ปลาไหลเผือก

ปลาไหลเผือก

เผยแพร่เมื่อ 04-06-2020 ผู้ชม 8,723

[16.4258401, 99.2157273, ปลาไหลเผือก]

ปลาไหลเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Eurycoma longifolia Jack จัดอยู่ในวงศ์ปลาไหลเผือก (SIMAROUBACEAE)
สมุนไพรปลาไหลเผือก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คะนาง ชะนาง (ตราด), กรุงบาดาล (สุราษฎร์ธานี), ไหลเผือก (ตรัง), ตรึงบาดาล (ปัตตานี), ตุงสอ ตรึงบาดาล เพียก หยิกบ่อถอง แฮพันชั้น (ภาคเหนือ), หยิกบ่อถอง หยิกไม่ถึง เอียนด่อน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ปลาไหลเผือก ไหลเผือก (ภาคกลาง), เพียก (ภาคใต้), ตุวุวอมิง ตุวเบ๊าะมิง (มาเลย์-นราธิวาส), หมุนขึ้น เป็นต้น ส่วนชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้จะเรียกต้นปลาไหลเผือกว่า "ตงกัตอาลี" (Tongkat Ali)
        สาเหตุที่เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า "ปลาไหลเผือก" เนื่องมาจากรากของสมุนไพรชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับ "ปลาไหลเผือก" คือ รากเป็นสีขาว มีลักษณะยาวคล้ายปลาไหลเผือก อีกทั้งยังมีเพียงรากเดียว จึงทำให้บางท้องถิ่นจึงเรียกอีกชื่อว่า "พญารากเดียว"
        รากปลาไหลเผือกที่ยิ่งมีอายุหลายปีจะยิ่งมีความยาวมาก ซึ่งบางครั้งอาจยาวได้มากกว่า 2 เมตร ทำให้บางท้องที่เรียกว่า "ตรึงบาดาล" ส่วนทางอีสานจะเรียกมันว่า เอี่ยนด่อน (คำว่า "เอี่ยน" ในภาษาอีสานแปลว่าปลาไหว ส่วนคำว่า "ด่อน" แปลว่าเผือก) แต่ชาวอีสานบางท้องที่จะเรียกว่า "หยิกบ่ถอง" ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะมีเรื่องเล่าตรงกันว่าในสมัยก่อนผู้ที่จะออกรบจะต้องพกปลาไหลเผือก (ที่ผ่านการปลุกเสกแล้ว) ติดตัวไปด้วย เพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และก่อนเข้าสู่สนามรบก็นำมาเคี้ยวกิน จะทำให้มีเรี่ยวแรงและพละกำลังในการรบ ทำให้อยู่ยงคงกะพัน จึงได้ชื่อ หยิกบ่ถอง อีเฒ่าหนังยาน เพราะมีความหมายว่าหนังเหนียว ผิวหนังไม่มีความรู้สึกใด ๆ

