กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

เผยแพร่เมื่อ 06-06-2022 ผู้ชม 529

[16.2366497, 99.0549048, กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร]

บทนำ
         กะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง เดิมอาศัยอยู่แถบบริเวณต้นแม่น้ำสาละวินของพม่า ต่อมาได้อพยพเข้าสู่ประเทศพม่าและประเทศไทย มีภาษาพูดเรียกว่า ภาษากะเหรี่ยง อยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ชาวกะเหรี่ยงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายอย่าง นอกเหนือจากภาษาพูดแล้ว ยังมีการแต่งกาย ศิลปะการแสดง และประเพณีต่างๆ อนึ่ง คำว่า “กะเหรี่ยง” นั้น บางท่านถือว่าเป็นคำไม่เหมาะสม เป็นการเรียกด้วยความดูถูก แต่ชาวกะเหรี่ยงในบางชุมชน ก็แนะนำตัวเองว่า กะเหรี่ยง มิได้เห็นเป็นคำไม่เหมาะสมหรือดูถูก ทั้งนี้ความรู้สึกดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับทรรศนะของผู้เรียกด้วย (โสภา เรือนแก้ว, ม.ป.ป.) อย่างไรก็ตามคนล้านนาและคนทางภาคตะวันตกมักเรียกกะเหรี่ยงว่า “ยาง” พม่าเรียกว่า “กะยิ่น” ฝรั่งเรียกว่า “กะเรน” (บางที่เขียนว่า กะเร็น) แต่พม่าจะออกเสียง ร เป็น ย แต่คำว่า กะเหรี่ยง กะเรน หรือ กะยิ่น ก็เป็นคำที่พวกเขาไม่ชอบนัก สังเกตได้จากเมื่อครั้งพม่าได้รับเอกราช พวกเขาได้ตั้งชื่อรัฐของตนเองว่า “กะยา” แปลว่า “คน” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2544, หน้า 279-280) ดังนั้นคนในปัจจุบันจึงนิยมเรียกกะเหรี่ยงว่า “ปกาเกอะญอ” แทน แต่หากศึกษากันไปแล้วกลับพบว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เดิมนักมานุษยวิทยาเห็นว่าควรจัดอยู่ในกลุ่มของกะเหรี่ยงกลับไม่ได้เรียกตัวเองว่ากะเหรี่ยงแต่อย่างใด กลับเรียกเป็นชื่ออื่น กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเรียกว่ากะเหรี่ยงมีหลายกลุ่มแตกต่างกันไป โดยใหญ่ๆ แบ่งได้ 4 ประเภท ได้แก่ ปกาเกอะญอ (สกอ) เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด โพล่ (โป) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน ตองสู (ปะโอ) อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน และคะยา (บะเว) อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน 

กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม
         บริเวณพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรส่วนที่เป็นที่ราบลุ่มของฟากฝั่งแม่น้ำปิงเป็นพื้นที่ราบติดต่อกับที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน และสามารถติดต่อเลยไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสักในจังหวัดเพชรบูรณ์ลงมา ขณะเดียวกันทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ที่เป็นภูเขา ที่ราบในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชรจึงเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงที่อยู่ทางเหนือสุดที่มีความเหมาะสมในการตั้งชุมชมในสมัยโบราณ และยังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และทรัพยากรทางธรรมชาติ ประชากรในพื้นที่ประกอบด้วยคนพื้นราบและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ปกาเกอะญอ ม้ง ลีซอ ไทยทรงดำ รวมทั้งการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนอีสาน