ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 21-06-2022 ผู้ชม 961

[16.2354607, 99.5449164, ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร]

บทนำ
         อำเภอคลองขลุง เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองกำแพงเพชร มีระยะทางห่างจากตัวอำเภอเมือง 42 กิโลเมตร มีพื้นที่ 783.332 ตร.กม. มีจำนวนประชากรที่ได้สำรวจเมื่อ พ.ศ. 2561 จำนวน 71,358 คน อำเภอคลองขลุง ได้แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 10 ตำบล 101 หมู่บ้าน ได้แก่
         1. ตำบลคลองขลุง        6. ตำบลวังแขม         
         2. ตำบลท่ามะเขือ         7. ตำบลหัวถนน   
         3. ตำบลท่าพุทรา          8. ตำบลวังไทร
         4. ตำบลแม่ลาด            9. ตำบลวังบัว     
         5. ตำบลวังยาง           10. ตำบลคลองสมบูรณ์

         ตำบลวังยางเป็นเขตการปกครองย่อยจากทั้งหมด 10 ตำบลของอำเภอคลองขลุง โดยประกอบไปด้วย 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านท่าตะคร้อ, หมู่บ้านน้อย, หมู่บ้านคลองยาง, หมู่บ้านเกาะพร้าว, หมู่บ้านวังยาง, หมู่บ้านวังตะล่อม, หมู่บ้านหนองโสน, หมู่บ้านวังน้ำ, หมู่บ้านนิคม, หมู่บ้านแม่น้ำกงจีน (จังหวัดกำแพงเพชร, 2562, ออนไลน์)
         บ้านวังน้ำ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในส่วนปกครองย่อยของตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง โดยในอดีตมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่าบริบูรณ์เป็นอย่างดี ด้วยมีลำคลองไหลผ่านกลางหมู่บ้าน มีถนนหนทางที่เดินทางสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก ลักษณะเช่นนี้จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในตั้งชุมชนและประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะเกษตรกรรม จากการที่มีปัจจัยเกื้อหนุนต่อการประกอบอาชีพทำให้มีผู้คนหลากหลายเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและประกอบอาชีพตามความรู้ตามความถนัด ชาวไทยทรงดำบ้านวังน้ำเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้โดยมาจากหลายจังหวัดด้วยกัน พร้อมทั้งยังได้นำพาวัฒนธรรมดั้งเดิมแต่ครั้งบรรพกาล ที่บรรพบุรุษได้มีการกระทำสืบต่อเนื่องกันมา สานต่อลงในหมู่บ้านแห่งนี้อย่างเคร่งครัด ตามความเชื่อดั้งเดิมอีกด้วย อย่างไรก็ดีวัฒนธรรมของชาวไทยทรงดำบ้านวังน้ำยังเป็นวัฒนธรรมชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นทางวัฒนธรรมระดับจังหวัด นอกจากนี้ วัฒนธรรมชุมชนดังกล่าวยังมีประวัติความเป็นมาของการเข้าสู่แผ่นดินไทยนับแต่ครั้งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กระทั่งกระจายตัวกันอยู่ทั่วประเทศไทย จากจังหวัดเพชรบุรีลงไปถึงภาคใต้ที่สุราษฎร์ธานี และเรื่อยขึ้นมาจนถึงภาคเหนือจวบจนหลายภาคของประเทศไทย

ความเป็นมาของบ้านวังน้ำ
         บ้านวังน้ำหรือหมู่บ้านวังน้ำ ได้ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ทั้งหมด 6,047 ไร่ โดยพื้นที่ของหมู่บ้านได้เชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนปกครองย่อยต่าง ๆ ดังนี้ ทิศเหนือติดกับหมู่ 2 บ้านวังตะล่อม ทิศใต้ติดกับหมู่ 3 บ้านหนองโสน ทิศตะวันออกติดกับ หมู่ 4 บ้านบึงลาดเขต ต.วังแขม ทิศตะวันตกติดกับหมู่ 7 บ้านนิคมใหม่ ระยะทางจากหมู่บ้านวังน้ำถึงตัวจังหวัดกำแพงเพชร 60 กิโลเมตร ระยะทางจากหมู่บ้านวังน้ำถึงอำเภอคลองขลุง 9 กิโลเมตร บ้านวังน้ำมีลักษณะสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเป็นที่ราบลุ่ม มีคลองวังน้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้านยาวตลอดหัว จรดท้ายหมู่บ้าน บ้านวังน้ำ มี 3 ฤดูกาล ฤดูร้อนอากาศจะร้อนและแห้งแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของทุกปีบ้านวังน้ำ มีครัวเรือนทั้งหมด 198 ครัวเรือน  มีประชากรทั้งหมด 946 คน แบ่งออกเป็นประชากร เพศชาย 463 คน คิดเป็นร้อยละ 48.94 และเป็นประชากร เพศหญิง 483 คิดเป็นร้อยล่ะ 51.06
         ลักษณะทางสังคมของคนในหมู่บ้านวังน้ำ คนในหมู่บ้านมักปลูกสร้างบ้านเรือนติดต่อระหว่างญาติพี่น้องอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน มีการไปมาหาสู่กันระหว่างญาติพี่น้องอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความรักสามัคคีกันระหว่างเครือญาติ ครอบครัวมีความอบอุ่น ประชากรของหมู่บ้านส่วนใหญ่มีสุขภาพแข็งแรงดี ประชาชนของหมู่บ้านใช้ภาษาท้องถิ่น (ภาษาไทยทรงดำ หรือภาษาโซ่ง) ชาวไทยทรงดำในบ้านวังน้ำส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัด มีโรงเรียน ชาวบ้านจะนิยมเข้าวัดทำบุญทุกวันพระ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวบ้านวังน้ำจะมีประเพณี “ไทยทรงดำ” ซึ่งชาวบ้านจะถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เนื่องจากประชาชนในหมู่บ้านเป็น “ไทยทรงดำ” เน้นพิธีการไว้ผีบรรพบุรุษ ไหว้ผีเรือนตามความเชื่อ จะทำให้อยู่ดีมีสุข เจริญก้าวหน้าทางด้านการงาน และอาชีพ (ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี, 2561, น.1)
         เหตุผลที่เรียกว่าบ้านวังน้ำเพราะเนื่องจากในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้ มีลำคลองสำคัญ คือ “คลองเลียบตะลุง” ไหลผ่านกลางหมู่บ้านและมีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอด ครั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะไหล่บ่าท่วมอยู่ทั้งสองฟากฝั่งรวมทั้งพื้นที่ทั่วไป เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้การสัญจรไปมาไม่สะดวก นายแอ  แซ่รอ ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นและชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นมาว่า “บ้านวังน้ำ” อันเป็นผลมาจากการมีน้ำหลากมาอยู่เป็นประจำ นั่นเอง ปัจจุบันหมู่บ้านวังน้ำได้รับพัฒนาถนนหนทางจนไม่เหลือพื้นที่ที่เป็นวังน้ำให้เห็นแล้ว ประชากรในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นการอพยพมาจากจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี และชัยนาท โดยมาตั้งอยู่ 2 ฝั่งคลองจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ภาษาที่ใช้สื่อสาร คือ ภาษาโซ่ง และนับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพทำนา ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ นายแอ  แซ่รอ, นายสมบูรณ์  โอรักษ์, นายพรม  หะนาท, นายลวน  สิงห์รอ และนายอำนวย อินทนู มีวัดประจำหมู่บ้านที่เป็นศูนย์รวมจิตใจคือ “วัดวังน้ำสามัคคี” ตลอดจนใช้เป็นสถานที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และจัดกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนบ้านวังน้ำ เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ของหมู่บ้าน คือ วิถีวัฒนธรรมไทยทรงดำ เน้นพิธีการไหว้ผีบรรพบุรุษ พิธีเสนเรือน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อยู่ดีมีสุข เจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกันกับการไหว้บรรพบุรุษของคนจีนนั่นเอง ตลอดจนประเพณีทางพุทธศาสนา และ เทศกาลต่าง ๆ ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ การใช้น้ำมันรักษาเรื่องกระดูก (ไทยทรงดำ  บ้านวังน้ำ  ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร, 2562, ออนไลน์) 