ลักษณะของปลาไหลเผือก
        ต้นปลาไหลเผือก จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง มีความสูงตั้งแต่ 1-10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านน้อย กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ก้านใบออกจากลำต้นตรงส่วนปลายของลำต้น เรียงกันหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง กิ่งก้านสั้นเป็นกระจุกที่ปลายยอดของลำต้น เป็นไม้ลงราก รากมีลักษณะกลมโตสีเขียวและยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ต้องการน้ำและความชื้นสูง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักพบขึ้นกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 700 เมตร
        รากปลาไหลเผือก รากมีลักษณะยาวและหยั่งลึกลงไปใต้ดิน กลมโต สีขาวนวล รากยิ่งมีอายุหลายปีก็จะยิ่งยาวมาก โดยอาจมีความยาวได้มากกว่า 2 เมตร รากมีรสขมและเบื่อเมาเล็กน้อย ใช้เป็นยาสมุนไพร
        ใบปลาไหลเผือก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงเวียนจากลำต้น ใบประกอบมีความยาวได้กว่า 35 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 8-13 คู่ ออกเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับหรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่เรียวยาว ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 8-12 เส้น เส้นใบเห็นได้ไม่ชัดเจน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยด้านบนและนูนเด่นด้านล่าง แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านเรียบเป็นมัน ส่วนด้านล่างใบมีขนอยู่ประปราย ไม่มีก้านใบย่อย ส่วนก้านช่อยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร
         ดอกปลาไหลเผือก ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกเป็นกระจุกที่ซอกใบและปลายกิ่ง เป็นช่อพวงใหญ่ มีความยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันหรือเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ต่างต้นกัน ที่ดอกจะมีขนสั้นและขนละเอียดเป็นต่อมกระจาย ทั้งบริเวณก้านช่อดอก ก้านดอก ใบประดับ และกลีบเลี้ยงมีขนขึ้นประปรายและมีขนต่อมเป็นกระจุก ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ และเป็นสีม่วงปนแดง มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอกจะแยกออกจากกันอย่างอิสระ ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5-6 ก้าน มีความยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร อยู่ติดสลับกับกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูมีรยางค์และมีขน ส่วนเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันในดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมีย รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มี 5-6 คาร์เพล แยกออกจากกัน ในแต่ละอันจะมีช่อง 1 ช่อง มีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียจะเรียวยาว เชื่อมกันหรือแนบชิดติดเหนือรังไข่ประมาณ 1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนยอดเกสรเป็นรูปโล่ มีแฉกประมาณ 5-6 แฉกชี้ขึ้น ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนใบประดับจะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงสั้น ที่โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย และก้านยอดยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเดือนมกราคม
         ผลปลาไหลเผือก ออกผลเป็นพวง หนึ่งพวงจะมีผลประมาณ 5 ผลย่อย ลักษณะของผลย่อยเป็นรูปทรงกลม ทรงรี หรือเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร เปลือกนอกบาง กลางผลมีร่องตื้น ๆ ตามยาว ส่วนผนังผลชั้นในมีลักษณะแข็ง ผลเมื่อแก่จะเป็นสีแดงถึงสีม่วงดำ และก้านผลยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดปลาไหลเผือกเป็นรูปรี

