งานวิจัย
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ
-
บทคัดย่อ
เด็กปฐมวัยหรือเด็กวัยตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 5 ปี เป็นช่วงอายุที่มีอัตราของการพัฒนาการสูง ถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดีและถูกต้องตามหลักจิตวิทยา และหลักวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เด็กก็จะพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ ซึ่งงานวิจัยต่าง ๆ และทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย ได้ระบุว่าช่วงเวลาที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการพัฒนาสมองคือในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต เด็กที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูและพัฒนาอย่างถูกต้องในช่วงเวลานี้เมื่อพ้นวัยนี้แล้วโอกาสทองเช่นนี้จะไม่หวนกลับมาอีกดังนั้น ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้เลี้ยงดูเด็กต้องมี ความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กในช่วงวัย 0-5 ปี ต้องสามารถเลี้ยงดู จัดประสบการณ์พัฒนาเด็กให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพเดิมการศึกษาอนุบาลเป็นรูปแบบของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็กที่รัฐจัด ขึ้นเพื่อสนองตอบสังคมที่ต้องการให้บุตรหลานได้เข้าโรงเรียน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียน กระบวนการพัฒนาด้านสติปัญญาของเด็กนั้น นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ชี้บอกว่าเด็กจะสามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมได้ดีหรือไม่เพียงใด นักจิตวิทยาซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาของมนุษย์ได้อธิบายว่า สติปัญญา หมายถึง การที่บุคคลสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของสิ่งแวดล้อมได้ สามารถดัดแปลงความคิดและการแสดงออกของคนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ การรับเอาความรู้ใหม่เข้าไปประสานกลมกลืน ความรู้และประสบการณ์เดิมที่มีอยู่แล้ว ไปจัดระบบให้เหมาะสมเพื่อประสบการณ์ความรู้ใหม่ และเมื่อเด็กได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆมากขึ้น ก็จะบังเกิดความรู้ความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จนกระทั่งจดจำเรื่องราวต่างๆได้อย่างมีเหตุผล พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัยถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาสติปัญญาในระดับต่อ ๆ ไป การจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสได้เล่นและคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง อันจะเป็นรากฐานที่จะทำให้เด็กเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความมั่นใจ รู้จักประดิษฐ์ค้นคว้า แสวงหาความรู้มิใช่คอยแต่จะลอกเลียนแบบผู้อื่นเพียงอย่างเดียว (กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา. 2536 : 42) เช่นเดียวกับเกมการศึกษาตามแนวคิดพัฒนาการและการเรียนรู้ของสมองเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้เล่น สัมผัสฝึกหัดปฏิบัติจริงเพื่อกระตุ้นการคิด ให้เกิดความสามารถในการหาความสัมพันธ์ ความสามารถในการจัดหมวดหมู่ประเภท ความสามารถในการสร้างความคิดรวบยอด และความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง มีความสนุกสนาน ท้าทาย และยังส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กได้ดียิ่ง เพราะการเล่นคือการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นครูผู้สอนควรมีการส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาซึ่งหมายถึงการให้เด็กได้เล่นได้เปรียบเทียบได้ลงมือปฏิบัติและหาข้อสรุปด้วยตนเอง เช่นนี้จึงจะจัดว่าเป็นการส่งเสริมความเจริญทางความคิดและส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2532 : 21) แนวการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการทางสมอง (Brain – based Learning)ให้ความสำคัญว่า การที่สมองจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีโอกาสรับรู้ได้มากนั้น จะต้องมีสิ่งเร้าไปกระตุ้นสมองอยู่เสมอ และควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการทำงานของสมองของเด็กให้มากที่สุดเพื่อให้การเรียนรู้นั้นเป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีการเรียนรู้หรือการทำงานของสมองตามธรรมชาติ (learning in accordance with the way the brain is naturally designedto learn) สมองจะยิ่งพัฒนามากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 6 ขวบแรกเป็นช่วงโอกาสทองของการพัฒนาสมอง เป็นช่วงที่สมองกำลังเติบโตและต้องการเรียนรู้ในทุกเรื่อง ถ้าเราเร่งสร้างความฉลาดในช่วงนี้สมองจะรับได้ทันทีและพื้นฐานที่ฝังแน่นติดตัวต่อไปเมื่อโตขึ้น เช่น ในเรื่องการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ จะเป็นการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิธีการทำงานของสมอง ไม่ใช่สอดคล้องกับอายุชั้นเรียนหรือห้องเรียนเพียงอย่างเดียวเพราะเด็กที่อายุเท่ากัน สมองอาจแตกต่างกัน การตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพสมองในแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสม จึงนำมาซึ่งกระบวนการจัดการและกระตุ้นการเรียนรู้ตามแนวทางการเรียนรู้ของสมอง (Brain - based Learning) เพื่อให้เด็กมีระดับสติปัญญาและวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงขึ้น สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่โลกอนาคตได้อย่างมีความสุขและมั่นคง(กระทรวงศึกษาธิการ. 2548 : 2 - 33) ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ครูผู้สอนจะจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพ คือ การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ โดยใช้วิธีใหม่ ๆ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษามาช่วยโดยเฉพาะการใช้การเรียนการสอนแบบโครงการ ซึ่งช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เด็กเข้าใจได้ดีที่สุด เพราะการเรียนการสอนแบบโครงการส่งเสริมทักษะสมองและพัฒนาการด้านสติปัญญา ด้วยการนำการสอนแบบโครงการมาเพื่อการเรียนรู้ของเด็กมาจากการกระทำ เด็กเป็นผู้ที่ต้องพัฒนา มีความคิด มีความมุ่งหมาย ความต้องการที่จะเรียนรู้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นของตนเองต้องพึ่งตนเอง การสอนแบบโครงการมุ่งพัฒนาทางร่างกายและจิตใจของเด็กไปพร้อมกัน ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กปฐมวัยโดยใช้การเรียนการสอนแบบโครงการเพื่อส่งเสริมทักษะสมองและพัฒนาการด้านสติปัญญา บนพื้นฐานการจัดการศึกษาปฐมวัย หลักสูตรก่อนประถมศึกษา ทฤษฎีพัฒนาการด้านต่าง ๆ คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยและการเรียนการสอนแบบโครงการเพื่อส่งเสริมทักษะสมองเพื่อพัฒนาการด้านสติปัญญา ทั้งนี้เพื่อจะนำผลการวิจัยไปเป็นแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาเด็กให้เต็มตามศักยภาพแห่งตน และเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยในครั้งนี้ และผู้วิจัยเล็งเห็นว่าเด็กปฐมวัยเป็นนักถามที่ดีนักคิดสร้างสรรค์และนักสร้างสรรค์ที่เรียนรู้ได้จากการจัดการเรียนสอนจากการได้รับประสบการณ์ตรง ดังนั้นการเรียนการสอนแบบโครงการ จึงเป็นแกนของการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กปฐมวัยและยังมีความสำคัญในแง่เป็นสิ่งเร้าที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กปฐมวัยแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยสร้างเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา และประสบการณ์ในการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย
บทคัดย่อภาษาอังกฤษ
-
ปี พ.ศ. --2561
คณะผู้วิจัย
1. นางสาวกรรณิกา จันสายทอง หัวหน้าโครงการ