ความเป็นมาของไทยทรงดำในประเทศไทย
         ไทยทรงดำหรือไทดำ เดิมทีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไท ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท คือเมืองเดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) หรือ เดี่ยนเบียนฝู (Điện Biên Phủ) (ชื่อเดิม : แถง) เป็นเมืองหนึ่ง ในจังหวัดเดี่ยนเบียน ปัจจุบันไทดำที่เวียดนามอาศัยอยู่หนาแน่นในจังหวัดซอนลาและไลโจว (เมืองแถง) หรือเดียนเบียนฟู (ตำแหน่งในวงกลม) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเวียนนามมีเขตติดต่อกับลาวในปัจจุบัน ห่างจากกรุงฮานอยประมาณ 200 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทดำและมีชาวไทขาวซึ่งมีภาษาอยู่ในตระกูลไท-กะได เช่นเดียวกับไทยสยาม นิยมสร้างบ้านตามบริเวณริมน้ำ ประกอบอาชีพทำนาทำไร่ เมืองแห่งนี้เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นที่รบยุทธการที่เดียนเบียนฟูระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1954 (เดียนเบียนฟู, 2562, ออนไลน์)
         เมืองเบียนเดียนฟูตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ไทยโซ่งมีชื่อเดิมเรียกกันว่า ไทดำหรือผู้ไทดำ (Black Tai) เพราะนิยมใส่เสื้อดำล้วน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนไทยที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น ไทขาวหรือผู้ไทขาว (White Tai) นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและไทแดง หรือผู้ไทแดง (Red Tai) ชอบใช้สีแดงขลิบและตกแต่งชายเสื้อสีดำเป็นต้น คนไทยภาคกลางมักจะเรียกกันว่า ลาวทรง ดำ และเหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกันกับลาว
         และอพยพมาพร้อมกับลาวกลุ่มอื่น ๆ ต่อมาชื่อเดิมได้หดหายลง คำว่า “ดำ” หายไป นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า “ลาวทรง” หรือ “ลาวโซ่ง” จนบางครั้งไม่รู้ว่าลาวโซ่งนี้ คือพวก ไทดำนั่นเอง (ไทยทรงดำเพชรบุรี, 2562, ออนไลน์)
         ไทยทรงดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นชนชาติไทยสาขาหนึ่ง เรียกว่า พวกผู้ไท ซึ่งแบ่งออกตามลักษณะ สีของเครื่องแต่งกาย เช่น ผู้ไทขาว, ผู้ไทแดง และผู้ไทดำ เป็นต้น ผู้ไทดำนิยมแต่งกายด้วยสีดำจึงเรียกว่า ไทย ทรงดำ หรือ เรียกได้หลายชื่อ เช่น โซ่ง, ซ่ง, ไทยโซ่ง, ไทยซ่ง, ลาวโซ่ง, ลาวซ่ง, ลาวทรงดำ และ ลาวพุงดำ ส่วน คำว่า “โซ่ง” มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่า กางเกง เพราะเนื่องจากชาวไทยทรงดำนิยมนุ่งกางเกงทั้งชายและหญิง คนไทยและลาวพวนจึงเรียกว่า “ลาวซ่วง” ซึ่งหมายถึงลาวนุ่งกางเกง ต่อมาเพี้ยนเป็น ลาวโซ่ง เหตุที่เรียกไทยทรงดำว่า “ลาวโซ่ง” เพราะคำว่า “ลาว” เป็นคำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคนที่อพยพมาจากถิ่นอื่น แต่ชาวไทยทรงดำถือตนเองว่าเป็นชนชาติไทย จึงเป็นที่มาและการตั้งถิ่นฐาน
         การเข้ามาสู่ประเทศไทยของชาวไทยทรงดำ เกิดขึ้นจากสงครามสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) กระทั่งเข้าสู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ไทยทรงดำถูกกวาดต้อนกวาดครัวมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นอันมาก ในระยะแรกนั้นชาวไทยทรงดำได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย (สมัยพระเจ้าตากสินและรัชกาลที่ 1) ต่อมาในระยะที่สอง (สมัยรัชกาลที่ 3) โปรดฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ จึงมาตั้งถิ่นฐานที่ท่าแร้ง เมื่อปี พ.ศ. 2378-2381 ก่อนชาวไทยมุสลิมท่าแร้งซึ่งถูกกวาดครัวเข้ามาภายหลังโซ่ง ไทยมุสลิมหรือที่เรียกว่า แขกท่าแร้ง มาสู่เพชรบุรีในลักษณะถูกกวาดครัวเข้ามาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรีในราวปี พ.ศ. 2328 เนื่องด้วยเหตุผลทางสงครามเช่นกัน อย่างไรก็ดี สงครามครั้งนั้นพวกลาวพวนหรือไทยพวน พวกลาวเวียง หรือไทยเวียง ซึ่งเป็นชนชาติไทยด้วยสาขาหนึ่ง ก็ได้ถูกกวาดครัวมาด้วยเช่นกัน เพชรบุรีจึงประกอบด้วย ชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า “สามลาว” อันได้แก่ ลาวโซ่ง ลาวพวน และ ลาวเวียง ปัจจุบันชาวไทยทรงดำได้ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายกันอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย เช่น สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เลย เป็นต้น ธรรมชาติของไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ชอบภูมิศาสตร์การอยู่อาศัยในลักษณะที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ชอบลักษณะภูมิประเทศ ป่าเขาเสมือนถิ่นดั้งเดิมของตน ลาวโซ่งกลุ่มนี้ไม่ชอบภูมิประเทศที่ท่าแร้ง เพราะมีลักษณะเป็นที่โล่งเกินไป จึงได้รวมกันอพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมา ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สะพานยี่หน ทุ่งเฟื้อ วังตะโก บ้านสามเรือน เวียงคอย เขาย้อย ตามลำดับ ลาวโซ่งนิยม ปลูกบ้านที่มีลักษณะเป็นแบบเฉพาะของตนเองคือแบบหลังคาไม่มีจั่ว หลังคายกอกไก่สูง มุงด้วยตับต้นกกไม่ใช้ตับจาก รูปหลังคาลาดคุ่มเป็นรูปคล้ายกระโจมคลุมลงมาต่ำเตี้ยจรดฝาดูไกล ๆ จะดูเหมือนไม่มีฝาบ้านเพราะเนื่องจากหลังคาคลุมมิดจนมองไม่เห็น บ้านโซ่งจะไม่มีหน้าต่างเนื่องจากโซ่งมาจากเวียดนามและลาว อยู่ตามเทือกเขามีอากาศหนาวเย็นจึงไม่นิยมมีหน้าต่างให้ลมโกรก พื้นบ้านมักปูด้วยฟากไม้ไผ่รองพื้นด้วยหนังสัตว์ นิยมทำใต้ถุนบ้านยกสูงเพื่อใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่เลี้ยงสัตว์