และคนเมือง (ภาคเหนือ) ที่เข้ามาอย่างน้อย 50 ปีทีผ่านมาโดยมีการตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอเมืองรอบนอก ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขาต่างๆ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบกึ่งสังคมชนบท พึ่งพิงระบบการผลิตแบบเกษตรกรรมเป็นหลัก (สิริวรรณ สิรวณิชย์, วรพรรณ ขาวประทุม และบุญล้อม ด้วงวิเศษ, 2559, หน้า 126) พื้นที่ในเขตตำบลคลองลานก็เช่นกัน มีลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาสลับซับซ้อนเป็นจำนวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย พื้นที่ภูเขาเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีน้ำตกตลอดปี คือ น้ำตกคลองลานทำให้พื้นที่เหมาะสมแก่การปลูกพืชไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ และผลไม้ยืนต้น
         กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือเดิมเรียกกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานกระจายไปทั่วประเทศไทย และส่วนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งจากการสำรวจ มี 2 หมู่บ้าน (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2558) คือ
         1. หมู่ 3 บ้านคลองน้ำไหลใต้ ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ 80 หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ รับจ้างทำไร่มันสำปะหลัง
         2. หมู่ 18 บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ 100 หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ ทำไร่มันสำปะหลังและหาของป่าขาย

หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน
         หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน ตั้งอยู่หมู่ที่ 18 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ประชากรที่อาศัยในหมู่บ้านเป็นชนเผ่าปะกาเกอะญอ ที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานกระจายไปทั่วประเทศไทย และส่วนหนึ่งเดิมได้มาตั้งถิ่นฐานในเขตอุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่สูงขึ้นไปในหมู่บ้านในปัจจุบัน โดยบริเวณที่อยู่อาศัยเดิมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านสวนส้มหมู่ที่ 2 ตำบลคลองลานพัฒนา จากนั้นรัฐบาลมีนโยบายผลักดันชาวเขาออกจากพื้นที่ป่า และได้ประกาศจัดตั้งให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2525 ปัจจุบันชาวปะกาเกอะญอมีอาชีพหลักคือ ทำไร่มันสำปะหลัง และหาของป่าขาย มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สร้างรายได้ คือ ผ้าทอกะเหรี่ยง และหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลานยังได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ทั้งภาษาและชุดประจำเผ่า ที่ชาวปกาเกอะญอยังคงใส่ในงานประเพณีที่สำคัญ
         วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าปะกากะญอบ้านน้ำตกคลองลานยังคงมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นตามแบบวิถีชีวิตของชาวปะกาเกอะญอ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยมากมาย ชาวบ้านที่นี่ยังคงเรียบง่าย รักความสันโดษ มีการปลูกผัก เลี้ยงหมูและไก่ไว้รับประทานในครอบครัว

