บ้านท่าสองยาง

บ้านท่าสองยาง

เผยแพร่เมื่อ 11-12-2024 ผู้ชม 16

[17.57130102, 97.91460469, บ้านท่าสองยาง]

ชื่อท้องถิ่น: แม่ตะวอ

ความเป็นมาของชื่อชุมชน
      เป็นชุมชนที่มีทัศนียภาพที่งดงาม อยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย ที่ติดกับประเทศเมียนมา โดยมีแม่น้ำเมยกั้น ซึ่งระหว่างช่องทางการติดต่อระหว่าสองประเทศนี้มีต้นยางขึ้นอยู่ จึงเรียกกันว่า บ้านท่าช่องยาง แต่มีการเรียกเพี้ยนกันมาว่า บ้านท่าสองยาง แต่บ้างก็ว่าเกิดจากจุดเริ่มต้นของการตั้งหมู่บ้านชาวยาง จำนวน 2 ครอบครัว ที่มาอยู่ก่อนเป็นครอบครัวแรก จึงเป็นที่มาว่าชื่อ บ้านท่าสองยาง

ความเป็นมา: ประวัติศาสตร์ชุมชน
      บ้านท่าสองยาง ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราบที่รายล้อมด้วยภูเขา และมีแม่น้ำเมยไหลผ่าน ประชากรในพื้นที่บ้านท่าสองยางประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์ ทั้งกะเหรี่ยง ล้านนา ไต ตองซู ปะโอ ไทย พม่า ซึ่งผู้คนดังกล่าวได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยตามช่วงเวลาที่มีหมู่บ้านมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การค้าขาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ โดยมีการค้าขายเป็นจุดดึงดูดความสนใจในการตั้งถิ่นฐาน
      จากคำบอกเล่าของคนในชุมชน ผู้คนที่มีการตั้งถิ่นฐานกลุ่มแรกหรือติดพื้นที่บ้านท่าสองยางคือ ชาวกะเหรี่ยง ที่เรียกตัวเอง “ปกาเกอะญอ” โดยมีการตั้งถิ่นฐานจำนวน 2 ครัวเรือน โดยเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณห้วยแม่จวางบริเวณที่บรรจบกับแม่น้ำเมย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “สบจวาง” โดยคนในพื้นที่จะเรียกบริเวณนี้ว่า “สันกะแก” ในเวลาต่อมา ได้มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนเมือง ไทยล้านนา ซึ่งมาจากอำเภอแม่สะเรียง โดยเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ประจำการในโรงพัก (สถานีตำรวจ) และประจำการที่ที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าสองยาง
      จากคำบอกเล่าของผู้นำชุมชนและชาวบ้านในชุมชน พบว่า กองทัพญี่ปุ่นได้เดินทางผ่านมายังบริเวณบ้านท่าสองยาง เพื่อข้ามแม่น้ำเมยโดยแพไปยังประเทศพม่า (เมียร์มาร์) จากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาวบ้านในประเทศพม่า ซึ่งอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ได้อพยพข้ามแม่น้ำเมยมาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านท่าสองยาง จึงทำให้มีประชาชนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
      บ้านท่าสองยางหรือบ้านแม่ตะวอ เคยเป็นกิ่งอำเภอท่าสองยาง อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2491 ได้ย้ายมาอยู่ในเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมทั้งย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ท่าสองยางไป ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ต้าน ซึ่งห่างจากบ้านท่าสองยาง 60 กิโลเมตร ทำให้หมู่บ้าน ลดฐานะลง เป็นตำบลท่าสองยาง ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอท่าสองยางเท่านั้น
      จากคำบอกเล่าของชุมชน มีเรือลำแรกที่ใช้ในการติดต่อระหว่างชุมชนของประเทศไทยและประเทศเมียนมา เป็นของนายควาย ปัญญาไว มีไว้เพื่อใช้ในการสัญจรไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ และใช้ขนส่งสินค้าข้ามไปมายังรัฐกะเหรี่ยงของประเทศเมียนมา บ้านแม่ตะวอหรือบ้านท่าสองยาง เป็นหมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำเมย มีชาวบ้านพื้นถิ่นและชาวกะเหรี่ยงฝั่งตรงข้ามเป็นเหมือนพี่น้องกันมายาวนาน ในปี พ.ศ. 2540 เริ่มมีระบบสาธารณูปโภคมีไฟฟ้า ใช้ในปี พ.ศ. 2554 มีการสู้รบกันภายในประเทศเมียนมา เคยมีลูกระเบิดข้ามตกมายังหมู่บ้าน แต่ระเบิดไม่แตก นอกจากนั้นที่บ้านของชาวบ้านในชุมชนจะมีที่หลบภัยสงคราม แต่ปัจจุบันไม่มีผลกระทบจากการสู้รบจากฝั่งประเทศเมียนมาแล้ว เนื่องจากไม่ใช่จุดที่มีการสู้รบกัน ชาวบ้านเล่าว่าบ้านท่าสองยางหรือบ้านแม่ตะวอแห่งนี้เคยเป็นจุดผ่านของทหารญี่ปุ่น ข้ามจากประเทศไทยไปยังประเทศเมียนมา ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีครูบาสร้อย พระที่เป็นเกจิอาจารย์ มีศรัทธาและลูกศิษย์จำนวนมาก เป็นพระที่มีชื่อเสียงท่านเริ่มจำวัด ณ วัดมงคลคีรีเขต ตั้งแต่ปี พ.ศ 2498 เป็นพระที่มีพุทธคุณโดดเด่นด้านเมตตาและของขลัง ปัจจุบันท่านมรณภาพ ตั้งแต่ปี 2541 แต่ลูกศิษย์ยังคงเก็บสรีระสังขารไว้ในโลงแก้วเพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา

การเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์สำคัญของบ้านท่าสองยาง
       พ.ศ. 2400 : ก่อตั้งหมู่บ้านสันกะแต
       พ.ศ. 2462 : ก่อตั้งสำนักสงฆ์บ้านท่าสองยาง
       พ.ศ. 2467 : ก่อตั้งโรงเรียนชุมชนบ้านท่าสองยาง (1 พฤษภาคม 2467)
       พ.ศ. 2470 : ปู่โคโย สร้างโรงพักท่าสองยาง (พ่อค้าชาวกะเหรี่ยงที่มีฐานะ ทางเศรษฐกิจดี มีอาชีพค้าไม้ในพื้นที่ตำบลท่าสองยาง)
       พ.ศ. 2484 : ประเทศไทยได้ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นใช้บริเวณท่าข้ามโรงพักในบ้านท่าสองยางเป็นพื้นที่เส้นทางที่ทหารญี่ปุ่นเดินผ่านในสงครามโลกครั้งที่ 2
       พ.ศ. 2491 : กิ่งอำเภอท่าสองยางได้โอนย้ายขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, เปลี่ยนชื่อสถานีตำรวจภูธรท่าสองยาง เป็นสถานีตำรวจภูธรแม่เมย
       พ.ศ. 2498 : ครูบาสร้อย ขันติสาโร (ครูบาผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ) ธุดงค์มาถึงบ้านท่าสองยาง
       พ.ศ. 2505 : เปลี่ยนชื่อ วัดท่าสองยาง เป็น วัดมงคลคีรีเขตร์และ ถนนทางหลวงจังหวัด 1085 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 105) ตัดผ่านบ้านท่าสองยาง
       พ.ศ. 2509 : ก่อตั้งสถานีอนามัย
       พ.ศ. 2526 : ก่อตั้งศูนย์ฟรังซีสอัส ซีซี (โบสถ์คาธาลิก)
       พ.ศ. 2527 : เริ่มก่อตั้ง (Safe Haven Orphanage) ก่อตั้งสถานพักพิงบ้านทัศนีย์
       พ.ศ. 2533 : ก่อตั้งไปรษณีย์ตำบลท่าสองยาง
       พ.ศ. 2540 : แยกบ้านส่วนอ้อยออกจากหมู่ที่ 1 บ้านท่าสองยาง เป็นอีกหมู่บ้านทางการ คือ หมู่ที่ 9 บ้านสวนอ้อย
       พ.ศ. 2542 : ก่อตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง (14 กุมภาพันธ์ 2542)
       พ.ศ. 2547 : ก่อตั้งสำนักสงฆ์ดอยสาวงศ์ (ดอยน้อย)
       พ.ศ. 2555 : ก่อตั้งสหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย (องค์กรคริสตจักรความรักนิรันดร์) 

แผนที่และสภาพแวดล้อมชุมชน
       บ้านท่าสองยาง หมู่ 1 มีสถานที่ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านท่าสองยาง กศน.บ้านท่าสองยาง โรงเรียนชุมชนบ้านท่าสองยาง สถานีตำรวจแม่เมย องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง และวัดมงคลคีรีเขตร์ ศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ท่าน้ำแม่ตะวอ น้ำตก 