โซ่งกับการก่อสร้างพระนครคีรี
         พระนครคีรีเขาวัง หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี เป็นสถานที่เที่ยวที่สำคัญของเพชรบุรีซึ่งถือได้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเพชรบุรี เพราะเมื่อเข้าสู่เมืองเพชรบุรี สิ่งที่จะได้เห็นโดดเด่นเห็นมาแต่ไกล คือ เขาวัง ซึ่งมีเจดีย์และอาคารสีขาวสะอาดเขาวังเป็นโบราณสถาน เก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 92 เมตร เดิมเรียกว่า เขาสมนหรือเขาคีรี การก่อสร้างพระราชวังบนเขาในระยะนั้นถือเป็นเรื่องยากลำบาก เนื่องจากเครื่องจักรกลเครื่องทุนแรงยังไม่มี การแผ้วถางปรับสภาพยอดเขาทั้งสามยอดให้รานราบมีทางขึ้นลงเชื่อมต่อกัน การลำเลียงอุปกรณ์เพื่อการก่อสร้างจำเป็นต้องใช้แรงงานขั้นพื้นฐานจำนวนมาก ครั้งนั้นพระเจ้ายาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระสมุหกลาโหม ในฐานะแม่กองงานใหญ่ในการก่อสร้างพระราชวังบนเขา มีทั้งอำนาจทางทหารกำลังไพร่พลในการควบคุมดูแลโซ่งที่ได้กวาดครัวมาไว้ที่เพชรบุรี อย่างไรก็ดี ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2378-พ.ศ. 2381) โซ่งอพยพได้ออกจากท่าแร้งไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เชิงเขากิ่ว สะพานยี่หน เวียงคอย วังตะโก ซึ่งอยู่ใกล้กับเขาสมน จึงถูกกำหนดเกณฑ์มาเพื่อใช้เป็นแรงงานสำหรับก่อสร้างพระราชวังในครั้งนี้ นับเนื่องแต่ พ.ศ. 2401-พ.ศ. 2405 เป็นต้นมา
         ทุกเช้าจรดเย็นแรงงานโซ่งมักนิยมนุ่งกางเกง (ซ่วง) สีดำ สวมเสื้อก้อมย้อมสีครามดำ เดินออกจากหมู่บ้านสะพานยี่หนมุ่งตรงไปยังเขาสมน นับวัน นับเดือน นับปี ด้วยความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อหน้าที่ จวบจนกระทั่งเมื่อพระราชวังบนเขาพระนครคีรีสำเร็จได้เป็นที่แปรพระราชฐาน ทรงงาน รับรองพระราชอาคันตุกะต่างประเทศ และเป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรหลานเจ้าเมืองและคหบดีที่มีชื่อ มารับราชการเป็นมหาดเล็กและโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกโซ่งมาเป็นเด็กชาด้วย เนื่องจากทรงเห็นความดีความชอบจากการที่โซ่งมาเป็นแรงงานก่อสร้าง ช่วงก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรีก็ทำด้วยความอดทน (ไทยทรงดำเพชรบุรี, 2562, ออนไลน์)

ที่อยู่อาศัย/ความเป็นอยู่
         เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมชุมชนแต่ละแห่งก็คือตัวสถาปัตยกรรมอันเป็นที่อยู่อาศัยของแต่ละชาติพันธุ์ เป็นสิ่งแสดงออกทางภูมิปัญญาซึ่งนอกเหนือไปจากความงามแล้ว การทำให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เฮือนไทดำหรือบ้านเรือนไทยทรงดำ แบบดั้งเดิมมักนิยมปลูกบ้านที่มีลักษณะเป็นแบบเฉพาะของตนเอง คือแบบหลังคาไม่มีจั่ว หลังคายกอกไก่สูงมุงด้วยตับต้นกกไม่ใช้ตับจาก รูปหลังคาลาดคุ่มเป็นรูปคล้ายกระโจม คลุมลงมาต่ำเตี้ยจรดฝา ดูไกล ๆ จะดูเหมือนไม่มีฝาบ้าน เพราะเนื่องจากหลังคาคลุมมิดจนมองไม่เห็น บ้านโซ่งจะไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากโซ่งมาจากเวียดนามและลาว อยู่ตามเทือกเขา มีอากาศหนาวเย็นจึงไม่นิยมมีหน้าต่างให้ลมโกรก พื้นบ้านมักปูด้วยฟากไม้ไผ่ รองพื้นด้วยหนังสัตว์ นิยมทำใต้ถุนบ้านยกสูงเพื่อใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่เลี้ยงสัตว์ แต่บางพื้นที่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือ มีหลังคาทรงโค้งรูปกระดองเต่า มุงหญ้าคายาวคลุมลงมาเกือบถึงพื้นดินแทนฝาเรือน นอกจากนี้การยกใต้ถุนสูงก็เพื่อประโยชน์ในการเก็บสิ่งของเครื่องใช้ ไว้เป็นที่ประกอบการงาน เช่น ทอผ้า ตำข้าว มักมีแคร่ไว้นั่งนอนและเป็นที่รับแขกในเวลากลางวัน เสาเรือนทำด้วยไม้ทั้งต้น มีง่ามไว้สำหรับวางคาน จุดเด่นของบ้านเรือนของไทยทรงดำนอกเหนือจากหลังคาแล้ว คือยอดจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน เรียกว่า  “ขอกุด”
         ถึงแม้ว่าบ้านไทยทรงดำบ้านวังน้ำในปัจจุบัน จะนิยมมาใช้รูปแบบการผสมผสานระหว่างปูนกับไม้ บางบ้านก็เป็นรูปทรงสมัยใหม่ไม่เหลือเค้าโครงความเอกลักษณ์ของไทยทรงดำอยู่เลยก็ตามที แต่ทว่าลักษณะที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกบ้านนั้นจะต้องมีห้องสำหรับบูชาผีเรือนแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม นับเป็นความน่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ว่า ลักษณะที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มไทยทรงดำแท้ ๆ กำลังจะสูญหายไป เฮือน (เรือน) ไทยทรงดำ มักนิยมทำให้ภายในตัวบ้านเป็นพื้นที่โล่งแล้วจัดแบ่งเป็นส่วนสำหรับที่นอน ครัว และเป็นส่วนที่ใช้สำหรับเซ่นไหว้บูชาผีเรือนโดยกั้นเป็นห้อง เรียกว่า “กะล้อห่อง” นอกจากนี้นิยมทำชานบ้านยื่นออกจากตัวบ้าน มีบันไดขึ้นเรือน 2 ทาง มียุ้งข้าวที่สร้างเป็นเรือนยกเสาสูงไว้ข้างที่พักอาศัย ไทยทรงดำจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการที่ผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ จนกระทั่งต่อมารูปแบบเรือนไทยทรงดำได้เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่เป็นหญ้าคาที่นำมามุงหลังคาจะเริ่มหายาก
         ทั้งยังไม่คงทนแล้ว ยังเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการติดไฟ เนื่องจากบ้านไทดำปลูกใกล้กันเป็นกลุ่ม หากเกิดไฟไหม้จะลุกลามไปบ้านอื่น ๆ ได้รวดเร็ว ลักษณะบ้านและวัสดุที่ใช้ได้เปลี่ยนมาเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคามีทั้งที่เป็นสังกะสีและกระเบื้องมุงหลังคา รวมทั้งการแบ่งกั้นห้องตามลักษณะการใช้สอยอย่างเรือนไทยทรงดำดั้งเดิมก็ได้มีลักษณะผสมผสานระหว่างเรือนแบบดั้งเดิมกับเรือนสมัยใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุผสมระหว่างปูนกับไม้ บางบ้านก็ยังคงมีลักษณะของการมีใต้ถุนบ้านเพื่อประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ก็ยังคงมีอยู่ หากแต่เพียงไม่มีการเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนเรือนแล้ว 

