังหวัดตาก ได้แต่งตั้ง พระมหาวิบูลย์ พุทฺธญาโณ ป.ธ. 4 น.ธ. เอก วิชาครูพิเศษมูล เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ทางเจ้าอาวาสปรึกษาตกลงกับคณะกรรมการทำเรื่องขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศ ณ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2532 โดยมีเนื้อที่พระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 30 เมตร ยาว 50 เมตร เมื่อได้รับพระราชทานแล้ว  ทางวัดได้ดำเนินการฝังลูกนิมิตและผูกพัทธสีมาตามหลักพระวินัย ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2536 และทางเจ้าอาวาสได้ตั้งคุณอุทัย มนธาตุผลิน เป็นไวยาวัจกร ของวัดโพธิคุณตามระเบียบพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ทุกประการแล้ว
       เนื่องจากวัดโพธิคุณเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี ซึ่งมีป่าสงวนแห่งชาติติดเนื้อที่ของวัดทั้งทางทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศเหนือ ทางวัดจึงดำเนินการทำเรื่องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำเป็นพุทธอุทยาน และก็ได้รับอนุญาตให้เช่าได้ตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เล่มที่ 90 ฉบับที่ 78 ที่ทำการศาลากลางจังหวัดตาก เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2538 เป็นเนื้อที่ 250 ไร่ จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2568
       ความเป็นมาของวัดโพธิคุณ จากเป็นที่พักสงฆ์และเป็นวัดแม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มรูปแบบทุกอย่าง แต่ก็อยู่ในขั้นตอนที่เป็นวัดถูกต้องตามกฎระเบียบตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แล้ว แต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่บันทึกประวัติวัดเป็นเวลา 21 ปี ทางวัดโดยการนำของประธานสงฆ์ก็ได้พยายามดำเนินตามธุระที่พระภิกษุผู้บวชเข้ามาในพระธรรมวินัย จำเป็นจะต้องธำรงรักษาไว้นั่นคือ  “คันถะธุระ” การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ทั้งฝ่ายนักธรรมและบาลีอันเป็นพุทธพจน์ ธุระส่วนนี้พระภิกษุ-สามเณรที่จบการศึกษาในส่วนนักธรรมตรี โท เอก นั้นมากรูป และที่เป็นมหาเปรียญธรรมไปแล้วประมาณ 10 กว่ารูป “วิปัสสนาธุระ” การปฏิบัติภาวนาทั้งสมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา และบำเพ็ญธุดงควัตร ก็ไม่เคยทอดธุระ  เพราะเป็นธุระที่นักบวชผู้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้จะต้องทรงไว้เป็นหน้าที่โดยตรง            
       ส่วนเรื่องการหาทุนเพื่อสร้างเสนาสนะต่างๆนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของไวยาวัจกรและคณะกรรมการวัดเป็นผู้จัดการและดำเนินการ เพราะหน้าที่การก่อสร้างนั้นเป็นเรื่องของอุบาสก-อุบาสิกาแต่โบราณมา ซึ่งเกิดวัดในพระพุทธศาสนาเป็นวัดแรก คือวัดเวฬุวัน ที่กรุงราชคฤห์ วัดพระเชตวัน วัดบุพพาราม และวัดนิโครธาราม  ดูตามพระพุทธประวัติความเป็นมาแล้ว เป็นเรื่องของฆราวาสญาติโยมทั้งสิ้น เว้นแต่บางครั้งพระภิกษุอาจช่วยบ้างก็เพียงแต่อยู่เป็นหลักให้เกิดความแน่ใจแก่ผู้สร้างว่าจะต้องมีพระภิกษุอยู่แน่นอนเท่านั้น