ประวัติ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร หรือ “ห้องสมุด” เป็นแหล่ง เรียนรู้ที่ถือได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในระดับสถาบันการศึกษาในจังหวัดกำแพงเพชรและมีความพร้อมด้านทรัพยากรสารสนเทศเพื่อรองรับการให้บริการแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยและท้องถิ่นในจังหวัดกำแพงเพชร ตาก ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง ผู้เขียนขอกล่าวถึงความเป็นมา และการพัฒนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตามลำดับ ดังนี้
พื้นที่ให้บริการรวม ๔,๙๕๗ ตารางเมตร
ปีงบประมาณ ๒๕๒๒ อาคารโสตทัศนวัสดุ มีพื้นที่ให้บริการ ๑,๑๒๐ ตารางเมตร
ปีงบประมาณ ๒๕๓๖ อาคารบรรณราชนครินทร์ เป็นอาคาร ๔ ชั้น มีพื้นที่ให้บริการ ๑,๓๐๔ ตารางเมตร
ปีงบประมาณ ๒๕๕๖ อาคารบรรณราชนครินทร์ หลังใหม่ เป็นอาคาร ๔ ชั้น มีพื้นที่ให้บริการ ๒,๕๓๓ ตารางเมตร
จุดเริ่มต้นและการพัฒนา
แรกเริ่มสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมีฐานะเป็นแผนกห้องสมุด สังกัดสำนักงาน ผู้อำนวยการเปิดบริการครั้งแรกที่สำนักงานชั่วคราว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ โดยมีอาจารย์นิตยา พันธุ์สุวรรณ (ศรีสอน) เป็นหัวหน้าแผนก เมื่ออาคารเรียนสร้างเสร็จได้ย้ายห้องสมุดมาอยู่ที่ชั้น ๓ อาคาร ๔ ซึ่งเป็นอาคารเรียนของคณะวิชาวิทยาศาสตร์ มีพื้นที่บริการขนาด ๓ ห้องเรียน มีบุคลากรปฏิบัติงาน ๓ คน ได้แก่ อาจารย์บรรณารักษ์ ๒ คน เจ้าหน้าที่ห้องสมุด ๑ คน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เมื่ออาคารหอสมุด (ปัจจุบันคือ อาคาร AV) สร้างเสร็จ จึงได้ย้ายมาเปิดบริการที่อาคารแห่งนี้ จนในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ แผนกห้องสมุดได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็นฝ่ายหอสมุดตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๗ และได้ย้ายมาสังกัดสำนักส่งเสริมวิชาการ ต่อมาได้มีการรวมฝ่ายโสตทัศนวัสดุ ซึ่งเดิมสังกัดคณะวิชาครุศาสตร์ รวมกับฝ่ายหอสมุด โดยให้บริการทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโสตทัศน์ ต่อมาในปีงบประมาณ ๒๕๓๖ วิทยาลัยครูได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารหอสมุดใหม่ ๒๑ ล้านบาท เป็นอาคาร ๔ ชั้น (อาคารบรรณราชนครินทร์) ซึ่งได้สร้างเสร็จและเปิดบริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ วิทยาลัยครูได้รับพระราชทานชื่อใหม่เป็นสถาบันราชภัฏ ตามพระราชบัญญัติ สถาบันราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๓๘ ชื่อหน่วยงานเปลี่ยนจากฝ่ายหอสมุดเป็น สำนักวิทยบริการ ถึงแม้ว่าสำนักวิทยบริการจะไม่เป็นหน่วยงานตามโครงสร้างการบริหาร แต่สำนักวิทยบริการก็เป็นหน่วยงานสนับสนุนที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และงบประมาณเพิ่มขึ้นโดยลำดับ รวมทั้งจำนวนบุคลากรปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นตามปริมาณงาน
ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ สำนักวิทยบริการได้ปรับเปลี่ยนหน่วยงานเป็นหน่วยงานตามโครงสร้างการบริหารงานตามกฎกระทรวงการจัดตั้งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยรวมหน่วยงาน ๒ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักวิทยบริการ และสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ และเรียกชื่อหน่วยงาน ใหม่นี้ว่า สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีขอบเขตการให้บริการกว้างมากขึ้น ทั้งบริการสารสนเทศต่างๆ และอำนวยความสะดวกในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรมีนโยบายรวมศูนย์ภาษาเข้ามาสังกัดภายใต้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ปัจจุบันสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมีภารกิจในการบริหารและจัดการระบบงาน