การแต่งกาย
         วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวไทดำก็คือการแต่งกาย เนื่องด้วยชาวไทดำนิยมแต่งกายด้วยผ้าสีดำจึงได้เรียกว่าไทดำหรือไทยทรงดำนั่งเอง อย่างไรก็ดี เสื้อผ้าสำหรับการแต่งกายของชายหญิงจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เสื้อผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน และ เสื้อผ้าสำหรับใส่ในงานประเพณีหรืองานบุญต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงมักนิยมใช้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมครามเข้ม สำหรับเสื้อผ้าที่ใส่ในพิธีกรรมจะจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ มีสีดำตกแต่งด้วยผ้าไหมชิ้นเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ ได้แก่
         1. เสื้อก้อม ผู้หญิงไทยทรงดำมักนิยมทำทรงผมปั้นเกล้ายกสูงเสียบเกล้าผมด้วยปิ่นปักผมเงินรูปตัว U ปลายแหลมและสวม “เสื้อก้อม” ทอจากฝ้ายเป็นเสื้อไม่มีคอกลมแขนทรงกระบอก ติดกระดุมเงินทรงดอกผักบุ้งถี่หลายเม็ด เสื้อก้อมเป็นเสื้อสำหรับใส่ทำนาหรือไปกินเสน มีลักษณะเป็นเสื้อคอตั้ง ติดกระดุมที่คอ แขนยาว ตัวเสื้อยาวถึงสะโพก ด้านข้างทำเป็นซองจะงอยอยู่ในตัวเสื้อ ตรงเอวติดสาบเสื้อ เว้นตรงสาบเสื้อเหนือเอวประมาณ 2 นิ้ว ติดกระดุม 13 เม็ด หรือ 15-19 เม็ด เสื้อก้อมเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีทั้งหญิงและชาย
         เสื้อก้อมผู้หญิงจะมีรูปร่างและสีคล้ายคลึงกับของผู้ชายมีส่วนที่แตกต่าง คือ แขนทรงกระบอกรัดมือข้อมือเพื่อให้การสวมใส่แนบลำตัว จึงตัดเย็บต่อแขนติดกับลำตัว ต่อชนตะเข็บตรง ๆ ไม่เว้าและมีผ้าแทรกใต้รักแร้
         เสื้อก้อมผู้ชาย เป็นเสื้อคอตั้งไม่มีปก แขนเสื้อต่อตรงไปถึงปลายแขนโดยใช้ผ้าทบสองชั้น ให้เป็นรูปทรงกระบอกยาวถึงข้อมือ การต่อแขนเสื้อไม่ตัดผ้าให้โค้ง แต่มีวิธีทำแขนให้กว้างโดยแทรกผ้ารูปสี่เหลี่ยมไว้ใต้รักแร้ ทำให้โคนแขนเสื้อใหญ่ขึ้น ซึ่งทำให้สะดวกในการสวมใส่และการเคลื่อนไหว บริเวณชายเสื้อด้านข้างลำตัวทั้งสองข้างแทรกด้วยผ้ารูปสามเหลี่ยมตั้งแต่เอวถึงสะโพกและติดกระดุมเงินยอดแหลมดำแขนยาวทรงกระบอกแคบผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินมียอดแหลมประมาณ 10 – 15 เม็ด (วิลาวัลย์  ปานทองและคนอื่นๆ, 2551, 24-25)
         2. ผ้าซิ่น เป็นผ้านุ่งลายแตงโมและเป็นลายยอดนิยมของไทยทรงดำ ส่วนใหญ่มีสีกรมท่าเข้มจัดจนถึงสีดำ ย้อมด้วยสีจากต้นฮ้อมและนิล ลายแตงโมจะมีลักษณะเป็นเส้นแถบยาวสีขาวตัดกับสีครามเข้มหรือสีดำ การใช้ผ้าซิ่นเป็นเอกลักษณ์ของหญิงไทยทรงดำในอดีตดั้งเดิม จะนุ่งผ้าที่ทอกันขึ้นมาใช้เองตั้งแต่อดีตถึงยุคปัจจุบัน ทุกครัวเรือนผู้หญิงจะเป็นผู้ทอผ้าขึ้นมาใช้เอง เป็นผ้าฝ้ายทอมือประกอบไปด้วยเชิงบนซิ่นเป็น "หัวซิ่น" "ตัวซิ่น" เชิงล่างซึ่งเป็น "ตีนซิ่น" ย้อมคราม จนเป็นสีครามเข้มเกือบดำ นำมาทอสลับลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลาวโซ่ง ผู้หญิงในชีวิตประขำวันจะนุ่งซิ่น "ลายแตงโม" หรือ "ลายชะโด" ลักษณะเฉพาะของผ้าลายแตงโม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือหัวซิ่นจะเป็นสีครามไม่มีลวดลายกว้าง 12 นิ้ว ส่วนที่ 2 จะเป็นลายโดยใช้เทคนิคการทอขัด แต่พิเศษที่ว่าเป็นฝ้ายแกมไหม คือ ใช้ไหมสีแดงเป็นเส้นยืนทอเส้นพุ่งด้วยฝ้ายสีครามสลับสีผ้าอ่อนเป็นทางเล็ก ๆ คล้ายลายบนผลแตงโม เวลาทอเสร็จจะมองไม่เห็นไหมสีแดงเลย ส่วนที่ 3 กว้างประมาณ 1 ฟุต มีลวดลายสีขาวสองสามริ้ว เย็บติดเป็นตีนซิ่น ถ้าสามีตายต้องเลาะ  ตีนซิ่นนี้ออกเพื่อไว้ทุกข์
        3. เสื้อฮี ไทยทรงดำทั้งหญิงและชาย นอกจากจะมีเสื้อก้อมที่เป็นเสื้อสวมใส่ในเวลาโอกาส ต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีเสื้ออีกแบบหนึ่งที่ถือเป็นเสื้อสำคัญและเป็นเสื้อที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตในวาระโอกาสต่าง ๆ ก็คือ “เสื้อฮี”เสื้อฮี หรือเสื้อยาวเป็นเสื้อพิธี ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีดำหรือครามเข้ม มีคอกลมและติดกระดุม 2 เม็ด เรียกว่า กระดุมนมแมว ตัวเสื้อมีความยาวถึงสะโพก ใต้รักแร้เย็บด้วยผ้าไหมเป็นลวดลายสีต่าง ๆ โดยมีเพียง 4 สีเท่านั้น คือ สีแดง สีเขียว สีขาว สีส้ม
         ชายเสื้อฮีจะมีการตกแต่งด้วยลวดลายและไม่มีลวดลาย ด้านที่ไม่มีลวดลายจะสวมใส่ในเวลาไปงานต่าง ๆ ส่วนด้านที่มีลวดลายไม่นิยมสวมใส่ แต่จะเอามาคลุมโลกศพในเวลาที่ตายแล้ว ด้วยเหตุนี้ ชาวไทยทรงดำจึงต้องมีเสื้อฮีประจำตัวเอง เพื่อใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น แต่งงาน ทำขวัญ งานศพ เสนเรือน เป็นต้น เสื้อฮีของผู้ชายและผู้หญิงจะมีความคล้ายคลึงกัน เพียงแต่เสื้อของผู้หญิงจะมีการทำจีบย่น 2 แห่ง เพื่อทำให้คอตั้งขึ้นเรียกว่า แอ่วแหนบ จะนิยมทำด้วยผ้าแพรดำ ด้านในบริเวณรอยต่อตะเข็บจะปิดด้วยผ้าหลายสีเป็นแนวยาวให้ดูเรียบร้อย นิยมปักลายดอกแก้ว ลายดอกผักแว่น ลายดอกพิกุล ลายตานกแก้ว ลายหมาย่ำ ลายผีเสื้อ และลายหน้าเสือ (วิลาวัลย์  ปานทองและคณะ, 2551, น.24-25)
        4. เสื้อต๊ก เป็นเสื้อที่ใช้สวมใส่ในงานศพ เฉพาะบุตรผู้ตายที่เป็นสายเลือดเดียวกันในครอบครัวเท่านั้น เป็นเสื้อที่ทำมาจากผ้าฝ้ายดิบสีขาว (คล้ายคลึงกับของคนจีนที่ใส่ในงานพิธีกงเต๊ก) โดยจะตัดเย็บไม่ปราณีตให้มากนัก เพราะจะใส่เวลาที่มีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตเท่านั้น ลักษณะเสื้อจะเป็นแบบคอวี มีแขน เสื้อต๊กจะไม่มีลวดลาย รูปแบบเสื้อของชายและหญิงจะเหมือนกัน
        5. เสื้อไท เป็นเสื้อที่ใส่ไปเที่ยวไปเกี้ยวสาว หรือไปร่วมงานในพิธีต่าง ๆ ที่ตนเองไม่ได้ไปเกี่ยวดองเป็นลูกหลานหรือเขย เป็นเสื้อขนาดใหญ่หรือเป็นเสื้อแบบลำลองก็ว่าได้ ตัดเย็บและย้อมด้วยสีครามเข้ม แขนทรงกระบอกผ่าหน้าตลอด และติดกระดุมเรียงเม็ดเต็มรูปแบบ ประมาณ 27 เม็ด เรียกว่า 3 ซุ้ม รองลงมาคือ 23 และ 21 ใครติดกระดุมถี่ถือว่าเป็นคนที่เรียบร้อยมีระเบียบในชีวิต
        6. ส้วงก้อม หรือเรียกอีกอย่างว่ากางเกงขาสั้น ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีครามเข้ม ไม่มีการต่อขอบเพิ่ม มีความยาวประมาณหัวเข่าบริเวณเอวจะเป็นส่วนกว้าง เวลานั่งจะทบผ้าไว้ด้านหน้าส้วงก้อมไม่นิยมทำลวดลายเป็นผ้านุ่งที่ทอแบบเรียบ
        7. ส้วงฮี หรือเรียกอีกอย่างว่ากางเกงขายาว ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีครามเข้ม บริเวณเอวตัดเย็บเป็นผ้าผืนเดียวกัน ไม่มีการต่อผ้ามีความยาวถึงข้อเท้า ไม่นิยมทำลวดลายเป็นผ้านุ่งที่ใช้สวมใส่ในงานที่เป็นพิธีการ เช่น พิธีสืบผี พิธีแต่งงาน ในกรณีงานศพจะนุ่งส้วงฮีและสวมเสื้อฮีไปร่วมงานของญาติที่เป็นพี่น้องตระกูลเดียวกัน เรียกว่าผีเดียวกัน (วิลาวัลย์ ปานทองและคณะ, 2551, น.27)