ไม่ใช่พระภิกษุไปเป็นธุระเสียเอง  ตามพระพุทธประวัติแล้วไม่ค่อยจะพบ เพราะไม่ใช่ธุระของผู้บวชเข้ามาในพระธรรมวินัย ถ้าทำหน้าที่ผิดธุระเสียแล้ว มันจะสับสนวุ่นวาย ธุระที่นักบวชควรจะได้ก็กลายเป็นอย่างอื่นไป เป็นการได้สิ่งที่ไม่น่าจะได้ แทนที่จะได้หัวกลับไปได้หาง หางยาวมากเข้าก็เป็นเรื่องสับสนจนในที่สุดหาทางแก้กันไม่ค่อยจะพบต้นเหตุที่แท้จริง หน้าที่คือธุระถ้าทุกฝ่ายรู้สิทธิและหน้าที่ ไม่ต้องสมบูรณ์อย่างครั้งพุทธกาล แต่ก็อย่าละเลยจนกลายเป็นส่งเสริมกันไม่ถูกที่ถูกทางจนเกินงามไป สิ่งที่ได้มันจะไม่คุ้มค่าก็เท่านั้นเอง ถ้าทุกฝ่ายรู้เข้าใจสิทธิและหน้าที่เป็นพุทธบริษัท ทั้งฝ่ายภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา อย่างดีงามตามสมควรแล้ว พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ประกาศทางเดินทางจิตวิญญาณไว้อย่างชัดเจนแล้ว คือมรรคสัจจ์ตามหลักอริยสัจจ์ ก็ยังมีทางเดินที่ไม่หลงทาง ทั้งผู้นำเดินและผู้ตามก็น่าจะไม่ก่อปัญหา “เหล็กจะพินาศก็เพราะตัวเหล็กเอง คือสนิมที่เกิดอยู่ในตัวเหล็ก” พระพุทธศาสนาอันเป็นคำสอนที่มีแต่ความบริสุทธิ์ ที่ถ่ายทอดออกมาจากพระหฤทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่ทุกเหล่าทุกฝ่ายได้ตามพระเมตตาพระมหากรุณาได้อย่างแท้จริง อยู่ที่ธุระอย่างที่ว่าแล้ว ถ้าทุกฝ่ายทำธุระให้ถูกที่ตามหน้าที่แล้ว ทางเดินยังมีเดินได้อย่างสง่างามตามหลักพุทธธรรม ไม่จำเป็นต้องไปสร้างธุระอื่นให้เป็นเรื่องผิดที่ผิดทางอย่างที่ว่า คือหัวควรเป็นหัวที่มีมันสมองที่เต็มไปด้วยความมั่นคงในพุทธธรรม ไม่ต้องไปสร้างธุระอะไรหลอนตัวเอง จนต้องสิ้นเปลืองโดยไม่มีความจำเป็น           
       วัดโพธิคุณ ทุกฝ่ายที่เข้ามาเห็นแล้ว จะถามกันอยู่อย่างต่อเนื่องว่า ใช้ทุนทรัพย์สร้างไปมากมายเท่าไร ? คำถามอย่างนี้จะเป็นคำถามซ้ำๆซากๆ จึงขอประกาศไว้ให้ทราบ ณ ที่นี้เลยว่า วัดโพธิคุณที่สร้างมาไม่ใช่มีทุนอะไรมากมายอย่างที่ทุกคนเข้าใจ  ทุนจริงๆ ที่ทางวัดมีการดำเนินการเฉลี่ยต่อปีประมาณปีละ 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาท) 20 ปีมีทุนดำเนินการเพียง 30 ล้าน ในจำนวน 30 ล้านบาทนี้ ไม่ใช่ใช้เฉพาะเรื่องการก่อสร้างทั้งหมด ทั้งค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแก่พระภิกษุ-สามเณรยังผนวกรวมอยู่ด้วย แต่ถ้าจะมีคำถามต่อว่า สร้างกันมาได้อย่างไร ? ขอตอบว่า ด้วยความจริงใจของทุกฝ่ายที่เข้ามาร่วมดำเนินการคือศรัทธาที่มั่นคงต่อพระรัตนตรัย ทุนทรัพย์ทุกอย่างที่มีดำเนินการบริหารและจัดการ จะทำเพื่อบูชาพระรัตนตรัยอย่างจริงจังและจริงใจ อะไรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าเป็นอบายหายนะ จะไม่มีอย่างเด็ดขาด “วัด” ความหมายคือจำนวนหรือพื้นที่บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา สำหรับอุบาสกอุบาสิกา, นักบวชคือพระภิกษุ-สามเณร, ธุระคือศีล สมาธิ ปัญญา, ในเนื้อที่ดังกล่าวที่เรียกว่าวัด จะเป็นพื้นที่ดังกล่าวนี้ จะไม่มีอะไรเป็นเหตุให้ต้องใช้ทุนไปในทางที่ไม่จำเป็นในเรื่องอบายหายนะ

