Kamphaeng Phet Rajabhat University

เขตข้อมูล รายการ
ฐานข้อมูล

งานวิจัย/Research report

เลขทะเบียน

20190915230519

ชื่อเรื่อง

โครงการวิจัยแนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน: ศึกษาเฉพาะกรณีเขตพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ผู้แต่ง

ปาจรีย์ ผลประเสริฐ

ปี

2553

หัวเรื่อง

เด็กและเยาวชน - ปัญหายาเสพติด

พฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติด

สถานที่พิมพ์

มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ

รายละเอียด

https://tdc.thailis.or.th/tdc/browse.php?option=show&browse_type=title&titleid=13234

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ คือ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดในเด็กและเยาวชน ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 2) เพื่อพัฒนาชุดฝึกอบรมสำหรับเสริมสร้างทักษะชีวิตในการป้องกันการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดในเด็กและเยาวชนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงในเด็กและเยาวชน สำหรับการดำเนินการวิจัย แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยงของเด็กและเยาวชน เขตพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติด ขั้นตอนที่ 3 การสร้างและการประเมินคุณภาพชุดฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตในการป้องกันการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติด และขั้นตอนที่ 4 การสนทนากลุ่มเพื่อปรับปรุงและพัฒนาชุดฝึกอบรมและหาแนวทางการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 25 ปี ที่ไม่ได้ศึกษาในระบบการศึกษาและมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีโอกาสเกิดพฤติกรรมเสี่ยงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 400 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชน และแบบสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชน ผลการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุของพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชน พบว่าตัวแปรที่เป็นปัจจัยด้านจิตลักษณะ ซึ่งเป็นปัจจัยภายในตัวบุคคล ได้แก่ สุขภาพจิต ลักษณะ มุ่งอนาคต และเจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยง มีอิทธิพลทางตรงต่อพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชน ในขณะที่กลุ่มตัวแปรที่เป็นปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ตัวบุคคลได้แก่ อิทธิพลจากครอบครัว อิทธิพลจากเพื่อน และอิทธิพลจากสื่อ มีอิทธิพลทางอ้อมต่อพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชน ซึ่งจากผลที่ได้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากเพื่อน อิทธิพลจากสื่อ และอิทธิพลจากครอบครัว มิได้มีอิทธิพลโดยตรงต่อพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชน แต่การที่เด็กและเยาวชนจะมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่ปัจจัยภายในตัวบุคคล ได้แก่ เจตคติต่อพฤติกรรมเสี่ยง สุขภาพจิต และลักษณะมุ่งอนาคต โดยพบว่าเด็กและเยาวชนที่มีเจตคติ ที่ดีต่อพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพ มีสุขภาพจิตไม่ดี และมีลักษณะมุ่งอนาคตต่ำจะมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพมากกว่าเด็กและเยาวชนที่มีลักษณะตรงกันข้าม ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชนจึงควรมุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยภายในตัวบุคคล ด้วยเหตุนี้ในการสร้างชุดฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะในการป้องกันการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชนครั้งนี้ คณะผู้วิจัยจึงมุ่งเน้นการพัฒนาปัจจัยภายใน ตัวบุคคลเป็นสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ให้เด็กและเยาวชนมีเจตคติที่ดี มีความรู้ ความรู้สึก และมีความพร้อมในการปฏิบัติตนไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติด 2) ให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพจิตที่ดี สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข และ3) ให้เด็กและเยาวชนมีลักษณะมุ่งอนาคต สามารถตัดสินใจเลือกกระทำและวางแผนการเพื่อผลที่ดีในอนาคต โดยได้กำหนดเนื้อหาในการฝึกอบรมมาจากแนวคิดเกี่ยวกับทักษะชีวิต และใช้กระบวนกลุ่มหรือกลุ่มสัมพันธ์ ทั้งกิจกรรมกลุ่ม เกม เพลง และเพลงประกอบจังหวะ มาเป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้เข้าอบรมเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยใช้เวลาในการฝึกอบรม 3 วัน 2 คืน สำหรับแนวทางการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดของเด็กและเยาวชน พบว่า 1) ควรมีการสร้างเป็นเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีคำสั่งจากจังหวัด และมีเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน ได้แก่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการเป็น ผู้ประสานงานในด้านต่างๆ 2) ควรมีการจัดประชุมหรือสัมมนาในแต่ละปีว่าหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินโครงการสำหรับเด็กและเยาวชนในการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงด้านสารเสพติดอย่างไรบ้างซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 3) ควรมีการประสานความร่วมมือในการใช้บุคลากรร่วมกัน 4) ควรมีการจัดอบรมในหลักสูตร โครงการ “...พลัง ! เยาวชน I ...” อย่างต่อเนื่อง 5) ควรมีการสร้างเครือข่ายของเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ “... พลัง ! เยาวชน I ...” รุ่นที่ 1 และคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีความรู้ ความสามารถในการเป็นผู้ช่วยวิทยากร เพื่อเป็นผู้ช่วยวิทยากรในรุ่นต่อๆ ไป 6) ควรมีเวที หรือพื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนในการได้แสดงออกร่วมกันในเชิงสร้างสรรค์ในระดับอำเภอ จังหวัด 7) ควรมีการเสริมแรงทางบวกสำหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำความดี และ8) ควรมีการติดตามและประเมินผลโครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว เพื่อนำข้อมูลไปเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการ หรือเป็นแนวทางในการวางแผนต่อไป