ห้องสมุด เพื่อสนับสนุนภารกิจของมหาวิทยาลัยด้านการจัดการศึกษา การวิจัย การพัฒนาการเรียน การสอน การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การบริการวิชาการแก่สังคมและเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคม โดยมี พื้นที่การให้บริการประกอบด้วย ๓ อาคาร ได้แก่ ๑) อาคารบรรณราชนครินทร์ เป็นอาคาร ๔ ชั้น ให้บริการสื่อสิ่งพิมพ์ ๒) อาคารโสตทัศนวัสดุ ให้บริการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ต ห้องฉาย ห้องประชุม และห้องสตูดิโอ ๓) อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ เป็นอาคาร ๙ ชั้น ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางด้านภาษา ห้องประชุม และห้องสมุดประจำศูนย์ภาษา มีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และให้บริการวิชาการแก่ชุมชน ในท้องถิ่นทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหลายหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ) ในโครงการกระจายโอกาสสร้าง แหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบสู่ภูมิภาค (mini TCDC) เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนด้านการออกแบบ (พ.ศ. ๒๕๕๒) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำแพงเพชร (พ.ศ. ๒๕๕๒) สำนักงาน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และสารสนเทศ (พ.ศ. ๒๕๕๔) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านเครือข่าย เผยแพร่ ถ่ายทอดและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนบนระบบ e-Learning(eDL-square) (พ.ศ. ๒๕๕๔) หน่วยวิทยบริการ วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย ณ วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร (พ.ศ. ๒๕๕๔) ตลอดจนเครือข่ายความร่วมมือ ทางด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ๑๗ แห่ง (พ.ศ. ๒๕๕๕) และสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตภาคเหนือ จำนวน ๘ แห่ง (พ.ศ. ๒๕๕๕) ปัจจุบันสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มีบุคลากรปฏิบัติงานรวมทั้งหมด ๕๑ คน ประกอบด้วย ข้าราชการ ๘ คนข้าราชการพลเรือน ๑ คน พนักงานมหาวิทยาลัย ๘ คน พนักงานราชการ ๓ คน ลูกจ้างประจำ ๒ คน ลูกจ้างชั่วคราว ๑๘ คน และ นักการภารโรง ๑๑ คน มีการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ จำนวน ๒๗ โครงการเพื่อรองรับการดำเนินงานและการให้บริการแก่นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรของ มหาวิทยาลัยและบุคลากรภายนอก รวมทั้งเป็นเครือข่ายแกนหลัก (Node) ระดับภูมิภาคของเครือข่าย Uninet ถือได้ว่าสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีความพร้อมสำหรับเป็น แหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่รองรับการให้บริการแก่มหาวิทยาลัยและท้องถิ่น
การบริการวิชาการสู่ชุมชน
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศนอกจากจะเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่สำคัญ ของท้องถิ่นแล้วยังมีภารกิจหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้บริการวิชาการแก่ชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย กิจกรรมบริการด้านวิทยบริการ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านภาษาต่างประเทศ จำแนกตามกิจกรรม/โครงการดังนี้