สรรพคุณของปลาไหลเผือก
1. รากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย คนเดินป่านิยมกันนัก เพราะจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง อดทน ช่วยคลายอาการปวดเมื่อย ป้องกันและรักษาไข้ป่าในระหว่างการเดินทาง (ราก)[1],[7]ส่วนทางภาคใต้จะใช้ทั้งแก่นและรากนำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3-4
    ครั้ง และช่วงก่อนนอนเป็นยาโด๊ปชั้นยอดที่ช่วยบำรุงกำลังและบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ทำให้เลือดไหลเวียนดี (แก่นและราก)
2. ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของราก)
3. ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง (ราก)
4. รากมีรสขม เบื่อเมาเล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่ายพิษต่าง ๆ ทุกชนิด ถ่ายฝีในท้อง ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ และโลหิต (ราก) รากปลาไหลเผือก ใช้ผสมกับรากย่านางแดงและพญายา นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยาขับพิษ (ราก)
5. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด แก้ไข้เรื้อรัง เป็นยาลดไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ไข้จับสั่น ตัดไข้ทุกชนิด ตามตำรับยาจะใช้รากแห้งหนักประมาณ 8-15 กรัมหรือครั้งละ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ราก) การใช้เป็นยาตัด
    ไข้ ให้ใช้รากแห้งนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 กำมือ แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหาร เช้าและเย็น (ราก) ส่วนทางภาคใต้จะใช้รากต้มกินเพื่อป้องกันและรักษาไข้ป่า (ราก)
6. เปลือกลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้พิษ ไข้ทรพิษ แก้ไข้เหือดหัด ไข้กาฬนกนางแอ่น (เปลือกต้น)
7. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)
8. สำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์มักจะติดเชื้อได้ง่ายและเป็นไข้อยู่บ่อย ๆ ก็อาจจะใช้รากของต้นปลาไหลเผือกนำมาต้มกินก็ได้ (ราก)
9. ช่วยแก้วัณโรค วัณโรคระยะบวมขึ้น แก้กาฬโรค (ราก)
10. ใช้รากปลาไหลเผือก รากโลดทะนงแดง และพญาไฟ นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยาทำให้อาเจียน ใช้เลิกเหล้า (ราก)
11. รากใช้ภายนอกเป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ราก)
12. ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้อาการเจ็บคอ (ราก)
13. ช่วยรักษาโรคคอพอก ด้วยการใช้ตำรับยาสามราก (ดูด้านล่าง) นำมาฝนกับน้ำมะนาว ใส่เกลือทะเล เติมน้ำใส่ขวดไว้ใช้กินต่างน้ำประมาณ 2 เดือน อาการคอพอกก็จะค่อย ๆ ยุบไป จนหายเป็นปกติ (ราก)
14. ตำรายาไทยใช้รากเป็นยาแก้ลม (ราก)
15. ช่วยแก้พิษสำแดง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของราก)
16. รากใช้ฝนกับน้ำกินหรือฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง แก้อาการปวดท้องอย่างแรงจากโรคกระเพาะหรือกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน (ราก) ช่วยแก้ท้องมาน ท้องร่วง (ราก)
17. ช่วยแก้อาการท้องผูก (ราก)
18. ช่วยแก้ฝีในท้อง ฝีในอก (วัณโรค) ด้วยการใช้ปลาไหลเผือกนำมาเคี้ยวกินได้เลย หรือจะนำมาต้มกินก่อนอาหารเช้าและเย็นก็ได้ (ราก)
19. รากใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)
20. รากใช้ผสมกับรากผักติ้วและหญ้าแห้วหมู นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะขัด (ราก)
21. เปลือกลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้เบาพิการ (เปลือกต้น)
22. ในประเทศมาเลเซียจะใช้รากเป็นยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศและเป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตร (ราก)
23. ช่วยขับถ่ายน้ำเหลือง (ราก)
24. รากใช้ภายนอกเป็นยาพอกปิดบาดแผลพุพอง (ราก)
25. ใช้แก้ฝี แผลพุพอง แผลเรื้อรัง ให้ใช้รากผสมกับน้ำปูนใสแล้วนำมาใช้ทา (ราก)
26. ต้นและรากนำมาต้มกับน้ำหรือแช่ในน้ำ ใช้อาบแก้ผื่นคันที่เกิดจากการแพ้อากาศหรือจากการแพ้สารเคมี (ต้นและราก)
27. ใช้รักษาผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อ (ราก)
28. ช่วยบรรเทาอาการผื่นคันบริเวณผิวหนัง (ราก)
29. รากใช้เป็นยาแก้พิษทุกชนิด พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษฝีทั้งภายนอกและภายใน (ราก)
30. ทางภาคใต้จะใช้รากต้มกินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย แก้ปวดทั่วไป ปวดข้อ ปวดตามร่างกาย แก้บวม แก้บิด (ราก) แก้โรคปวดเอว (ราก)
31. ช่วยรักษาโรคอัมพาต (ราก) รากปลาไหลเผือกจัดอยู่ในตำรับ "ยาประสะเหมือดคน" ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน และเป็นส่วนประกอบในตำรับ "ยาจันทน์ลีลา" หรือ "ยาจันทลีลา" (โกฐสอ, โกฐเขมา, โกฐจุฬาลัมพา, จันทน์แดง, จันทน์เทศ,
      เถาบอระเพ็ด, ลูกกระดอม, รากปลาไหลเผือกอย่างละ 4 ส่วน และพิมเสนอีก 1 ส่วน นำมาบดเป็นผง ทำเป็นยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม ใช้กินเวลามีไข้ครั้งละ 2-4 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมง) เป็นตำรับที่มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้หวัด แก้ไข้เปลี่ยนฤดู
      และยังอยู่ในตำรับ "ยาแก้ไข้ห้าราก" อีกด้วย (ราก)
32. รากปลาไหลเผือกจัดอยู่ในตำรับ "ยาสามราก" ซึ่งประกอบไปด้วยพญารากเดี่ยว (รากปลาไหลเผือก), รากโลดทะนง และรากฮังฮ้อน (พญารากไฟ) โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณทำให้อาเจียนและถ่าย ใช้เป็นยาล้างพิษสารเสพติด ใช้บำบัดผู้ป่วยที่ติดยา
      เสพติด ช่วยแก้อาการลงแดงจากยาเสพติดได้ (ตามข้อมูลระบุว่าให้ใช้รากทั้งสามนำมาฝนกับน้ำมะนาวกินก่อนอาหาร เช้าและเย็น หรืออาจต้มกับน้ำดื่มก็ได้) (ราก)
33. รากใช้ผสมในตำรับ "ยาจันทลิ้นลา" ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ รักษาอาการชัก (ราก)
34. นอกจากนี้รากปลาไหลเผือกยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีก เช่น คุณสมบัติการต้านโรคของอาการภูมิแพ้ต่าง ๆ ต้านเซลล์มะเร็ง ต้านเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อมาลาเรีย และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในมาเลเซีย
หมายเหตุ : การใช้รากตาม [3] ให้ใช้รากแห้งประมาณ 8-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่มทุกเช้าและเย็น