วิถีชีวิตชนเผ่าปะกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน
         สามารถแบ่งวิถีชีวิตของชนเผ่าปะกาเกอะญาหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลานได้ 6 ประเภท ได้แก่
         1. วิถีชีวิตด้านอาชีพ
         กะเหรี่ยงน้ำตกคลองลานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ กะเหรียงดั้งเดิมจะประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ทำมันสำปะหลังอยู่ตามป่าตามเขา ปลูกพืชผักสวนครัวตามฤดูกาล ส่วนสัตว์เลี้ยงก็จะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารมากกว่าการค้าขาย ใช้ชีวิตแบบพึ่งป่าพึ่งน้ำอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่
         2. ลักษณะบ้านเรือน
         ชาวกะเหรี่ยงนิยมปลูกบ้านไว้ตามเชิงเขาอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-4 หลัง บางส่วนก็ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบเช่นเดียวกับชาวพื้นราบทั่วไป ชาวะเหรี่ยงนิยมตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ไม่ย้ายถิ่นบ่อยๆ รูปแบบเรือนกะเหรี่ยง เป็นเรือนหลังคาจั่วความชันต่ำทรงหมาแหงน สร้างเป็นบ้านยกพื้นสูง มีชานบ้าน บริเวณใต้ถุนเรือนจะใช้เก็บฟืนและเลี้ยงสัตว์ ลักษณะบ้านจะก่อตั้งด้วยไม้ไผ่โดยหลังคานั้นก่อสร้างด้วยใบแตนที่มีอยู่ในท้องถิ่น ใช้งานได้ประมาณ 2-3 ปี แล้วก็จะเปลี่ยนใหม่ ซึ่งหาได้ในป่าบนภูเขา ผนังเรือนเป็นไม้ไผ่สาน ด้านหน้าเรือนเป็นไม้แผ่นปูเว้นร่อง ภายในเรือนมีการจัดเตาไฟไว้บริเวณกลางห้อง ส่วนด้านหน้าจัดไว้เป็นส่วนเก็บอาหารแห้ง และเก็บของใช้ ห้องส้มสร้างแยกต่างหากจากตัวบ้าน จากการสัมภาษณ์ ซะนุย คามภูผา (สัมภาษณ์, 3 กุมภาพันธ์ 2561)
         3. ลักษณะการแต่งกายของชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือชนเผ่ากะเหรี่ยง
         ลักษณะการแต่งกายของชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือ ปกากะญอ กะเหรี่ยงในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กะเหรียงสะกอ กะเหรี่ยงโป และ อีก 2 กลุ่ม คือ คะยา หรือบะเว และตองสู หรือพะโอ กะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน แต่การแต่งกายของแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะของตนเองที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นลักษณะการแต่งกายจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถบ่งชี้ให้เห็นได้ชัดเจนถึงเอกลักษณ์ของกะเหรี่ยงแต่ละกลุ่ม การแต่งกายของเด็กและหญิงสาวจะเป็นชุดทรงกระสอบ ผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอหรือปักประดับลวดลายให้งดงาม ส่วนหญิงที่มีครอบครัวแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อน ตกแต่งด้วยลูกเดือย หรือทอยกดอก ยกลาย สำหรับผู้ชายกะเหรี่ยงนั้นส่วนมากจะสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยแถบสีไม่มีการปักประดับเหมือนเสื้อผู้หญิง นุ่งกางเกงสะดอ นิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ และสวมกำไลเงินหรือตุ้มหู
         ปัจจุบันกลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำเผ่าในวิถีชีวิตปกติ มีเพียงกลุ่มโป และสะกอเท่านั้น ส่วนกลุ่มคะยา และตองสูไม่สวมใส่ชุดประจำเผ่า ในชีวิตประจำวันแล้ว กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่ม นอกจากจะมีการแต่งกายที่แตกต่างกัน กะเหรี่ยงกลุ่มเดียวกันแต่อยู่ต่างพื้นที่ ก็มีลักษณะการแต่งกายไม่เหมือนกันด้วย เช่น กะเหรี่ยงโปแถบอำเภอแม่เสรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่งกายมีสีสันมากกว่าแถบจังหวัดเชียงใหม่ หญิงกะเหรี่ยงสะกอแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตกแต่งเสื้อมีลวดลายหลากหลาย และละเอียดมากกว่าแถบจังหวัดตาก หรือกะเหรี่ยงโปแถบจังหวัดกาญจนบุรีก็มีลวดลายตกแต่งเสื้อผ้าแตกต่างจากภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงรายที่มีการนำแฟชั่นใหม่ๆ มาทำซึ่งมีลักษณะ ที่แปลกออกไป เช่น ทำผ้าปูโต๊ะที่มีลวดลายประยุกต์ใหม่ๆ และมีลายปักแบบลายไทยอีกมากมายซึ่งเป็นไปตามยุคสมัย และการพัฒนาของเทคโนโลยี (ภคพร วงค์ดอยแก้ว, 2558)
         4. นิทานพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ
         ชนเผ่า "ปกาเกอะญอ" เป็นชนเผ่าที่บอกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมานับร้อยนับพันเรื่องเรียงร้อยเก็บไว้ในเเนวของนิทาน อาจจะไม่ใช่หลักฐานที่เเน่ชัด เเต่ก็พยายามที่จะเล่าสืบทอดให้ลูกหลานได้รู้ ถึงความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ และวัฒนธรรมของตัวเอง เล่ากันตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าสร้างโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์คู่แรก คือ อดัม กับเอวา ทั้งสองคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสวน (เอเดน) ที่พระองค์ได้สร้างไว้ ทั้งสองได้ทำผิดกฎของสวรรค์จึงถูกเนรเทศลงมาใช้กรรมอยู่ในโลกจนกระทั่งมีลูกหลานสืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้ชาวปกาเกอะญอมักมีนิทานประจำเผ่าที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาเพื่อเล่าให้เด็กๆ ฟัง (นายกะเหรี่ยง, (นามแฝง). ม.ป.ป.) มีดังนี้
             4.1 คนขี้ขโมย มีเด็กคนหนึ่งแม่ส่งไปเรียนหนังสือ ครั้งแรกก็ขโมยดินสอกลับมา ต่อมาก็ขโมยสมุด หนังสือ ชิ้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แม่ก็คอยเก็บซ่อนไว้กลัวคนอื่นจะรู้และเมื่อเขาโตขึ้นเขาก็โดนตำรวจจับขังคุก และเขาก็บอกตำรวจว่าเขาอยากเจอแม่ ตำรวจจึงพาไปหาแม่มา เมื่อแม่มาเขาก็บอกให้แม่เข้ามาใกล้ ๆ เมื่อแม่เข้าไปใกล้ เขาก็กัดหูแม่จนขาด แล้วก็กล่าวโทษแม่ว่าเป็นเพราะแม่คนเดียวที่ทำให้เขาต้องเป็นเช่นนี้ เป็นเพราะแม่ไม่สั่งสอนเขาให้ดีคอยช่วยปกปิดความผิดของเขา
             4.2 คนโง่เขลา มีพี่น้องสองคนอาศัยอยู่ด้วยกัน และพวกเขาก็มียายแก่ ๆ ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้อีกคนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย ทุกๆวันผู้เป็นพี่ชายก็จะต้มน้ำและอาบน้ำให้ยาย วันหนึ่งเมื่อพี่ชายต้องออกไปข้างนอกก็ได้บอกกับน้องชายว่าวันนี้พี่จะออกไปข้างนอกนะอยู่บ้านช่วยต้มน้ำและอาบน้ำให้ยายด้วย เมื่อถึงเวลาเขาก็ต้มน้ำ แล้วก็เอายายลงอาบน้ำที่กำลังร้อน ๆ จนยายนั้นตายเพราะน้ำร้อนลวกเมื่อพี่ชายกลับมาก็ถามถึงยาย ก็พี่นั่นแหละบอกให้ฉันต้มน้ำแล้วอาบให้ยาย ยายก็เลยตาย เอ้า แล้วทำไมไม่รอหรือผสมให้มันอุ่นก่อนล่ะ เอายายไปฝังเองนะ เขาจึงเอาเสื่อห่อตัวยายแล้วก็แบกไปฝัง ไปได้ครึ่งทางยายก็ตก แต่เขาไม่ทันรู้สึกไปถึงก็เอาเสื่อไปฝังคิดว่า ยายอยู่ข้างใน พอขากลับก็เห็นศพของยายแก่คนหนึ่งตกอยู่ข้างทางเขาจึงกลับไปบอกพี่ชายว่า พี่ชาย!! คนอื่นเขาก็ตายเหมือนกันนะตอนฉันกลับมาเห็นตกอยู่ข้างทาง