วัฒนธรรมด้านความเชื่อและพิธีกรรม
         ชุมชนชาวไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ปัจจุบันยังคงมีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ที่ทำกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นกันอย่างเคร่งครัด เพราะไทยทรงดำเชื่อว่าหากกระทำตามแบบอย่างบรรพบุรุษที่ได้สอนสั่งกันมานั้น จะช่วยให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขในครอบครัวทำมาหากินกันได้อย่างเจริญรุ่งเรือง ความเชื่อเรื่องการนับถือผี ล้วนสะท้อนออกมาจากพิธีกรรมเสนเรือน พิธีปาดตง ซึ่งพิธีที่ถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงต่อการดำเนินชีวิตภายใต้วัฒนธรรมไทยทรงดำ สะท้อนถึงอุปนิสัยการมีความเคารพนบนอบต่อบรรพบุรุษของตน ไทยทรงดำในยุคสมัยบรรพบุรุษ ช่วงก่อนและเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น ต่างนับถือเอา “แถน” เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยในเวียดนามก็มี “เมืองแถน” ซึ่งหมายถึง เมืองที่นับถือศาสนาแถนหรือเทพแถนนั่นเอง แต่ภายหลังได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็นเมือง “เดียนเบียนฟู”ชาวไทดำหรือไทยทรงดำเชื่อว่า แถน เป็นเทวดาที่อยู่บนฟ้ามีอำนาจเหนือมนุษย์ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีและสิ่งร้ายขึ้นได้ เพื่อให้เกิดสิ่งดีมนุษย์จะต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามความประสงค์ของแถน เพื่อให้แถนเกิดความเมตตาและบันดาลความสุข แม้กระทั่งเมื่อเสียชีวิตลงก็ยังมีคำกล่าวถึงการกลับไปสู่เมืองแถน อันเป็นเมืองหลังความตายในความเชื่อของไทยทรงดำ
         อย่างไรก็ตามความเชื่อของชาวไทยทรงดำนั้นมีมากมายเหมือนกันกับความเชื่อเรื่องแถนของไทดำในประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ดี ชาวไทยทรงดำบ้านวังน้ำยังคงมีการรักษาการทำพิธีกรรม ตามความเชื่อดั้งเดิม ครั้นเมื่อถึงวาระโอกาสต่าง ๆ ก็จะมีการกระทำกันในแต่ละครับครัว อาทิ พิธีเสนเรือน พิธีปาดตง โดยพิธีเสนเรือน เป็นการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีเรือน โดยจะนำเครื่องเซ่นไหว้ใส่ถาดตั้งวางไว้มุมเสาหนึ่งของบ้าน โดยมีการฆ่าหมูตัวผู้ 1 ตัวเพื่อนำมาเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยมีหมอเสนทำพิธีเรียกชื่อให้มากินของเซ่นไหว้เมื่อทำแล้วเชื่อว่าจะอยู่เย็นเป็นสุข ความเจริญจะเกิดกับครอบครัว โดยเสนเรือนจะทำสามปีต่อ 1 ครั้ง

พิธีเสนเรือน
         จะเริ่มจากเจ้าภาพจะเชิญผู้ประกอบพิธีคือ “หมอเสน” มาเป็นผู้ประกอบพิธีเสนเรือน พร้อมกับแจ้งญาติพี่น้องให้ทราบกำหนดวันทำพิธีไหว้ผีเรือน หรือเสนเรือน และต้องตระเตรียมเครื่องใช้ในการทำพิธีให้เรียบร้อย ได้แก่ เสื้อฮี-ส้วงฮี สำหรับเจ้าภาพสวมใส่ขณะทำพิธีเสนเรือน ปานเผือน (ภาชนะคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ บรรจุอาหารเครื่องเซ่นผีเรือน) ปานข้าว (ภาชนะใส่อาหารในหม้อเสน) ตั่งก๋า (เก้าอี้หรือ  ม้านั่งสำหรับหมอเสนนั่งทำพิธีในห้องผีเรือน) และอาหารที่เป็นเครื่องเซ่นต่าง ๆ อาทิ หมูจุ๊บ (เนื้อหมู เครื่องในหมูยำ) แกงไก่กับหน่อไม้ดอง เนื้อหมูดิบ ซี่โครงหมู ไส้หมู ข้าวต้มผัดใส่กล้วย มันเทศต้ม เผือกต้ม อ้อย ขนม ผลไม้ต่าง ๆ ตามฤดูกาล ข้าวเหนียวนึ่ง 7 ห่อ ตะเกียบ 7 คู่ หมากพลู บุหรี่ และเหล้าเป็นต้น  เมื่อได้เวลาเซ่นไหว้ผีเรือน เจ้าภาพจะจัดเครื่องเซ่นต่าง ๆ บรรจุลงในปานเผือนที่เตรียมไว้ และยกเข้าไปวางไว้ในห้องผีเรือน  ที่เรียกว่า “กะล่อห่อง” ซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธี หมอเสนจะเริ่มเซ่นไหว้ ด้วยการเรียกหรือกล่าวเชิญบรรดาผีเรือนที่เป็นบรรพบุรุษของเจ้าภาพ โดยเรียกชื่อบรรพบุรุษตามบัญชีรายชื่อ ที่เจ้าภาพจดร่วมกันไว้ในสมุดผีเรือน เรียกว่า “ปั๊บผีเรือน” หรือ “ปั๊บ” จนครบทุกรายชื่อเป็นจำนวน 3 ครั้ง โดยในแต่ละครั้ง หมอเสนจะใช้ตะเกียบคีบหมูกับขนมทิ้งลงไปในช่องเล็ก ๆ ข้างขวาห้องผีเรือนทีละครั้ง จากนั้นจึงเซ่นเหล้าแก่ผีเรือนอีก 2 ครั้ง เพราะการเซ่นเหล้าเป็นสิ่งสำคัญอันไม่อาจขาดหรืองดเสียได้ เพื่อให้ผีเรือนได้กินอาหารและดื่มเหล้าอย่างอุดมสมบูรณ์ หลังจากเซ่นไหว้ผีเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายให้แก่เจ้าภาพเรียกว่า “ส่องไก่” ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวที่เจ้าภาพนำมาให้และจัดทำนายในลักษณะดังกล่าวคือหากตีนไก่หงิกงอแสดงว่า ไม่ดีจะมีเรื่องร้าย เกิดขึ้นอันได้แก่การเจ็บป่วย การตายหรือการทำมาหากินประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น แต่ถ้าตีนไก่เหยียดตรง แสดงว่าทุกคนในครอบครัวของเจ้าภาพจะประสบแต่ความสุขความเจริญต่อจากนั้น เจ้าภาพจะทำพิธีขอบคุณหมอเสนที่มาช่วยทำพิธีเสนเรือน ให้แก่ครอบครัวของตนเรียกว่า "ฟายหมอ" แล้วจึงเลี้ยงอาหารแขกที่มาช่วยงานเป็นอันเสร็จพิธี (ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร, 2562, ออนไลน์)