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของปลาไหลเผือก
1. รากปลาไหลเผือกมีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย ลดไข้ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความวิตกกังวล ออกฤทธิ์กระตุ้นความรู้สึกทางเพศในหนูทดลองตัวผู้ มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ช่วยต้านการก่อเกิดเนื้องอก[2] และมีสารต้านการอักเสบ
2. ฤทธิ์ในการลดระดับความดันเลือด จากการใช้สารสกัดจากรากปลาไหลเผือก ที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% แล้วนำไปทดลองด้วยวิธีการฉีดเข้าไปในหลอดเลือดของสุนัข พบว่าไม่สามารถลดความดันโลหิตได้
3. ฤทธิ์การต้านแพ้ จากการสกัดสารจากรากสดของต้นปลาไหลเผือกด้วยแอลกอฮอล์ 50% ในความเข้มข้นถึง 0.01 กรัมต่อซีซี แล้วทำการทดลองกับลำไส้ของหนูตะเภาที่ตัดแยกจากลำตัว พบว่าทำให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดการคลายตัว และยังสามารถต้านฤทธิ์ของ Histamine ได้อีกด้วย
4. ฤทธิ์ต้านมะเร็งและเชื้อ HIV จากการตรวจสอบเบื้องต้นสำหรับฤทธิ์การต้านมะเร็งพบว่า สารสกัดจากปลาไหลเผือกเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อเอดส์อีกด้วย
5. มีข้อมูลระบุว่าสมุนไพรชนิดนี้มีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่มีฤทธิ์เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidance)
6. ฤทธิ์ลดไข้ จากการสกัดสารจากรากแห้งของต้นปลาไหลเผือกด้วยแอลกอฮอล์ 50% แล้วทำการทดลองให้สารสกัดที่ได้ผ่านทางสายยาเข้าช่องท้องของกระต่ายทดลองที่ถูกกระตุ้นด้วยยีสต์ให้เป็นไข้ พบว่าไม่มีผลต่อการลดไข้เลย
7. ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย รากพบสารออกฤทธิ์ที่มีรสขมในกลุ่ม quassinoids ได้แก่ eurycomanone, eurycomanol, eurycomalactone ซึ่งทั้งสามชนิดนี้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัม (Plasmodium falciparum) ในหลอดทดลอง และจากการสกัดสารที่เปลือกรากแห้ง ด้วยแอลกอฮอล์ 50% พบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum ได้ดีเช่นเดียวกับสารที่สกัดด้วยน้ำ
8. ฤทธิ์เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ได้มีการศึกษาทดลองทั้งหนูทดลองสูงอายุ ในหนูที่มีอายุปานกลาง และในหนูหนุ่มที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ พบว่า สารสกัดจากรากปลาไหลเผือกสามารถช่วยปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศ เพิ่มความทนทานในการมีเพศสัมพันธ์ได้ดีและนานกว่าหนูในกลุ่มควบคุม แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษานี้ในคนถึงประสิทธิผลของสมุนไพรชนิดนี้
9. ฤทธิ์กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย มีการศึกษาพบว่า สารสกัดจากรากสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย หรือ Testosterone ได้ จนนำไปสู่การจดสิทธิบัตรสารเคมีและวิธีการสกัด โดยมีสรรพคุณในการช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงของนักกีฬา
10. ความเป็นพิษ จากการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากรากปลาไหลเผือกด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,786 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน) และทำการทดลองโดยการฉีดเข้าทางใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษ ซึ่งสอดคล้องกับกองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่รายงานว่าไม่มีพิษ แต่อีกข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม) ได้ระบุว่าเมื่อใช้ "สารสกัดชนิดหนึ่ง" (ไม่ได้ระบุว่าชนิดไหน) ที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ แล้วทำการฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังและทางช่องท้องในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าเกิดเป็นพิษในหนูถีบจักรทดลอง คือทำให้เกิดอาการชักกระตุก หายใจลึก และทำให้หัวใจหยุดเต้นในท่าบีบตัว