ลักษณะทางกายภาพ
       ที่ตั้งของตำบลท่าสองยางอยู่ห่างจากอำเภอท่าสองยาง ประมาณ 56 กิโลเมตรอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอท่าสองยาง มีรูปร่างทอดวางตัวแนวตั้ง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อดังนี้ 
       ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำยวม ตำบลแม่วะหลวงและอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
       ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่สอง
       ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลแม่วะหลวงและตำบลแม่สอง
       ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำเมย สหภาพเมียนมา
       พิกัดที่ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยาง เส้นรุ้ง(ละติจูด) 384.506 เส้นแวง(ลองจิจูด) 1,942.857 มีพื้นที่โดยทั้งหมดประมาณ 335.16 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 221.975 ไร่ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสองยางสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 108.23 เมตร (355 ฟุต) 

ลักษณะภูมิประเทศ
       สภาพพื้นที่ เป็นที่ราบสูงเชิงเขา มีที่ราบลุ่มบริเวณเชิงเขาเล็กน้อยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน ภูเขา มีเทือกเขาถนนธงชัย ทอดยาวจากเหนือจรดใต้ แม่น้ำ แม่น้ำเมย กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพเมียนมา 

ลักษณะภูมิอากาศ
       เนื่องจากอยู่ในเทือกเขาถนนธงชัยและอยู่ร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากทะเลอันดามันพัดผ่าน ทำให้ภูมิอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อนฝนตกชุกเกือบทั้งปี คือตลอดช่วง 6 เดือน โดยเฉพาะในเดือน พฤษภาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุกมาก ลักษณะภูมิอากาศ เช่นนี้ทำให้มีด้วยกัน 3 ฤดู 
       ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ร้อนมากที่สุดในเดือนเมษายน อุณหภูมิสูงสุดใน เดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 33 องศาเซลเซียส
       ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนมิถุนายน-ตุลาคม มีฝนตกชุกมากในเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำฝน มากกว่า 100 มม.
       ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน - ธันวาคม อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม เนื่องจากอยู่ใน พื้นที่ป่าสมบูรณ์และป่าต้นน้ำ พื้นที่เป็นที่ราบสูง อากาศจึงหนาวเย็นมาก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10 – 18 องศาเซลเซียส 

ทรัพยากรธรรมชาติ
       น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ คือ แม่น้ำเมย ซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า ไหลผ่าน และมีน้ำตามธรรมชาติที่อยู่บนภูเขา 
       ป่าไม้ ตำบลท่าสองยางมีพื้นที่ป่าไม้ตามภูเขาและที่สูง ที่สำคัญได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่า ท่าสองยาง และอุทยานแห่งชาติแม่เมย เป็นป่าประเภท ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าแดง ไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นพวก ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็ง และไม้กระยาเลย 
       ภูเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน 

ลักษณะของดิน
       พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลท่าสองยางอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยางทำให้ประชาชน ไม่สามารถมีเอกสารสิทธิในที่ดินได้ ทำให้มีการใช้ประโยชน์น้อยมาก และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย และดินร่วนอยู่บริเวณสองข้างฝั่งลำห้วย ซึ่งเป็นที่ราบในบริเวณหุบเขาจะพบว่าเป็นดินลูกรังหรือหินก้อนใหญ่ 

ลักษณะของแหล่งน้ำ
       ทรัพยากรน้ำ มีแม่น้ำเมยซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพเมียนมา ไหลผ่านยาวประมาณ 70 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำที่สำคัญทั้งที่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติและแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น มีดังนี้ แม่น้ำ 1 สาย ห้วย หนอง คลอง บึง 6 แห่ง สระเก็บน้ำ 10 แห่ง ฝาย 4 แห่ง

ลักษณะของไม้และป่าไม้
       ทรัพยากรป่าไม้ ตำบลท่าสองยางมีพื้นที่ป่าไม้ตามภูเขาและที่สูง ที่สำคัญได้แก่ ป่า สงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง และอุทยานแห่งชาติแม่เมย เป็นป่าประเภท ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าแดง ไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นพวก ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็ง และไม้กระยาเลย สัตว์ป่า ที่พบ เช่น เก้ง กวาง หมูป่า ลิง เลียงผา แต่ไม่เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ของป่า ที่พบเช่น น้ำผึ้ง หน่อไม้ เปลือกไม้ 