๑. โครงการรณรงค์ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหน่วยงานหนึ่งในท้องถิ่นที่ต้องการให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีนิสัยรักการอ่านและค้นคว้าและเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในท้องถิ่น สนใจและรักการอ่านมากขึ้น นับว่าเป็นการให้บริการวิชาการที่สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน และได้ดำเนินการจัดกิจกรรม หลากหลายรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น ทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ภายในสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ กิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามนิทรรศการต่างๆ ภายใน มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเคลื่อนที่ตามโรงเรียนต่างๆ และสวนสิริจิตอุทยาน ซึ่งได้รับการ ตอบรับจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งนักเรียน ครู ผู้บริหาร โรงเรียน รวมไปถึงประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างดี
๒. โครงการบริการวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ การให้บริการวิชาการด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์แก่ชุมชนในท้องถิ่น เช่น การจัดอบรม การออกค่ายอาสาพัฒนาระบบห้องสมุด การจัดนิทรรศการวิชาการ ที่ปรึกษาด้านการ จัดระบบห้องสมุดให้กับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดกำแพงเพชรและตาก ซึ่งได้รับการตอบรับและมีความพึงพอใจกับกิจกรรมที่ให้บริการในระดับมาก เช่น การจัดอบรมซึ่งจะมีหัวข้อต่างๆ ที่สอดคล้องกับความ ต้องการของครู นักเรียน และหน่วยงานในท้องถิ่น ได้แก่ การผลิตสื่อส่งเสริมการอ่าน การผลิตสื่อ ส่งเสริมการเรียนรู้อาเซียน การซ่อมและบำรุงรักษาหนังสือ การใช้โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติ เพื่อการจัดการระบบห้องสมุด การฝึกอบรมครูบรรณารักษ์ เป็นต้น
การออกค่ายอาสาพัฒนาระบบห้องสมุดเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมด้านบริการวิชาการที่สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ชึ่งเกิดจากหน่วยงานขอความอนุเคราะห์หรือการมีจิตอาสา รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือ แนะนำเป็นที่ปรึกษาและร่วมกันพัฒนาห้องสมุดให้มีความพร้อมสำหรับการให้บริการทั้งห้องสมุดโรงเรียน และห้องสมุดในหน่วยงานต่างๆ ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ตาก และพิจิตร นอกจากการพัฒนาระบบ ห้องสมุดแล้วสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังมีการอบรมให้ความรู้แก่บรรณารักษ์ ครู นักเรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อการให้บริการและการจัดการระบบห้องสมุดอย่างถูกต้องตามหลัก วิชาการ เช่น ออกค่ายอาสาพัฒนาระบบห้องสมุดโรงเรียนตระเวนชายแดนร่วมกับคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรทุกปีอย่างต่อเนื่องในเขตอำเภออุ้มผาง อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด ฯลฯ ของจังหวัดตาก เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแม่กลองคลี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจุฬา-ธรรมศาสตร์ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเลโพเด โรงเรียนตระเวนชายแดน บ้านแพะ ฯลฯ รวมทั้งการพัฒนาระบบห้องสมุดร่วมกับโปรแกรมวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ในการอบรมให้ความรู้แก่หน่วยงานในท้องถิ่น เช่น หน่วยวิทยบริการ วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร มีการจัดอบรม พระภิกษุ สามเณร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานห้องสมุด และร่วมมือกันในการวิเคราะห์หมวดหมู่ ลงรายการ จัดเรียงหนังสือบนชั้น รวมทั้งการใช้โปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัติในการจัดการ ทรัพยากรห้องสมุด เพื่อพร้อมสำหรับการให้บริการแก่พระภิกษุให้สามารถค้นคว้าและใช้บริการทรัพยากรสารสนเทศอย่างคุ้มค่าและสามารถให้บริการได้ด้วยตนเอง