คำสำคัญ : วัดโพธิคุณ

ที่มา : https://www.thai-tour.com/place/tak/maesot/2941

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2561). วัดโพธิคุณ. สืบค้น 1 พฤษภาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=827&code_db=610002&code_type=TK007

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=827&code_db=610002&code_type=TK007

Google search

Mic

วัดมณีไพรสณฑ์

วัดมณีไพรสณฑ์

วัดมณีไพรสณฑ์ ตั้งอยู่ถนนอินทรคีรี เขตเทศบาลเมืองแม่สอด พื้นที่ตั้งหน้าวัดติดถนนใหญ่ด้านหลังติดลำห้วยแม่สอด สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2328 ภายในวัดมีปูชนียวัตถุโบราณสถาน

เผยแพร่เมื่อ 26-01-2021 ผู้เช้าชม 543

วัดไทยวัฒนาราม

วัดไทยวัฒนาราม

วัดไทยวัฒนาราม เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบไทยใหญ่ของพม่า จึงมีความงดงาม และวิจิตรบรรจง ในส่วนภายในวัดไทยวัฒนารามนั้นมีวิหาร ศาลา และพระพุทธรูปที่น่าสนใจดังที่ทีมงาน ท่องเที่ยว.com (ท่องเที่ยวดอทคอม) จะพาไปชมกัน

เผยแพร่เมื่อ 17-08-2018 ผู้เช้าชม 3,535

ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา

ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา

เมื่อเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น มูเซอดำ ม้ง ลีซอ ฯลฯ จึงได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาบ้านอุมยอม” เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เรื่องราวของวิถีชีวิตที่น่าสนใจของชนเผ่าต่าง ๆ โดยมีการจัดนิทรรศการแสดงเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องใช้ จำลองของชาวมูเซอ และบริเวณด้านนอกยังจัดทำเป็นลานเต้น “จะคึ” ซึ่งคือการเต้นรำของเผ่ามูเซอที่นิยมเต้นกันในงาน “กินวอ” หรืองานขึ้นปีใหม่นั่นเอง  
 

เผยแพร่เมื่อ 17-08-2018 ผู้เช้าชม 1,730

ศูนย์กีฬาและสวนสาธารณะอเนกประสงค์จังหวัดตาก

ศูนย์กีฬาและสวนสาธารณะอเนกประสงค์จังหวัดตาก

อำเภอแม่สอด ได้รับงบประมาณตามแผนปฏิบัติไทยเข็มแข็ง 2555 ของจังหวัดตาก โครงการก่อสร้างศูนย์กีฬาและสวนสาธารณะอเนกประสงค์จังหวัดตาก งบประมาณ 25,000,000 บาท (ยี่สิบห้าบาทถ้วน) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ อำเภอแม่สอด ได้ขอให้จังหวัดตากส่งมอบศูนย์กีฬาและสวนสาธารณะอเนกประสงค์จังหวัดตากให้กับเทศบาลนครแม่สอดเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการใช้งาน และเป็นผู้ควบคุมดูแลบำรุงรักษาจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น 

เผยแพร่เมื่อ 03-08-2022 ผู้เช้าชม 569

ตลาดริมเมย

ตลาดริมเมย

ตลาดริมเมย หรือ สุดประจิมที่ริมเมย สะพานมิตรภาพไทย-พม่า (ประตูเชื่อมอันดามันสู่อินโดจีน) ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด สุดทางหลวงหมายเลข 105 (สายตาก-แม่สอด) เป็นสะพานสร้างข้ามแม่น้ำเมยระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับ เมืองเมียวดีสหภาพเมียนมาร์ (หรือพม่าเดิม) มีความยาว 420 เมตร กว้าง 13 เมตร สร้างเพื่อเชื่อมถนนสายเอเซียจากประเทศไทยสู่สหภาพเมียนมาร์ ตลอดจนภูมิภาคเอเซียใต้ ถึงตะวันออกกลางและยุโรป เป็นประตูสู่ อินโดจีนและอันดามัน แม่น้ำเมย หรือแม่น้ำต่องยิน เป็นเส้นกั้นเขตแดนไทย เมียนมาร์ที่ยาวถึง 327 กิโลเมตร 

เผยแพร่เมื่อ 17-08-2018 ผู้เช้าชม 3,446

สนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน (นานาชาติ)

สนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน (นานาชาติ)

สนามกีฬา 5 อำเภอชายแดน (นานาชาติ) อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นสนามกีฬาของอาเซียน ที่รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนตาก จากการเชื่อมโยง ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างประเทศได้ และรองรับโรงเรียนกีฬาของเทศบาลนครแม่สอด สำหรับสนามกีฬา 5 อำเภอชายแดนเป็นสนามกีฬามาตรฐาน มีลู่วิ่งยางสังเคราะห์ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากการวิ่งบนถนน และสามารถใช้แข่งขั้นกีฬาในระดับภูมิภาคจนไปสู่ระดับชาติได้ สถานที่จัดการเรียนการสอนของโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครแม่สอดอย่างเป็นทางการ