ประโยชน์ของปลาไหลเผือก
1. ในสมัยก่อนมีความเชื่อว่าปลาไหลเผือกเป็นของศักดิ์สิทธิ์ นักรบในสมัยโบราณนิยมกันนัก เพราะเชื่อว่าจะทำให้หนังเหนียว อยู่ยงคงกระพัน และช่วยบำรุงพละกำลังได้อย่างดีเยี่ยม
2. รากปลาไหลเผือกมีสรรพคุณในการล้างพิษ จึงถูกนำมาใช้เป็นยาล้างพิษยาเสพติด เพื่อช่วยบำบัดผู้ติดยาเสพติด แก้อาการลงแดงจากยาเสพติด โดยจะใช้อยู่ในรูปของตำรับ "ยาสามราก" อันประกอบไปด้วยรากปลาไหลเผือก รากโลดทะนงแดง และต้นฮัง
    ฮ้อน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพรถอนพิษทั้งสิ้น
3. ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำเร็จของผงรากปลาไหลที่บรรจุในแคปซูล (ขนาด 400 มิลลิกรัม) เพื่อการบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งประสิทธิภาพนั้นก็ขึ้นอยู่กับอายุและร่างกายของผู้รับประทาน (แนะนำให้กินก่อนอาหารเช้า และให้กิน 2 วัน หยุด 2 วัน
    หรือทุก 3 วัน หรือกินวันเว้น)
4. สารสกัดจากสมุนไพรปลาไหลเผือกได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นของสหรัฐอเมริกาอยู่หลายสิทธิบัตร เช่น สิทธิบัตรการปรับระดับฮอร์โมนเพศชายด้วยการใช้ปลาไหลเผือก สิทธิบัตรสารเคมีที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นฮอร์โมนเพศชาย สิทธิบัตรในการเป็นยาทา
    ภายนอกเพื่อเพิ่มระดับของฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต สิทธิบัตรในการเป็นส่วนประกอบและวิธีการในการเพิ่มกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็ง เพิ่มสมรรถภาพของนักกีฬา การลดไขมันและนำไปสู่การลดน้ำหนัก สิทธิบัตรในการเป็นยาเพิ่ม
    สมรรถภาพทางเพศในรูปของแคปซูลและยาเม็ด และสิทธิบัตรในการเป็นส่วนประกอบของสารสกัดจากพืชที่ใช้รักษาอาการหัวล้านในเพศชาย
5. จากการต่อยอดจากผลงานวิจัยจนเกิดการจดสิทธิบัตรอีกหลายฉบับ จึงทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยจะเป็นสินค้าที่อยู่ในรูปของอาหารเสริมและเครื่องดื่มเป็นหลัก ซึ่งจะใช้ปลาไหลเผือกเป็นส่วนประกอบหลัก ในการ
    ผลิตสินค้ามากกว่า 100 ชนิด โดยทั้งหมดจะเน้นไปที่คุณสมบัติทางด้านการเสริมสมรรถภาพทางเพศเป็นหลัก และอาจกล่าวได้เป็นไวอากราจากธรรมชาติกันเลยทีเดียว
        นอกจากนี้ปลาไหลเผือกยังมีสรรพคุณอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นคำโฆษณาจากสินค้าที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมปลาไหลเผือกทั้งหลายบนเว็บไซต์ (เพียงแต่ผู้เขียนยังหาแหล่งอ้างอิงของสรรพคุณส่วนนี้มายืนยันไม่ได้ จึงไม่ขอยืนยันความถูกต้องของข้อมูลนะครับ แนะนำว่าควรใช้วิจารณญาณประกอบไปด้วยครับ) เช่น ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ต่อต้านอนุมูลอิสระ ต้านความเครียดและลดความกังวล ชะลอความเสื่อมหรือความแก่ชราของร่างกาย เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ช่วยเพิ่มพลังงาน เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดอาการเมื่อยล้า แก้อาการอ่อนเพลีย แก้อาการเมาค้าง นอนไม่หลับ มีอาการไอเรื้อรัง รักษาโรคเลือด โรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ ไมเกรน โรคปอด โรคตับ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ กินของแสลง อาหารเป็นพิษ แก้ตกขาว ประจำเดือนดำ แก้อาการปวดมดลูก ลดสภาวะวัยทองทั้งชายและหญิง สร้างสมดุลให้กับฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ช่วยเพิ่มจำนวนสเปิร์มในน้ำอสุจิ เพิ่มความแข็งแรงและความคล่องตัวในการเคลื่อนไหวของสเปิร์ม บำรุงสเปิร์มและไขกระดูก ช่วยบำรุงไต แก้น้ำเหลืองไม่ดี แก้ประดงต่าง ๆ แก้งูสวัด แก้สะเก็ดเงิน แก้เส้นเอ็นอักเสบ แก้อาการปวดฟัน ปวดข้อ ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดเอว ปวดกระดูก มือเท้าชา ข้อเสื่อมรูมาติก เกาต์ แก้อาการปวดข้อของสตรีในวัยหมดประจำเดือน เป็นอัมพฤกษ์เริ่มแรก เป็นมะเร็งเริ่มแรก โบราณว่าเป็นยาสำหรับใช้รักษาโรคได้ 108 ชนิด และได้ระบุวิธีการใช้รักษาอาการต่าง ๆ ไว้ดังนี้
        1. เบาหวาน ความดันโลหิต ให้รับประทานยาแคปซูลครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือให้ใช้รากแห้งนำมาต้มกับน้ำกิน
        2. ริดสีดวงจมูกและริดสีดวงทวาร ให้รับประทานยาแคปซูลครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น สำหรับริดสีดวงทวารถ้าหัวโผล่ออกมาก็ให้ทำเป็นยาทาด้วย
        3. แก้ปวดฟัน ให้ใช้ยาผงนำมาอุดฟันที่มีอาการปวดแล้วอมไว้ประมาณ 5 นาที อาการปวดจะหายไป
        4. แก้หอบหืด ให้ใช้ยาผงบดกับน้ำซาวข้าว ใช้กิน 1 แก้ว หรือใช้ต้มกินเช้าและเย็น
        5. โรคกระเพาะอาหาร ให้ชงยาผงบดกับน้ำเปล่า 1 แก้ว ใช้กินก่อนอาหารวันละ 3 แก้ว
        6. หากกินของแสลง อาหารเป็นพิษ หรือมีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีอาการอ่อนเพลีบ เมาค้าง ไอเรื้อรัง ให้ใช้ยาผงชงกับน้ำอุ่นดื่ม 1 แก้ว
        7. งูสวัด ให้ใช้ยาผงผสมกับน้ำมะนาว แล้วนำมาใช้ทารอบแผลอย่างช้า ๆ
        8. สะเก็ดเงิน ให้ใช้ยาผงผสมกับมะนาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น
        9. แก้พิษต่าง ๆ เช่น ตะขาย แมงป่อง ปลาดุก ฝี ผดผื่นคัน ให้ใช้ผงผสมกับน้ำมะนาวนำมาแล้วจะหาย
        10. บ้างว่ารสขมจากรากจะสามารถทำให้การหลั่งน้ำลายเพิ่ม กระตุ้นทำให้อยากอาหาร