๓. โครงการบริการวิชาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี eDLTV/eDLRU เป็นโครงการที่งานพัฒนาระบบสารสนเทศและ บริการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้จัดทำความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อดำเนินกิจกรรม การเผยแพร่ ถ่ายทอดสดสื่อการเรียน ตามโครงการ eDLTV/eDLRU ที่พัฒนามาจากโรงเรียนไกลกังวลและมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อนนำไปใช้ประกอบเป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนที่มีความขาดแคลนครู ขาดสื่อการเรียนการ สอน และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในโครงการ (ทสรช.) ถือเป็นงานบริการวิชาการแก่ท้องถิ่นที่ สำคัญงานหนึ่งโดยมีการจัดกิจกรรมหลัก ๔ กิจกรรม ได้แก่ การจัดค่ายอบรมเผยแพร่ การจัดประกวด ผลงานการใช้สื่อ eDLTV/eDLRU การอบรมเผยแพร่สื่อไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และศูนย์ ICT ชุมชน และการฝึกอบรมครูในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยในระดับประถมศึกษา ได้แก่ สำนักงานเขต พื้นที่การศึกษากำแพงเพชร เขต ๑ และเขต ๒ รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตากเขต ๑ และ เขต ๒
๔. บริการวิชาการด้านภาษาต่างประเทศ งานศูนย์ภาษามีการจัดหาสื่อการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เพื่อการให้บริการในห้องสมุดของศูนย์ภาษา ชั้น ๓ อาคารศูนย์ภาษาและ คอมพิวเตอร์ และจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศให้กับบุคลากรภายในและภายนอก มหาวิทยาลัย รวมทั้งกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษ-ภาษาจีน ให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาและ มัธยมศึกษาร่วมกับโปรแกรมวิชาภาษาจีน คณะครุศาสตร์ในช่วงปิดภาคเรียน นอกจากนี้ยังมี การให้บริการห้องปฏิบัติการด้านภาษาต่างประเทศจำนวน ๒ ห้อง เพื่อรองรับการฝึกปฏิบัติการด้านภาษาแก่ผู้ใช้บริการทั้งที่เป็นบุคลากรภายในและภายนอก
๕. บริการสารสนเทศนอกเวลาราชการ เป็นบริการการศึกษาค้นคว้านอกเหนือจากเวลาราชการ ซึ่งสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ขยายเวลาการให้บริการเพื่อเปิดโอกาสให้กับ นักศึกษา ประชาชนในท้องถิ่นได้ศึกษาค้นคว้าได้อย่างเต็มที่ในช่วงเปิดภาคเรียนในช่วงเวลา ๑๖.๓๐-๑๘.๓๐ น. ของ ทุกวันจันทร์-วันเสาร์ นับว่าเป็นการบริการพิเศษที่จัดให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ อย่างทั่วถึง
จะเห็นได้ว่าสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแหล่งเรียนรู้ที่อยู่คู่กับมหาวิทยาลัย และท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านโครงสร้างการบริหารงาน อาคาร สถานที่ ห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องปฏิบัติการด้านภาษาต่างประเทศ ศูนย์คอมพิวเตอร์ และความพร้อมด้านเครือข่ายสารสนเทศเพื่อรองรับการให้บริการอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพทั้งภายในและ ภายนอกมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นชุมชน สถาบันการศึกษา หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่น และ มีความพร้อมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับอาเซียนในอนาคต
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์อรุณลักษณ์ รัตนพันธุ์
ปรับปรุงโดย : นายอนุชา พวงผกา
Published on 3 มิถุนายน 2560
Published on 3 มิถุนายน 2560
Published on 3 มิถุนายน 2560
Your privacy is important to us. We need your data just for the important process of services. Please allow if you accept the term of privacy comply with PDPA Read term and privacy policy Allow
High quality learning resources to develop graduates and communities.
OPEN
Mon - Sat 8.30 AM - 4.30 PM, Sun 8.30 AM - 4.30 PM
Website : https://arit.kpru.ac.th Webmaster Contact : anucha_pu@kpru.ac.th
The Office Of Academic Resource And Information Technology
Kamphaeng Phet Rajabhat University
69 Moo. 1 Nakorn Chum District, Muang, Kamphaeng Phet Province 6200 THAILAND
Phone 055-706555 Ext. 1503