วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)

วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)

เผยแพร่เมื่อ 11-02-2017 ผู้ชม 2,848

[16.4928485, 99.4527812, วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)]

          วัดนาควัชรโสภณ เดิมชื่อ วัดช้าง สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ประมาณหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นวัดที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่หน้าเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงข้ามกับวัดเจ้าเมือง กำแพงเพชร เป็นวัดอยู่ในกลุ่มอรัญญิกด้านทิศตะวันออก รูปแบบสภาพแวดล้อมทั้งหมดได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยลพบุรีหรือขอม นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของถนนพระร่วงตัดผ่านหน้าวัดนี้ด้วย วัดช้างนับเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาประมาณ ๗๐๐ ปีเศษ ลักษณะสภาพโดยทั่วไปของกลุ่มโบราณสถานจะถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๙ เมตร มีเนื้อที่ตั้งวัด ๖๒ ไร่ การคมนาคมสะดวก บริเวณวัดสะอาด ร่มรื่นด้วยต้นไม้ สวยงามตามธรรมชาติ  วัดช้าง เป็นวัดที่ร้างจากพระสงฆ์มาประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ ปี ครั้นลุถึงปีพุทธศักราช พ.ศ. ๒๕๐๙ พระวิชัย ปสนฺโน
          ๑ ได้จาริกธุดงค์มาปักกลดจำพรรษาอยู่ ณ บริเวณ เจดีย์โบราณสถานวัดช้าง โดยในช่วงดังกล่าวได้ปฏิบัติธรรมและเทศนาอบรมสั่งสอนพุทธศานิกชนแถบถิ่นนี้เป็นอย่างดี จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และได้อุปัฏฐากบำรุงท่านเป็นลำดับ ต่อมา จ.ส.อ. ศักดิ์ และนางสังเวียน เดชานนท์ มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินมอบถวายให้สร้างวัด และภายหลังมีผู้ซื้อที่ดินถวายเพิ่มเติมอีก รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น ๗๖ ไร่ ๑ งานเศษ
           ๒ จากนั้นได้เริ่มสร้างเสนาสนะที่พักอาศัย สาธารณูปการที่จำเป็นต่างๆ มีการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณรที่มาอยู่จำพรรษาที่วัดช้างแห่งนี้ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
           ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้ขออนุญาตสร้างวัด และเริ่มก่อสร้างอุโบสถ โดยได้รับความอุปถัมภ์จาก พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร และได้สร้างตำหนักทรงธรรม-สังฆราชานุสรณ์ เพื่อเตรียมรับเสด็จ พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฐายีมหาเถระ) ซึ่งได้เสด็จมาทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ ใน พ.ศ. ๒๕๑๓         
             พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฐายี) ได้ประทานชื่อจากวัดช้าง (เดิม) เป็น “วัดนาควัชรโสภณ” และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ มีพื้นที่ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓๒ ถนนราชดำเนิน ๒ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จึงนับได้ว่า “วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)” เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แห่งแรกในจังหวัดกำแพงเพชร
            พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เป็นพระสุปฏิปันโนรักษาข้อวัตรปฏิบัติตามแนวพระกัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ชาวจังหวัดกำแพงเพชร ให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอันมาก นอกจากการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ท่านยังได้จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาด้านสาธารณูปการต่างๆ ภายในวัด อีกทั้งได้ขยายวัดและสำนักสงฆ์ออกไปสู่ตำบลและอำเภอต่างๆ อีกหลายแห่ง ด้านการคณะสงฆ์ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้รับความเมตตาจากพระเถระผู้ใหญ่ให้การอุปถัมภ์สนับสนุน อาทิ พระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินฺตเถโร)       
              ๓ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม, พระอริยเมธี (ปฐม อุดมดี) และ พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม ร่วมกับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และอุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างวัดและสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรอีกหลายแห่ง จนสามารถตั้งเป็นเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) โดย พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร (ธรรมยุต) เป็นองค์ปฐม         
             วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้มรณภาพลงด้วยโรคกลัวน้ำ รวมสิริอายุ ๕๖ ปี ๓ เดือน นับว่าวงการคณะสงฆ์ได้สูญเสียพระสังฆาธิการที่มีความคิดริเริ่มพัฒนา และวางรากฐานของงานคณะสงฆ์ธรรมยุตในเขตภาคนี้ให้เป็นปึกแผ่นไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง   ต่อมา พระมหาสมจิตต์ อภิจิตฺโต กรรมการเลขานุการ มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ที่ไปพำนักจำ พรรษ าอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยความอุปถัมภ์สนับสนุนจากพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ พระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม)๔ วัดบวรนิเวศวิหาร และ นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้พาคณะญาติโยมผู้มีจิตศรัทธามาช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรม อาคารที่พักพระภิกษุสามเณร อาคารหอสมุด และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ศึกษา และปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรให้เป็นที่สัปปายะยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ยังได้เปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น เพื่ออบรมเยาวชนให้ได้รับความรู้ด้านศีลธรรม หลักธรรมตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ตลอดจนจริยธรรมอันดีงาม และได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วชิรกุญชร มัธยม เพื่อการศึกษาวิชาสามัญศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย และในช่วงเดียวกันนี้ พระครูโสภณธรรมวัชร์ (เฉลิม วีรธมฺโม)๕ ได้มาดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ พร้อมกับดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร (ธรรมยุต) สืบต่อจากพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้มรณภาพลง         
             เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน ในการพระราชทานเพลิงศพ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) และเสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดอาคารสมเด็จพระญาณสังวร หอสมุดสมเด็จพระญาณสังวร และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ต่อมาได้มีการปรับปรุงบริเวณพื้นที่และก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่างภายในวัดนาค วัชรโภณ เป็นลำดับ คือ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา มหาราชินี, พ.ศ. ๒๕๓๖ ก่อสร้างอาคาร ๘๐ พรรษา สมเด็จพระสังฆราช วิหารพระไพรีพินาศ, อาคารที่พักพระภิกษุ-สามเณร เป็นต้น รวมงบประมาณการพัฒนาด้านสาธาณูปการ และการจัดการศึกษาแผนกต่างๆ ของสำนักเรียนวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากมูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ โดยการบริจาคร่วมของพุทธศาสนิกชน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๐,๔๗๗,๔๗๖.- บาท (หกสิบล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันสี่ร้อยเจ็ดสิบหกบาทถ้วน)         
             ปัจจุบัน วัดนาควัชรโสภณ ใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญศึกษา และยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชน แห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นสำนักเรียนที่ใช้เป็นสถานที่สอบธรรมชั้นนวกะภูมิและสอบธรรมสนามหลวง สำหรับพระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุติกนิกายมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ในเขตนี้อีกด้วย จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดอุทยานการศึกษา และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดนาควัชรโสภณ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๙
             พ.ศ. ๒๕๔๒ พระจันทโคจรคุณ (เฉลิม วีรธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ ได้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เป็น เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร-พิจิตร-พิษณุโลก-สุโขทัย-อุตรดิตถ์-ตาก (ธรรมยุต)
             พ.ศ. ๒๕๔๓ พระจันทโคจรคุณ (เฉลิม วีรธมฺโม) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ที่ “พระราชสารโมลี” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓

ภาพโดย : http://www.panoramio.com/photo/11408268

 

คำสำคัญ : วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)

ที่มา : https://www.web-pra.com

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2560). วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง). สืบค้น 17 กรกฎาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?code_db=610009&code_type=01&nu=pages&page_id=275

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=275&code_db=610009&code_type=01

Google search

Mic

เจดีย์ทรงปราสาท

เจดีย์ทรงปราสาท

เจดีย์ทรงปราสาท จากการวิเคราะห์องค์ประกอบส่วนต่างๆ เบื้องต้นของเจดีย์วัดพระแก้ว เราได้ตั้งสมมติฐานเบื้องต้นว่าเจดีย์วัดพระแก้ว สรรคบุรีนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจดีย์สองแบบด้วยกันเจดีย์แบบแรกคือเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดซึ่งมีเค้าโครงปรากฏในเจดีย์วัดพระแก้วในส่วนฐาน, เรือนธาตุสี่เหลี่ยมและสถูปยอด ส่วนเจดีย์อีกแบบหนึ่งคือเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่มีเค้าโครงปรากฏในส่วนบนของเจดีย์ตั้งแต่เรือนธาตุแปดเหลี่ยมขึ้นไปจนถึงส่วนยอด (ลายเส้นที่ 6) ดังนั้นเพื่อที่จะตรวจสอบสมมติฐานดังกล่าว จะได้ทำการศึกษาองค์ประกอบส่วนล่างของเจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอดก่อน

เผยแพร่เมื่อ 03-04-2019 ผู้เช้าชม 2,807

วัดพระสี่อิริยาบถ หรือ วัดพระยืน

วัดพระสี่อิริยาบถ หรือ วัดพระยืน

มณฑปจตุรมุข ซึ่งมีรูปแบบเหมือนดังที่พบที่วัดเชตุพนและวัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย จากจารึกลานเงินที่พบบริเวณเจดีย์รอบมณฑปได้กล่าวไว้ว่าพระมหามุนีรัตนโมลีเป็นผู้สร้างและเสด็จพ่อพระยาสอยเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรในยุคนั้น โดยโบราณสถานแห่งนี้ มีเอกลักษณ์ตรงที่แต่ละทิศเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 4 ปางหรือ 4 อิริยาบถ อันได้แก่ อิริยาบถยืน (ปางประทานอภัย)  อิริยาบถเดิน (ปางลีลา) อิริยาบถนั่ง (ปางมารวิชัย) และอิริยาบถนอน (ปางไสยาสน์) โดยปัจจุบันเหลือเพียงอิริยาบถยืน (ปางประทานอภัย) ที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์กว่าอิริยาบถอื่นๆ กล่าวคือพระพักตร์เป็นลักษณะพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยแบบกำแพงเพชร คือพระนลาฏกว้างพระหนุเสี้ยม

         
         

เผยแพร่เมื่อ 08-02-2017 ผู้เช้าชม 8,679

วัดเจดีย์กลางทุ่ง

วัดเจดีย์กลางทุ่ง

เมื่อท่านชมโบราณสถานฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิงตามสมควรแล้ว ถ้ามีเวลาพอก็ข้ามสะพานกำแพงเพชรไปยังเมืองนครชุมฝั่งตะวันตก ท่านจะพบเจดีย์มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์กโลทัยอยู่ทางซ้ายมือ ไม่ห่างจากถนนมากนัก วัดนี้ชื่อวัดเจดีย์กลางทุ่ง ฐานสีเหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร มีฐานเชียงซ้อนกัน 3 ชั้น แล้วถึงหน้ากระดานย่อเหลี่ยม 4 มุม ๆ ละ 5 เหลี่ยม ตอนบนเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัวตูม วัดนี้ยังไม่ได้ขุดแต่งบูรณะ

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 4,270

วัดป่ามืดใน

วัดป่ามืดใน

วัดป่ามืดในแห่งนี้ ที่น่าชมยิ่ง ไม่เหมือนวัดใดทุกแห่งในกำแพงเพชร คือมณฑปที่ขนาดใหญ่และงดงามที่สุด ในอดีตเมื่อมองภาพย้อนกลับไป วัดป่ามืดในจะงดงามน่าชม เหลือที่จะพรรณนา เมื่อมีโอกาสชมมณฑปของวัดป่ามืดใน จะประทับใจไปอีกนานแสนนาน