             4.3 ความโกรธ มีเจ้าเมืองเมืองหนึ่งมีลูกสาวสวยมาก และเจ้าเมืองก็หวงลูกสาวของตนมาก ด้วยกลัวว่าจะมีคนมายุ่งกับลูกสาวของตน จึงแอบพาลูกสาวของตนไปไว้ในป่าโดยสร้างบ้านให้อยู่ในป่า นานๆ จะมาเยี่ยมทีหวันหนึ่งมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กกำพร้าก็ไปเดินเที่ยวในป่า เดินๆ ไปก็ไปพบบ้านของหญิงสาวเห็นบ้านของเธอสวยดีจึงเข้าไปดู แล้วก็ได้พบกับหญิงสาว ท่านเป็นใคร ? หญิงสาวถาม เรามาเดินป่า แล้วเจ้าทำไมมาอยู่ในป่าคนเดียวเล่า พ่อของเราเอาเรามาไว้ที่นี่ เจ้ามาเยี่ยมเราบ่อยๆ ได้มั้ย เราอยู่คนเดียวเหงามากเลย หลังจากนั้นชายหนุ่มก็แวะเวียนมาเยี่ยมหญิงสาวบ่อยๆ จนในที่สุดทั้งสองก็เกิดความรักต่อกันและแอบได้เสียกันจนหญิงสาวตั้งครรภ์ เมื่อพ่อของนางมาพบก็โกรธมากข้าอุตส่าห์เอาเจ้ามาซ่อนไว้ในป่าแล้วเพราะกลัวว่า จะมีชายหนุ่มมาหลงรักเจ้าแต่เจ้ายังแอบมีจนได้ มันเป็นใคร ลูกสาวตอนแรกก็ไม่กล้าบอก แต่ในที่สุดเมื่อพ่อถามมากๆ ก็เลยบอกว่าเป็นเด็กกำพร้าซึ่งในสมัยนั้นเด็กกำพร้าเป็นที่น่ารังเกียจของคนทั่วไป เจ้าเมืองจึงโกรธมาก คว้ามีดฆ่าลูกสาวตาย แต่มาตอนหลังก็รู้สึกคิดถึงลูกสาวและเสียใจกับสิ่งที่ตนทำลงไปแต่เมื่อคิดได้แต่มันก็สายเกินไปแล้ว
             4.4 ความรักความสามัคคี มีครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีกันอยู่สามคนพ่อลูก เป็นลูกชายทั้งสองคน พ่อก็แก่ชรามากแล้ว และก่อนที่พ่อจะตายพ่อก็ได้เรียกลูกทั้งสองมาสั่งเสีย ลูกเอ้ย พ่อก็แก่มากแล้วนะอาจจะอยู่กับพวกเจ้าได้ไม่นาน พวกเจ้าต้องรักซึ่งกันและกันนะอย่าทะเลาะกันจากนั้นต่อมาไม่นานพ่อก็ได้จากพวกเขาไป พ่อได้ทิ้งผ้าห่มไว้ให้หนึ่งผืนกับควายหนึ่งตัว น้องชายซึ่งเป็นคนนิสัยไม่ค่อยดี พอตกกลางคืนก็ห่มผ้าห่มคนเดียว แต่กลางวันก็ยกให้พี่ชาย ซึ่งกลางวันก็ร้อนแล้วผ้าห่มก็ไม่จำเป็นสำหรับพี่ชายแล้ว พี่ชายจึงเอาผ้าห่มไปซัก เมื่อตกกลางคืนผ้าห่มยังไม่แห้ง น้องชายก็บ่นว่า เอาผ้าห่มไปซักทำไม แล้วจะเอาอะไรห่ม ก็มันเป็นสิทธิของข้า พี่ชายพูด พอถึงคราวที่จะต้องรีดนมวัว น้องชายก็บอกกับพี่ชายว่า พี่เอาส่วนหัวนะ ฉันจะเอาส่วนท้าย  ส่วนหัวมันบีบนมไม่ได้ พี่ชายจึงตีหัววัวทำให้วัวดิ้นน้องชายก็รีดนมวัวไม่ได้เช่นกัน ตีทำไม น้องชายพูด ก็มันเป็นสิทธิของฉัน พี่ชายพูด ฝ่ายน้องชายจึงคิดได้ถึงคำสั่งเสียของพ่อก่อนตายที่ให้เขาทั้งสองมีความรักความสามัคคีกัน เพราะถ้าเขาสองคนไม่รักและสามัคคีกันเขาทั้งสองก็จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย
             4.5 ความสัตย์ซื่อ มีนายจ้างกับลูกจ้างอยู่คู่หนึ่ง เมื่อถึงคราวที่เจ้านายจะต้องกลับไปยังบ้านเกิดก็ได้เรียกลูกจ้างให้เข้ามาหาเพื่อจะสั่งงาน ระหว่างที่ข้าไม่อยู่ ข้าจะให้เงินเจ้าก้อนหนึ่ง เจ้าอยู่ก็ช่วยสร้างบ้านหลังหนึ่งสร้างให้หลังใหญ่ๆ และดีๆ เลยนะ แล้วนายก็จากไป ด้วยความขี้เกียจและขี้โกงของลูกจ้าง เขาจึงสร้างบ้านหลังหนึ่ง หลังใหญ่อย่างที่นายสั่ง แต่ก็สร้างแบบลวกๆ ไม่มีการตกแต่งใช้อุปกรณ์ที่ราคาถูก ๆ และไม่นานนายของเขาก็กลับมาถามถึงเรื่องบ้าน เจ้าสร้างบ้านเสร็จหรือยัง เสร็จแล้วจ๊ะนาย เจ้าอยู่กับเรามาก็ตั้งหลายปี เราก็คงไม่มีอะไรจะให้เจ้าหรอกนะ เราก็จะให้บ้านหลังนี้กับเจ้าถือว่าเป็นค่าแรงที่เจ้าอยู่กับเรามาก็แล้วกัน เมื่อผู้เป็นลูกจ้างได้ยินดังนั้นก็ตกใจ และนึกเสียดายมากที่ตนสร้างบ้านหลังนั้นแบบลวก ถ้ารู้ว่านายจะยกให้แต่แรกคงสร้างให้ดีกว่านี้