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรปลาไหลเผือก
1. หากเพิ่งใช้สมุนไพรปลาไหลเผือกในรูปของยาผงครั้งแรก แนะนำว่าให้ใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าที่แนะนำก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณการใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจตามมา
2. เนื่องจากรากปลาไหลเผือกมีเป็นสมุนไพรที่มีพิษเบื่อเมา การนำมาใช้จึงต้องระวัง เพราะสำหรับบางคนแล้วเมื่อกินเข้าไปก็อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย วิงเวียนศีรษะ หรือมีไข้อ่อน ๆ หากมีอาการดังกล่าวก็ให้หยุดรับประทานแล้วดื่มน้ำเยอะ ๆ จนกว่าอาการ
    จะหายไป และทางที่ดีควรเริ่มกินในปริมาณน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณตามคำแนะนำ
3. การใช้เพื่อเป็นยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศนั้น ไม่ควรกินยาผงเกิน 1 กรัม (1,000 มิลลิกรัม) ต่อวัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 1 เดือน แต่ให้ใช้และหยุดในระยะเวลาเท่ากัน ๆ
4. การใช้ในปริมาณที่สูงเกินไปและติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงของแอนโดรเจน ทำให้ต่อมลูกหมากโตและทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้
5. แม้ว่าสมุนไพรหลาย ๆ ชนิด จะนำมาดองกับเหล้าเพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง แต่สำหรับสมุนไพรชนิดนี้ไม่ควรนำมาดองกับเหล้ากิน เนื่องจากมีสารอัลคาลอยด์ที่เป็นพิษอยู่ ซึ่งเป็นสารที่สามารถละลายได้ดีในแอลกอฮอล์

คำสำคัญ : ปลาไหลเผือก

ที่มา : https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). ปลาไหลเผือก. สืบค้น 28 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1660&code_db=610010&code_type=01