การคมนาคมขนส่ง 
       ในพื้นที่หมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตและถนนดิน ซึ่งรถยนต์สามารถเข้าถึงได้ทุกหมู่บ้านในฤดูแล้งและในฤดูฝนบางหมู่บ้านรถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ต้องเดินทางด้วยเท้าเพราะพื้นที่ของหมู่บ้านส่วนมากอยู่บนพื้นที่สูง รถยนต์ไม่สามารถเข้าถึงได้ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากถนนเสียหายและมีน้ำกัดเซาะ เส้นทางหลักที่ใช้ติดต่อระหว่างหมู่บ้าน คือ ทางหลวงหมายเลข 105 ถนนบ้านแม่เหว่ย ถึง บ้านแม่ละนา, ถนนบ้านท่าสองยาง ถึงบ้านแม่ลอ และถนนราชประสงค์

ประชากร ระบบเครือญาติ และชาติพันธุ์
       จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรบ้านท่าสองยาง จำนวนประชากรทั้งหมด 3,013 คน แบ่งออกเป็นชาย 1,511 คน หญิง 1,502 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยายที่มีผู้คนหลากหลายช่วงวัย มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัวเดี่ยว จากรากฐานความสัมพันธ์เชิงเครือญาติทำให้ผู้คนในสังคมมีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ระหว่างกัน

สถานที่สำคัญ
        วัดมงคลคีรีเขตร์
        ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายแม่สอด-ท่าสองยาง-แม่สะเรียง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 136 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสองยาง อยู่ติดกับลำห้วยแม่จวง สักการะร่างของพระครูบาสร้อยที่แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว แต่ร่างของท่านกลับไม่เน่าเปื่อยแต่อย่างใด ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปกราบนมัสการขอพรเพื่อสิริมงคลได้ทุกวัน รู้จัก "พระครูบาสร้อย" พระครูบาสร้อยคือภิกษุผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2472 ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเส็ง ตำบลละหานทราย อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่ออายุ 7 ขวบ บิดามารดาได้ถึงแก่กรรมท่านจึงอยู่ในความดูแลของคุณยาย ในวัยเด็กท่านมีโอกาสถวายน้ำตาล แด่พระธุดงค์ และพระธุดงค์รูปนั้นได้กล่าวกับท่านว่าเมื่อโตขึ้นให้บวช จนกระทั่งท่านเรียนจบประถม 4 คุณยายจึงพาไปบวชเณรที่วัดชุมพรใกล้บ้าน มีหลวงพ่อมั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่ออายุ 22 ปี จึงอุปสมบท มีหลวงพ่อมั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อสุข เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อสุตเป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้รับฉายาว่า "ขันติสาโร"
        หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้กราบลาหลวงพ่อมั่น เพื่อไปฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงพ่อสุข รวมทั้งเรียนรู้วิชาต่าง ๆ ที่สำคัญ ต่อมาใน พ.ศ. 2497 หลวงพ่อสร้อยได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และจำพรรษา ที่วัดมหาธาตุ ศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ถึง 7 เดือน จึงลาพระอาจารย์ชาดกกลับไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดกลางนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พอออกพรรษาท่านได้ล่ำลาญาติโยมเพื่อออกรุกขมูลไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ มีเรื่องเล่าว่า ใน พ.ศ. 2503 หลังฉันอาหารเช้า ท่านเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวจึงไปพักผ่อน ปรากฏว่าวิญญาณท่านได้ออกจากร่างเป็นครั้งที่ 2 แต่แค่เพียง 1 วันเท่านั้น ท่านก็ฟื้นขึ้นมา ต่อมาใน พ.ศ. 2505 ท่านจึงได้สร้างวัดเพื่อให้ถูกต้องมีวิสุงคามวาสี เหมือนกับเทวดาที่รักษาวัดจะทราบเรื่องราว คืนนั้นในสมาธิเทวดาซึ่งเป็นเจ้าที่ได้มาปรากฏและถามท่านถึงความต้องการ ท่านจึงบอกไปว่าจะทำการบูรณะปรับปรุงวัดให้ดีขึ้น ช่วงกำลังก่อสร้าง มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนถึง พ.ศ. 2506 จึงสร้างเสร็จ นับว่าท่านเป็นพระที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับชาวบ้านและลูกศิษย์อย่างมากมาย จนกระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2541 เวลา 07.19 น. ท่านได้หยุดดับธาตุขันธ์ เมื่ออายุ 69 ปี เหลือไว้แต่คุณงามความดีที่ยังคงประทับอยู่ในหัวใจของลูกศิษย์อยู่เสมอ
       ท่าน้ำแม่ตะวอ
       "ฤดูฝน น้ำหลาก ต้องขับหลบหลีกกิ่งไม้ที่ไหลลงมาพร้อมกับน้ำเชี่ยวกรากไปพร้อม ๆ กับหลบหลุมแก่ง ที่จะคอยดูดเรือ ฤดูร้อน ต้องหลบขดหินที่อยู่ใต้น้ำ เพราะอาจเป็นสาเหตุหนึ่งให้ท้องเรือรั่ว ชีวิตไม่เคยง่าย" ใจความสำคัญของการนั่งคุยกับคนขับเรือแม่ตะวอคนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตทำมาหากินกับแม่น้ำเมยสายนี้กว่า 20 ปี แม่น้ำเมยมีต้นกำเนิดจากอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ระยะทางรวมกว่า 370 กิโลเมตร ไหลผ่าน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพบพระ แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง และสบเมย ซึ่งไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวินที่บ้านแม่สามแลบ ตลอดเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน จะเกิดอาชีพตามวิถีชุมชนริมน้ำ และที่นี่บ้านสวนอ้อย หรือที่รู้จักในชื่อ "แม่ตะวอ" เป็นท่าเรือสำคัญและมีจำนวนมากขึ้น 100 กว่าลำในช่วงฤดูร้อน มีทั้งเรือเล็กและเรือใหญ่ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรือยนต์ อาชีพของคนขับเรือที่นี่โดยทั่วไปเป็นการรับจ้างแบบประจำเส้นทาง และนอกเส้นทาง หมายความว่าจะมีเรือที่เข้าคิวเพื่อรับส่งผู้โดยสารข้ามไปมาระหว่างประเทศ และการรับจ้างขนหน่อไม้ หรือขนส่งผู้โดยสารไปยังแม่ลอ หรือไปทางทิศเหนือ ท่าเรือที่นี่เกิดขึ้นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สองที่มีกองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเพื่อส่งเสบียงไปยังพม่า เส้นทางนี้จึงเกิดขึ้นในช่วงนั้น โดยเริ่มแรกเป็นเพียงแพรไม้ไผ่ และเป็นเรือขูด และพัฒนาเป็นเรือยนต์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน และมีเรือมากขึ้นในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา เพราะเส้นทางนี้สามารถทะละไปรัฐกะเหรี่ยง "เหมี่ยวจีหงู่" ซึ่งเป็นเส้นทางผ่อนปรน ไม่มีการตรวจบัตรแต่อย่างใด แต่ใช้วิธีการข้ามโดยขออนุญาตในพื้นที่