พิธีปาดตง
         พิธีกรรมนี้เป็นการเซ่นไหว้ผีหรือเลี้ยงผีเฮือนหรือผีเรือนด้วยอาหารต่าง ๆ เป็นประจำในทุก ๆ รอบ 10 วัน ตามวันที่กำหนดของแต่ละตระกูล เรียกว่า “เวนตง” ครอบครัวผู้ต๊าวจะมีวันเวนตง 2 วัน ส่วนผู้น้อยจะมีเวนตง 1 วัน ผู้ที่เป็นผีเฮือนเดียวกันจะมีเวนตงวันเดียวกัน การนับวันของไทยทรงดำ ใน 1 รอบ จะมี 10 วัน ประกอบไปด้วย มื่อเต่า มื่อกำ มื่อก๊าบ มื่อฮับ มื่อฮาย มื่อฮวง มื่อเมิง มื่อเปิ๊ก มื่อกัด และมื่อขด (มื่อหมายถึง วัน) (วิลาวัลย์  ปานทองและคณะ, 2551, น.27) 
         อย่างไรก็ดี ในระบบความเชื่อของคนตระกูลไทดั้งเดิม จะมีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติและบรรพบุรุษคือมีการบูชาธรรมชาติและบรรพบุรุษ ตลอดจนมีการบูชาแถนในสถานะเทวดาผู้สร้าง ซึ่งเชื่อว่า แถนปั้นหล่อคน แถนสร้างโลก  แถนกำหนดชะตาชีวิตผู้คน แถนมอบความรู้มอบปัญญาให้กับผู้คน และเชื่อว่าแถนบันดาลสิ่งต่าง ๆ ขึ้นบนโลก ขณะเดียวกันบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วก็จะขึ้นไปอยู่เมืองแถน ตายไปเป็นแถนอยู่กับแถนหลวงผู้เป็นใหญ่ ดังคำกล่าวของไทยทรงดำที่ว่า “แถนสร้างโลกก่อเป็นดินก่อเป็นฟ้าก่อเป็นดั่งดอกเห็ดก่อเป็นดินเจ็ดก้อนก่อเป็นหินสามเส้าก่อเป็นน้ำเก้าแควปากแต้ตาวจามนั้น แถนจึงให้เจ็ดปู่สะกงลงมาแต่งแผ่นดินเมืองลุ่มมีทุกอันมีทุกเยี่ยงทุกสิ่งแถนจึงให้เจ็ดปูมาแต่งเมืองเป็นบ้านเป็นเมืองยามนั้น”

พิธีงานแต่งงาน
         เมื่อหนุ่มสาวไทยทรงดำได้ตกลงปลงใจต่อกันแล้ว จะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอซึ่งเรียกว่า ไป “ส่อง” หรือส่องขันหมากน้อย ซึ่งมีความหมายเท่ากับการหมั้นโดยจัดหมากพลูใส่กะเหล็บ ผู้ต้าวใช้ 4 กะเหล็บ ผู้น้อย 2 กะเหล็บ ซึ่งฝ่ายหญิงจะนำไปแจกญาติของตน เดือนที่ไม่นิยมแต่งงาน คือเดือน 5 สำหรับวันต้องไม่ใช้วันเวนตงของฝ่ายหญิง (วันเวนตงคือวันเลี้ยงผีประจำบ้าน) วันแต่งงานเจ้าบ่าว เจ้าสาวต้องใส่เสื้อฮี ผู้ต้าวมีเพื่อนเจ้าบ่าว เจ้าสาวจำนวน 6 - 8 คน ผู้น้อยใช้ 2 - 4 คน ชุดเจ้าบ่าวต่างจากชุดเพื่อนเจ้าบ่าวต้องใส่เสื้อฮีทุกคน เฉพาะเจ้าบ่าวต้องสวมหมวกงอบ สะพายย่ามแดงบ่าขวา สะพายฝักมีดบ่าซ้าย ซึ่งให้ความหมายว่ามีความขยันทำมาหากินแข็งแรง การแต่งงานมี ขั้นตอน 4 ขั้นตอน คือ ส่อง สู่ สา ส่ง ขั้นส่อง คือ การไปจีบสาวสอดส่องด้วยตนเองว่าสาวใดถูกใจ มักจะใช้ในโอกาสการเล่นการละเล่นพื้นบ้านหรืองานประเพณีต่าง ๆ ขั้นสู่ คือ ฝ่ายชายหมายตาว่าจะ ให้หญิงนั้นเป็นคู่ครอง ก็จะให้ผู้ใหญ่ไปเจรจาสู่ขอจากพ่อแม่ของสาว ซึ่งต้องใช้ขันหมากพลูและเงิน ทองไปมอบให้ฝ่ายหญิง ขั้นสา คือ ฝ่ายชายที่ได้ทำการสู่ขอสาวแล้วนั้นเป็นผู้ที่ยากจนมีเงินทองน้อย  หรือทางฝ่ายหญิงไม่มีพี่น้องฝ่ายชายจึงช่วยทำงานให้กับพ่อแม่ ฝ่ายชายจะต้องนำตัวเองมาอาสา ทำงานรับใช้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นการทดแทน บางรายใช้เวลาเป็นปี ในระยะนี้ชายและหญิงอาจอยู่กิน ฉันสามีภรรยาได้ด้วยเป็นบางรายเท่านั้น กรณีที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่เรียกสินสอดทองหมั้น สา คือ อาสา โดยฝ่ายชายต้องอยู่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อช่วยทำมาหากิน ตามแต่จะกำหนดเวลาไว้ว่ากี่ปี แล้วจึงนำฝ่าย หญิงนำไปสู่บ้านของตนซึ่งจะต้องทำพิธีแต่งเข้าผี โดยฝ่ายหญิงออกจากผีเรือนของฝ่ายตนไปฝากเนื้อฝากตัวให้ผีเรือนฝ่ายชายปกป้องคุ้มครองถือว่าเป็นการออกเรือนของหนุ่มสาว ขั้นส่ง คือ งานเลี้ยงฉลองเพื่อส่งตัวเจ้าสาวไปยังบ้านเจ้าบ่าวเรียกว่านัดมื้อส่ง บรรดาญาติทั้งสองฝ่ายจะทำการเลี้ยงฉลองกันและกันทั้งสองฝ่าย งานส่งมักจะเป็นพิธีสำคัญในการแต่งงานตามประเพณีไทย ไทดำทั่ว ๆ ไป แต่ต้องใช้หมอพิธีดำเนินการเช่นเดียวกับประเพณีอื่น ๆ ในการส่งตัวเจ้าสาวนั้น หมอพิธีจะต้องทำขวัญบ่าวสาวที่บ้านหนุ่มก่อนที่จะเข้าเรือนหอด้วยการทำขวัญแต่งงานส่วนใหญ่ คือการสอนให้รู้จักประพฤติปฏิบัติตนให้กับชายหญิงที่จะมีชีวิตร่วมกันในการครองเรือนเป็นสำคัญ