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1660&code_db=610010&code_type=01

Google search

Mic

มะคังแดง

มะคังแดง

มะคังแดง จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความของต้นได้ประมาณ 6-12 เมตร ใบดกหนาทึบ เปลือกลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมทั่วไป ตามโคนต้น ลำต้น และกิ่งมีหนามขนาดใหญ่โดยรอบ พุ่งตรงออกเป็นระยะ ตามกิ่งก้านอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด พบได้ตั้งแต่อินเดีย อินโดจีน พม่า และไทย มักขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเต็งรัง และตามป่าเบญจพรรณ

เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 2,240

มะดูก

มะดูก

มะดูก ชื่อวิทยาศาสตร์: Siphonodon celastrineus เป็นพืชในวงศ์ Celastraceae มีหูใบแต่ร่วงง่าย ใบเดี่ยว มักจักเป็นซี่ฟันตื้นๆ ดอกช่อออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ดอกสีขาวครีม มีจุดสีน้ำตาลแดง มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรตัวผู้ 5 อัน ก้านชูแบน ผลรูปรีหรือกลม สีเขียวหรือเขียวอมเหลืองผลสุกรับประทานได้ รากใช้แก้พิษฝี หรือผสมกับสมุนไพรอื่นเพื่อทำเป็นยาบำรุงกระดูก ดับพิษ

เผยแพร่เมื่อ 20-02-2017 ผู้เช้าชม 2,011

กรดน้ำ

กรดน้ำ

ต้นกรดน้ำเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุ 2 ปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 30-80 เซนติเมตร เป็นพุ่ม แตกกิ่งแผ่สาขามาก ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยมไม่มีขน กิ่งเล็กเรียว ใบกรดน้ำใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามหรือเป็นวงรอบข้อ ข้อละ 3-4 ใบ แผ่นใบมีขนาดเล็กเป็นสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปรูปรีเรียว รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปสีเหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบเรียวสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยตรงส่วนใกล้โคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-15 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-35 มิลลิเมตร ท้องใบมีต่อม ก้านใบสั้นมากหรือแทบไม่มี

เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 2,536

ถั่วลิสง

ถั่วลิสง

ถั่วลิสง (Peanut, Groundnut, Monkeynut, Arachis) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้นล้มลุก ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคเหนือและอีสานเรียก ถั่วดิน ส่วนประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรีเรียก ถั่วคุด เป็นต้น ซึ่งถั่วลิสงนั้นจัดเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนทางทวีปอเมริกาใต้ มีทั้งสายพันธุ์ป่าซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 19 ชนิดด้วยกัน และสายพันธุ์สำหรับปลูกซึ่งจะมีอยู่เพียงชนิดเดียวเรียกว่า Hypogaea โดยเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยเลยทีเดียว แต่ส่วนใหญ่จะพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 6,621

น้ำนมราชสีห์

น้ำนมราชสีห์

น้ำนมราชสีห์ ทั้งต้น เก็บในฤดูร้อน ล้างสะอาด ตากแห้ง เก็บเอาไว้ใช้หรือใช้สด มีรสฉุน เปรี้ยว เย็นจัด ใช้แก้พิษ ขับน้ำนม แก้ผดผื่นคัน ลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรีย หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ฝีในปอด มีพิษบวมแดง ฝีที่เต้านม ขาเน่าเบื่อย

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 3,070

ขีกาขาว

ขีกาขาว

ลักษณะทั่วไป ต้นเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยตามพื้นดิน เถาจะกลมและโตขนาดเท่าก้านไม้ขีดไฟหรือโตกว่าเล็กน้อย ตามข้อของเถาจะมีมือเกาะ ใบจะมีขนหนากลมโต ดูผิวเผินแล้วจะคล้ายผักเขียว แต่เถาและใบจะเล็กกว่าไม่กลวง ดอกโตและมีสีขาว ผลมีลักษณะกลมและโต มีผลขนาดเท่าผลมะนาว ผลสุกมีสีแดง  นิเวศวิทยาชอบขึ้นเองตามธรรมชาติบนพื้นดินที่รกร้างทั่วไป และตามไร่นา  การขยายพันธุ์ใช้เมล็ด ประโยชน์ด้านสมุนไพร เถาใช้ปรุงยาบำรุงถุงน้ำดี ลูกถ่ายแรงกว่าเถา บำรุงงาน้ำดีล้างเสมหะ ดับพิษเสมหะและโลหิต รักษาตับปอดพิการ ใช้เถาต้มกับน้ำให้เดือดนาน ๆ ใช้เป็นยาฆ่าเรือดไรและเหาได้ ใบสดใช้ตำสุมขม่อมเด็กเวลาเย็น รักษาอาการคัดจมูกได้ดี ใช้ปรุงเป็นยา ขี้กาขาวจะใช้น้อยกว่าขี้กาแดง