 

คำสำคัญ : บ้านท่าสองยาง

ที่มา : https://wikicommunity.sac.or.th/community/1321

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2567). บ้านท่าสองยาง. สืบค้น 24 มกราคม 2568, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2272&code_db=610001&code_type=TK009

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2272&code_db=610001&code_type=TK009

Google search

Mic

ประวัติท่าสองยาง

ประวัติท่าสองยาง

อำเภอท่าสองยาง เดิมมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2491 ได้โอนมาขึ้นกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากและเมื่อปี พ.ศ. 2494 กิ่งอำเภอแม่ระมาด ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ กิ่งอำเภอท่าสองยาง จึงโอนไปขึ้นอยู่กับอำเภอแม่ระมาดแล้วจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2501 จนถึงปัจจุบันนี้

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2018 ผู้เช้าชม 4,846

บ้านท่าสองยาง

บ้านท่าสองยาง

บ้านท่าสองยาง เป็นชุมชนที่มีทัศนียภาพที่งดงาม อยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย ที่ติดกับประเทศเมียนมา โดยมีแม่น้ำเมยกั้น ซึ่งระหว่างช่องทางการติดต่อระหว่าสองประเทศนี้มีต้นยางขึ้นอยู่ จึงเรียกกันว่า บ้านท่าช่องยาง แต่มีการเรียกเพี้ยนกันมาว่า บ้านท่าสองยาง แต่บ้างก็ว่าเกิดจากจุดเริ่มต้นของการตั้งหมู่บ้านชาวยาง จำนวน 2 ครอบครัว ที่มาอยู่ก่อนเป็นครอบครัวแรก จึงเป็นที่มาว่าชื่อ บ้านท่าสองยาง

เผยแพร่เมื่อ 11-12-2024 ผู้เช้าชม 16