เผยแพร่เมื่อ 23-02-2017 ผู้เช้าชม 2,410

วัดหนองพิกุล

วัดหนองพิกุล

บริเวณอรัญญิก เมืองนครชุม มีวัดโบราณเก่าแก่แปลกและสวยงามอยู่วัดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกขานกันว่าวัดหนองพิกุล อยู่บริเวณทางเข้าวัดพิกุล หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุมจังหวัดกำแพงเพชร ในท่ามกลาง วัดซุ้มกอ วัดหนองพุทรา วัดหนองลังกา วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล และบริเวณวัดเจดีย์กลางทุ่งอันงดงามตระการตา

เผยแพร่เมื่อ 12-02-2017 ผู้เช้าชม 3,866

วัดสว่างอารมณ์

วัดสว่างอารมณ์

หลวงพ่ออุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์ จัดเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ที่มีพุทธลักษณะงดงามหาใดเปรียบ และมีขนาดใหญ่ที่สุดในกำแพงเพชร โดยมีหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงเกือบ 3 เมตร ถือเป็นหลักฐานสำคัญยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างกำแพงเพชรและหัวเมืองฝ่ายเหนือ  เป็นวัดตั้งอยู่ที่ตำบลนครชุมภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองกำแพงเพชร คือหลวงพ่ออุโมงค์ เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน มีพุทธลักษณะงดงามเชื่อกันว่าพบหลวงพ่ออยู่ในดินลักษณะคล้ายจอมปลวก จากการขุดคล้ายหลวงพ่ออยู่ภายในอุโมงค์จึงเรียกกันว่าหลวงพ่ออุโมงค์ นอกจากนี้โดรอบวัดมีบรรยากาศที่ไม่แออัด จอแจ ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปยืน “หลวงพ่อประทานพร” ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าหอระฆัง หลังคาของหอระฆังได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมทางเหนือ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกำแพงเพชร ในฐานะหัวเมืองฝ่ายเหนือ

เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้เช้าชม 4,897

วัดคูยาง

วัดคูยาง

วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่และมีปริศนาอยู่ เนื่องจากไม่มีผู้ใดสืบหาได้ว่าวัดนี้มีชื่อว่าอะไร ใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยไหนไม่มีใครสามารถหาคำตอบได้ แต่มีผู้สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้มีอายุมากกว่า 400 ปี จนเข้าสู่สมัยของพระบามสมเด็จกระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงได้มีผู้ก่อตั้งวัดขึ้นมาใหม่ในบริเวณที่ตั้งเดิม ในปีพ.ศ. 2394- 2399 ปัจจุบันได้มีพระเทพปริยัติเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชรเป็นเจ้าอาวาสของวัดแห่งนี้

เผยแพร่เมื่อ 12-02-2017 ผู้เช้าชม 3,305

วัดหนองลังกา

วัดหนองลังกา

กลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองนครชุมแตกต่างจากกลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร คือส่วนใหญ่นิยมสร้างด้วยอิฐ ขนาดสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตมากนัก วัดที่สำคัญ เช่น วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย รูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จมาเมืองนครชุม

เผยแพร่เมื่อ 12-02-2017 ผู้เช้าชม 3,047

วัดพระกรุสี่ห้อง

วัดพระกรุสี่ห้อง

วัดกรุสี่ห้อง โบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง เป็นโบราณสถานอยู่ที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ปรากฏโบราณสถานอยู่ทั่วไป รวมถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์

เผยแพร่เมื่อ 08-02-2017 ผู้เช้าชม 2,156

วัดมะคอก

วัดมะคอก

เป็นวัดที่สำคัญอีกวัดหนึ่ง ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งชื่อตามชื่อต้นไม้ในบริเวณวัดคือต้นมะคอก เป็นวัดขนาดกลางที่ยังมิได้ขุดแต่ง วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่พบกำแพงด้านนอกวัดทั้งสี่ด้าน อาจเป็นเพราะวัดมะคอก อาจสร้างก่อนวัดอื่นๆในบริเวณเดียวกัน

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 1,604