เผยแพร่เมื่อ 03-08-2022 ผู้เช้าชม 647

น้ำพุร้อนแม่ภาษา

น้ำพุร้อนแม่ภาษา

น้ำพุร้อนแม่ภาษา ตั้งอยู่ในตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก การเดินทางไปน้ำพุร้อนสะดวกสบาย ใช้เวลาเดินทางเพียงประมาณยี่สิบกว่านาทีจากเมืองแม่สอด บริเวณโดยรอบบ่อน้ำพุร้อนมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีการปรับปรุงตกแต่งสนามหญ้าและสวนหย่อม มีน้ำพุร้อนให้สำหรับต้มไข่ มีบ่อน้ำแร่ให้แช่เท้า และมีห้องอาบน้ำแร่

เผยแพร่เมื่อ 21-12-2020 ผู้เช้าชม 1,970

น้ำตกธารารักษ์

น้ำตกธารารักษ์

น้ำตกธารารักษ์ หรือน้ำตกผาชัน อยู่ในเขตบ้านเจดีย์โคะ เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นน้ำตกขนาดเล็กมีชั้นเดียว มีลักษณะเป็นน้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาหินปูนสูงประมาณ 30 เมตร น้ำตกแห่งนี้มีลักษณะพิเศษคือมีเจดีย์อยู่ข้างตัวน้ำตก ในบริเวณนั้นเป็นเทือกเขาไม่สูงนัก ด้านหน้ามีหนองน้ำซึ่งเด็กในพื้นที่จะไปเล่นน้ำกันที่นี่ เนื่องจากเป็นที่ค่อนข้างโล่งกว้าง และมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ใต้น้ำตกจึงมีลมเย็นๆ พัดตลอดน่าเป็นที่พักผ่อน นักท่องเที่ยวสามารถขับรถขึ้นไปดูเจดีย์บนยอดเขาได้ โดยการขับรถไปตามทางหลวงห่างจากน้ำตกประมาณ 700 เมตรจะมีทางเข้าไปตามถนนผ่านหมู่บ้านเจดีย์โค๊ะ ลัดเลาะไปตามไร่ข้าวโพดของชาวบ้าน แล้วเลี้ยซ้ายเข้าไปตามป้ายจะมีบอก หรือไม่ก็ถามชาวบ้านละแวกนั้นดู ไปได้ไม่ยาก เมื่อมาถึงบนยอดเขาแล้วจะเห็นเจดีย์ตั้งตระหง่าน พร้อมด้วยเส้นทางไปดูต้นทางของน้ำตกได้

เผยแพร่เมื่อ 21-12-2020 ผู้เช้าชม 3,252

พระธาตุหินกิ่วที่ดอยดินจี่

พระธาตุหินกิ่วที่ดอยดินจี่

ชมความมหัศจรรย์แห่งองค์พระธาตุที่ตั้งอยู่บนชะง่อนผาสูง โดยมีหินก้อนใหญ่ซึ่งมีฐานคอดกิ่วราวกับจะแยกขาด จากกันวางตัวอยู่บนหน้าผานั้น ซึ่งชาวบ้านต่างพากันขนานนามว่า “เจดีย์หินพระอินทร์แขวน” อีกทั้งหินที่อยู่บนดอยนี้ยังมีสีดำหรือน้ำตาลไหม้ บางคนจึงเรียกพระธาตุองค์นี้ว่า “พระธาตุดอยดินจี่” ซึ่งหมายถึงดินที่ถูกไฟไหม้นั่นเอง ทั้งนี้ภายในเจดีย์มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ ที่เรียกกันว่า “พญาล่อง” ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของ ชาวจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียง และในบริเวณวัดพระธาตุฯ ยังมีเรือโบราณที่มีอายุประมาณ 200 ปี พบเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539 โดยชาวบ้านวังตะเคียนได้ช่วยกันกู้ขึ้นมาเก็บรักษาไว้ที่เชิงดอยดินจี่เรือลำนี้เป็นเรือขุดจากไม้ซุงทั้งต้น 

เผยแพร่เมื่อ 17-08-2018 ผู้เช้าชม 3,981

พิพิธภัณฑ์นครแม่สอด

พิพิธภัณฑ์นครแม่สอด

เทศบาลนครแม่สอด ได้ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นครแม่สอด ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องขยายโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายและรองรับการศึกษายุคปฏิรูปให้ทันกับโลกยุคการเรียนรู้ แบบไร้ขีดจำกัด (school without walls) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน ส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อการเติบโตของความรู้ สติปัญญา และความงอกงามของจิตใจเกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่า รู้จักตนเองเกิดจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองรวมไปถึงเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน

เผยแพร่เมื่อ 03-08-2022 ผู้เช้าชม 404