พิธีงานศพ
         ครอบครัวไทยทรงดำเมื่อผู้ตายเกิดขึ้นในบ้านเจ้าของบ้านยิงปืนขึ้นฟ้า เพื่อส่งวิญญาณผู้ตายไปที่ชอบ ความเป็นจริงคือแจ้งเพื่อนบ้านให้รู้ว่ามีการตายเกิดขึ้นเมื่อผู้ชราเสียชีวิตในบ้านบรรดาญาติพี่น้องในหมู่บ้านนั้นจะหยุดทำงานและมาชุมนุมแสดงความเสียใจ ศพจะตั้งไว้ในบ้าน หลังจากได้ทำความสะอาดและสวมเสื้อฮีประจำตัวให้และบรรจุโลงเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะนำศพไปยังป่าช้า (แฮ่ว) หรือวัดเพื่อทำการเผา เช้าวันรุ่งขึ้นจึงทำการเก็บกระดูกหมอพิธีจะนำกระดูกบรรจุลงในภาชนะดินเผามีฝาปิดเพื่อฝังลงใต้ถุนบ้านที่สร้างขึ้นอย่างหยาบ ๆ เพื่ออุทิศให้ศพ เช่น เสื้อผ้าที่ตัดเย็บเป็นตัวแล้ว เสื้อฮีและผ้าทอเป็นผืน ๆ แขวนไว้บนเสาหลวงสร้างเรือนแก้วและเสายอดเป็นปลีดอกไม้ให้ จากนั้นที่บ้านของผู้ตายจะทำพิธีล้างเรือนให้เรือนสะอาด เขาเชื่อกันว่าเรือนที่มีคนตายจะเป็นเรือนที่ไม่สะอาด จึงต้องให้แม่มดมาทำพิธีรับเคราะห์และปล่อยไป รุ่งขึ้นจึงทำพิธีเชิญวิญญาณผู้ตายเข้าบ้านเพื่อเป็นผีเรือนประจำบ้านต่อไป

ศิลปะการแสดง
         ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ยังคงจัดงานการละเล่นในงานสำคัญประจำปีของชุมชนมา โดยมีการ “เล่นคอน-ฟ้อนแคน” “ขับไทดำ”ขับร้องเพลงพื้นบ้านไทดำและฟ้อนไทดำเพื่อสร้างความบันเทิงและความสามัคคี เชื่อมสัมพันธ์ของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมรื่นเริงที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดงานสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยปกติจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ณ สนามโรงเรียนบ้านวังน้ำ และได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลตำบลวังยาง มาโดยตลอดทุกปี

บทสรุป
         ไทยทรงดำ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีวัฒนธรรมประเพณีเกี่ยวพันกับความเชื่อการนับถือผีตามธรรมเนียมดั้งเดิม ความเชื่อดังกล่าวยังได้ส่งต่อกันมาหลายชั่วคน และมีอิทธิพลอย่างสูงในวิถีชีวิตประจำวัน พิธีกรรมต่าง ๆ สะท้อนถึงอุปนิสัยการมีความเคารพนบนอบต่อบรรพบุรุษของตน ตลอดจนความมีเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น ถึงแม้ว่าชาวไทยทรงดำจะต้องจากถิ่นฐานดั้งเดิมของตนมาเนิ่นนานเท่าใด ความผูกพันกับศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมและประเพณีที่เป็นพิธีกรรมก็ไม่เสื่อมคลายลงไปตามกาลเวลา ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ เป็นชุมชนหนึ่งในตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ที่ได้มีการร่วมมือร่วมแรงกันอย่างเหนียวแน่นในการอนุรักษ์และส่งเสริมให้มีเผยแพร่วัฒนธรรมชุมชนของตนเองสู่สาธารณชน เช่นเดียวกันกับไทยทรงดำในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ปัจจุบัน วัฒนธรรมชุมชนของไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ได้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรม ไทดำบ้านวังน้ำ ด้วยให้ประโยชน์ในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแก่หมู่บ้านวังน้ำให้ได้รู้จักกันโดยทั่วไป หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่เป็นชาวไทยทรงดำจึงควรภาคภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของตน ที่บรรพบุรุษได้กระทำสืบต่อกันมาและควรค่าแก่การสืบต่อไป

คำสำคัญ : ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ วัฒนธรรมชุมชน

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ_ตำบลวังยาง_อำเภอคลองขลุง_จังหวัดกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้น 26 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2107&code_db=610004&code_type=03

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2107&code_db=610004&code_type=03

Google search

Mic

การเข้าทรงนางด้ง ที่บ้านแม่ลาดใหญ่

การเข้าทรงนางด้ง ที่บ้านแม่ลาดใหญ่

ที่ตำบลแม่ลาด หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ มีภูมิปัญญาลาวครั่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สั่งสมมาช้านาน ถึงการนำอุดมการณ์แห่งความรัก ความสามัคคี ความอบอุ่น ความเขา้ใจ และการอยู่ร่วมกันในกลุ่มชนอย่างผาสุกมาใช้ได้อย่างเหมาะสม แนบเนียน ในชีวติประจำวัน ทำให้สังคมไทยอยู่อย่างมีเอกลกัษณ์เฉพาะตัว ในชีวิตความเป็นอยู่ที่สมถะ เรียบง่าย และไม่เน้นกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ยืดหยุ่น รักสงบ มีความสุข ในการทำกิจกรรมร่วมกัน

เผยแพร่เมื่อ 04-03-2020 ผู้เช้าชม 859

ประเพณีการอาบน้ำผู้ใหญ่

ประเพณีการอาบน้ำผู้ใหญ่

ช่วงเวลาระหว่างวันที่ 13-15 เดือนเมษายน (เดือน 5) ของทุกปี ซึ่งจะเลือกทำวันไหนก็ได้ จะเป็นตอนเช้าหรือตอนบ่ายเป็นไปตามการนัดหมายของแต่ละครอบครัว แต่ละบ้านโดยนัดหมายสถานที่และวัน เวลาไว้ล่วงหน้าเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจเป็นที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตามความเหมาะสม ความสำคัญประเพณี อาบน้ำผู้ใหญ่เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือแก่บิดามารดา และญาติคนแก่ (ผู้อาวุโส) ของตระกลู รวมทั้งผู้มีพระคุณและบุคคลที่ตนเคารพนับถือ

เผยแพร่เมื่อ 05-03-2020 ผู้เช้าชม 5,658

การทำขวัญข้าวของลาวครั่ง

การทำขวัญข้าวของลาวครั่ง

เมื่อข้าวออกรวงแก่ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้แล้วจะเป็นสีเหลืองอร่ามไปทั่วทุ่งนา ชาวนาจะต้องระมัดระวังสัตว์ร้ายหลายประเภทที่เป็นศัตรูข้าว เช่น นกกระจาบที่ชอบพากันมากินข้าวเป็นฝูง ๆ หรือปูที่ทำอันตรายต้นข้าวมากกว่านกกระจาบ นอกนั้นมีสัตว์อื่น ๆ อีก เช่น หนูพุก และเต่านา ดังนั้นในตอนนี้ชาวนาต้องทำหุ่นไล่กา หรือทำที่พักสำหรับไล่นก หรือทำเป็นกังหันให้ลมพัดหมุนมีเสียงดังหรือทำอย่างอื่นเพื่อคอยดูแลต้นข้าว นอกจากนี้มีพิธีไล่หนู นก เพลี้ย แมลง ปู หนอน และศัตรูข้าวอื่น ๆ พิธีทำขึ้นเพื่อไม่ให้ถูกนก หนูและสัตว์อื่น ๆ มาทำลายต้นข้าว 