เผยแพร่เมื่อ 13-02-2018 ผู้เช้าชม 1,896

ผักกวางตุ้ง

ผักกวางตุ้ง

กวางตุ้ง เป็นผักที่นิยมนำมาประกอบอาหาร ไม่ว่าจะผัดหรือต้มเป็นแกงจืด ให้รสชาติหวานกรอบ โดยเฉพาะเมนูบะหมี่หมูแดงหรือเกี๊ยวก็จะมีผักชนิดนี้แซมอยู่เสมอ โดยสามารถรับประทานได้ทั้งลำต้น ใบ และดอก ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค แต่จะนิยมนำมาปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทาน ตามธรรมชาติแล้วผักกวางตุ้งจะมีเส้นใยเหนียวๆ เคี้ยวยากสักหน่อย

เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 12,396

บานไม่รู้โรยป่า

บานไม่รู้โรยป่า

บานไม่รู้โรยป่า จัดเป็นไม้ล้มลุก แผ่กิ่งที่โคนต้น แตกกิ่งก้านสาขานอนราบไปกับพื้นดิน ส่วนปลายยอดและช่อดอกชูขึ้น มีความสูงได้ประมาณ 40 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวแกมขาว ไม่มียาง แต่มีขนยาวคล้ายสำลีขึ้นปกคลุมอย่างเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ แพร่กระจายพันธุ์มาสู่เขตร้อนที่อบอุ่นกว่า ในประเทศไทยมักพบขึ้นเป็นวัชพืชในพื้นที่เปิดโล่งมีแดดส่องถึง ตามที่รกร้างริมทาง ตามที่สาธารณะทั่วไป เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น พิษณุโลก นครราชสีมา สระบุรี กรุงเทพฯ เพชรบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี และภาคใต้ทุกจังหวัด

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 11,364

ชิงชัน

ชิงชัน

ชิงชัน (Tamalin, Rosewood, Black-wood) เป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ภาคอีสานเรียก ประดู่ชิงชัน ส่วนภาคเหนือเรียก เกิดแดง เป็นต้น และที่สำคัญคือต้นชิงชันนี้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดหนองคายอีกด้วย ซึ่งต้นชิงชันนี้จะทำการขยายพันธุ์โดยเมล็ด เป็นไม้กลางแจ้ง ส่วนใหญ่อยู่ในป่าดิบแล้ง หรือป่าเบญจพรรณทั่วไป โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีกับดินทุกชนิดในทุกภาคของประเทศไทย, ลาว และพม่า ยกเว้นในภาคใต้ของไทยเท่านั้นที่ไม่สามารถกระจายพันธุ์ของชิงชันได้ นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าต้นชิงชันมักจะเจริญอยู่ร่วมกับไม้ไผ่และไม้สักหรือในป่าเต็งรังด้วย

เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 23,539

บุกอีรอกเขา

บุกอีรอกเขา

บุกอีรอกเขา จัดเป็นไม้ล้มลุกข้ามปี มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เจริญเติบโตได้ในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี พบได้ทั่วไป ชอบขึ้นตามริมแม่น้ำ ในพื้นที่โล่ง ทุ่งหญ้า พื้นที่ที่มีความชื้นสม่ำเสมอและฝนตกชุก ใบบุกอีรอกเขา ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านใบยาวมีลักษณะกลมและอวบน้ำ ไม่มีแกน ยาวประมาณ 50-120 เซนติเมตร ใบมีลายสีเขียว เทา น้ำตาล และดำเป็นจุดพื้นจุดด่าง มีก้านใบย่อยแตกออกจากปลายก้านใบ 2-3 ก้าน และมีใบประดับ 10-120 ใบ ออกเป็นคู่ ลักษณะเป็นรูปคล้ายหอก ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-50 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ผิวใบเป็นคลื่น หูใบติดกับก้านใบย่อย

เผยแพร่เมื่อ 02-06-2020 ผู้เช้าชม 12,456