เผยแพร่เมื่อ 04-03-2020 ผู้เช้าชม 2,129

ประเพณีแห่นาค ประเพณีโบราณจากพุทธกาลสู่ปัจจุบันกาล

ประเพณีแห่นาค ประเพณีโบราณจากพุทธกาลสู่ปัจจุบันกาล

ในปัจจุบัน ประเพณีการบวชนาคกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ สำหรักผู้ที่ต้องการจะบวชพระ จะต้องทำการบวชนาคก่อน เพื่อรำลึกถึงนาคผู้มีความตั้งใจบวช ในแต่ละท้องที่ในประเทศไทย ประเพณีบวชนาคและแห่นาคจะแตกต่างกันออกไป อาทิเช่น บวชนาคแบบธรรมดาเพื่อเตรียมบวช บวชนาคที่จัดพิธีแห่นาคอย่างประเพณีม้าแห่นาค เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการบวชนาคแบบใด ก็สะท้อนถึงประเพณีความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนในชาติ หากแต่ท้ายที่สุดการบวชนาคเป็นไปเพื่อสำหรับการบวชพระ ซึ่งถือได้ว่าเป็นทางสายกลางตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้แต่กาลก่อน

เผยแพร่เมื่อ 27-06-2022 ผู้เช้าชม 7,048

พิธีกรรมและความเชื่อของชาวลาวครั่ง

พิธีกรรมและความเชื่อของชาวลาวครั่ง

ลาวครั่ง มีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก การนับถือผีของชาวลาวครั่งเป็นการถือผีตามบรรพบุรุษ คือผีเจ้านายและผีเทวดา การนับถือมีอิทธิพลต่อชาวลาวครั่งมาก แม้แต่ในแง่ของการดำเนินชีวติไม่ว่าจะเป็นการประกอบพิธีกรรมหรือการดำรงชีวติประจำวัน ก็จะต้องไปข้องเกี่ยวกับผีของบรรพบุรุษ เนื่องจากอาชีพหลักของชาวลาวครั่ง คือการทำนา จึงมีประเพณีความเชื่อที่ถือปฏิบัติกันมา เพื่อความอุดมสมบูรณ์ คือ พิธีบูชาเซ่นสรวงแม่ธรณี และแม่โพสพ ก่อนหว่านข้าวเป็นการบอกกล่าวแม่ธรณีโดยจัดวางเครื่องเซ่นไว้บนพื้นดินบริเวณหัวคันนาและกล่าวแก่แม่ธรณีว่าจะทำนาแล้วขอให้คนและควายอยู่ดีมีสุขสบาย

เผยแพร่เมื่อ 05-03-2020 ผู้เช้าชม 11,682

วัฒนธรรมลาวครั่ง

วัฒนธรรมลาวครั่ง

ลาวคั่ง หรือลาวครั่ง ในเขตภาคกลางตอนบนนั้น มีหลักฐานประวัติความเป็นมา พบว่าบรรพ บุรุษได้อพยพมาจากอาณาจักรเวียงจันทน์ และหลวงพระบางพร้อมกับลาวกลุ่มอื่น ๆ ได้อพยพเข้ามาที่ ประเทศไทยด้วยเหตุผลที่ทางการเมืองและเป็นเชลยศึกยามสงคราม อาศัยอยู่บริเวณภาคกลางของ ประเทศไทย จากการสันนิษฐานลาวครั่งเป็นชื่อของภาษาและกลุ่มผู้มีเชื้อสาย ลาวกลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ ในภาคกลางของประเทศไทยเช่นในจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุทัยธานี ฯลฯ ลาวครั่งมักจะเรียกตนเองว่า "ลาวขี้ครั่ง" หรือ "ลาวคั่ง"

เผยแพร่เมื่อ 05-03-2020 ผู้เช้าชม 6,405

การก่อเจดีย์ทราย

การก่อเจดีย์ทราย

มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาว บริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ 8 หมื่น 4 พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง 8 หมื่น 4 พันองค์ หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือจะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

เผยแพร่เมื่อ 04-03-2020 ผู้เช้าชม 8,390

ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

บ้านวังน้ำ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในส่วนปกครองย่อยของตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง โดยในอดีตมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่าบริบูรณ์เป็นอย่างดี ด้วยมีลำคลองไหลผ่านกลางหมู่บ้าน มีถนนหนทางที่เดินทางสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก ลักษณะเช่นนี้จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในตั้งชุมชนและประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะเกษตรกรรม จากการที่มีปัจจัยเกื้อหนุนต่อการประกอบอาชีพทำให้มีผู้คนหลากหลายเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและประกอบอาชีพตามความรู้ตามความถนัด ชาวไทยทรงดำบ้านวังน้ำเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้โดยมาจากหลายจังหวัดด้วยกัน พร้อมทั้งยังได้นำพาวัฒนธรรมดั้งเดิมแต่ครั้งบรรพกาล ที่บรรพบุรุษได้มีการกระทำสืบต่อเนื่องกันมา สานต่อลงในหมู่บ้านแห่งนี้อย่างเคร่งครัด ตามความเชื่อดั้งเดิมอีกด้วย

เผยแพร่เมื่อ 21-06-2022 ผู้เช้าชม 961

ประเพณีการแห่ดอกไม้

ประเพณีการแห่ดอกไม้

เช้าวันที่ 14 เมษายน วันแรกของการแห่ต้นดอกไม้ แต่เดิมชาวบ้านแม่ลาดใหญ่ ผู้ชายจะไปตัดไม้ไผ่ในหมู่บ้านมาเตรียมไว้ตั้งแต่เช้า เช้านั้นสนุกสนานมากได้นั่งรถอีแต๊กแบบที่เรียกว่ารถไถไทย ประดิษฐ์ แต่นำมาดัดแปลงใส่ที่นั่งทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เพื่อตัดไม้ไผ่ โดยจะเลือกตัดหลายขนาด ตามแต่ว่าจะนำไปใช้ทำโครงสร้างส่วนใดของต้นดอกไม้ มีทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่เมื่อได้ไม้ไผ่ที่ต้องการ แล้วก็จะนำมาช่วยกันประกอบโครง โดยโครงสร้างจะต้องทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ไม่มีลวด ตะปู โดยไม่ว่าจะเป็นต้นดอกไม้ขนาดเล็กหรือใหญ่ 

เผยแพร่เมื่อ 05-03-2020 ผู้เช้าชม 2,727

ประเพณีการยกธง

ประเพณีการยกธง

ประเพณี “ยกธงเลิกวันสงกรานต์” ประวัติิความเป็นมาในพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านแม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง พักอาศัยอยู่จึงได้นำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่น การยกธงเลิกสงกรานต์มาสืบทอด โดยถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ คือวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี ซึ่งคำว่าสงกรานต์ แปลว่า ล่วง หรือเลยไป เคลื่อนไป การต้อนรับปีใหม่ถือว่าสำคัญเพราะปีหนึ่งมีครั้งเดียว การได้รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุพร้อมทั้งขอพรจากผู้ใหญ่ ถือเป็นประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามยิ่งที่คนไทยทุกคน ทุกชนชั้นได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา

เผยแพร่เมื่อ 05-03-2020 ผู้เช้าชม 3,827