             4.6 จ๊อเกอะโดะ มีชายขี้เกียจคนหนึ่ง ไม่ยอมทำงานทำการอะไร ให้เมียคอยหาเลี้ยงคนเดียว อยู่กินกันมาจนได้หนึ่งปี เจ้าคนขี้เกียจก็เกิดความคิดขึ้นว่า เอ เราน่าจะช่วยเมียทำงานบ้างนะ คิดได้ดังนั้นก็บอกกับเมียว่า วันนี้ข้าจะไปทำงานที่ไร่เองนะ ห่อข้าวให้ข้าด้วยก็แล้วกันเมื่อผู้เป็นเมียได้ยินเช่นนั้นก็ทั้งแปลกใจและดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงรีบห่อข้าวให้ แต่เมื่อเมียของเขาห่อข้าวเสร็จ เขาก็เกิดความขี้เกียจขึ้นมากะทันหันเลยบอกกับเมียว่าวันนี้ขี้เกียจแล้วล่ะเอาไว้พรุ่งนี้ค่อยไปก็แล้วกันนะแล้วก็ล้มตัวลงนอนตามเดิม เมียก็ไม่รู้จะว่ายังไง ก็เลยต้องรีบไปไร่เองอีกตามเคย
            เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าคนขี้เกียจก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่า ยังไงวันนี้ก็ต้องไปไร่ให้ได้ บอกเมียให้ห่อข้าวให้อีก แล้วเจ้าขี้เกียจก็ออกไปไร่เมื่อไปถึงไร่เอาห่อข้าวห้อยไว้แล้วก็เกิดขี้เกียจก็เลยนอน จนเที่ยงแล้วแต่ก็ขี้เกียจลุกขึ้นมากินข้าว สักพักก็มีมิ้มตัวหนึ่งบินวนมาดูดน้ำจากกระบอกของเขา เจ้าขี้เกียจก็กลัวว่า มิ้มจะกินน้ำของเขาหมด ขี้เกียจไปตักน้ำใหม่จึงคว้ามีดมาฟันฉับโดนเขี้ยวมิ้มหลุดออกมามิ้มก็ตาย แล้วก็นอนต่อไป พอตื่นมาตอนบ่ายก็เห็นเขี้ยวมิ้มใหญ่ขึ้น ก็ลองจับมาสวมฟันตัวเองดูปรากฏว่าสวมได้พอดี แต่พอสวมฟันมิ้มเข้าไปก็รู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ กระโดดลงจากกระท่อมถางหญ้าในไร่จนเสร็จก่อนค่ำวันนั้นเอง แล้วก็กลับบ้านถอดเขี้ยวมิ้มออก แล้วก็นอนเหมือนเคย เย็นนั้นเมียก็ชวนว่าพรุ่งนี้เราไปไร่ด้วยกันนะจะได้ถางหญ้าให้เสร็จเร็วๆฝ่ายคนขี้เกียจก็บอกว่า ถางเสร็จแล้วไม่ต้องไปแล้วฝ่ายเมียก็ไม่เชื่อ เพราะหญ้านั้นเหลือเยอะทำคนเดียวต้องทำถึงสิบวันถึงจะเสร็จ นี่ผัวนางขี้เกียจอย่างนี้ไปไร่แค่วันเดียวจะทำเสร็จได้อย่างไร
            เช้าวันรุ่งขึ้น เมียก็เลยไปไร่คนเดียว พอไปถึงก็ปรากฏว่า ผัวถางหญ้าเสร็จแล้วจริงๆ เมียก็ดีใจมาก แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าเป็นไปได้ยังไง พอวันรุ่งขึ้นคนขี้เกียจก็บอกเมียว่าจะไปวันนี้จะไปหาของกินแล้วก็ออกเดินทางไป ถึงเมือง ๆ หนึ่ง ถามหาหมูตัวใหญ่ที่สุดในเมืองนี้ ชาวบ้านก็บอกว่าหมูตัวที่ใหญ่ที่สุดก็มีแต่หมูเจ้าเมืองเท่านั้นแหละ คนขี้เกียจก็ขอดูหมูท่านเจ้าเมือง พอไปถึงก็บอกว่า หมูตัวนี้มันเล็กไปเรากินไม่อิ่มหรอก เมื่อเจ้าเมืองได้ยินก็ไม่พอใจจึงพูดออกไปด้วยความโมโหและรำคาญว่าถ้าเจ้ากินหมูตัวนี้หมดในมื้อเดียวเราจะยกเมืองให้เจ้าครึ่งหนึ่งคนขี้เกียจก็ฆ่าหมูทำอาหารกิน จนหมูหมดทั้งตัว กินเสร็จก็บอก เฮ้อ... ยังไม่อิ่มดีเลยเจ้าเมืองก็ตกใจ แต่ก็ต้องจำยกเมืองให้ครึ่งหนึ่งตามสัญญา ซึ่งรวมทั้งลูกน้องบริวารแล้วก็เดินทางต่อไปอีกเมืองหนึ่งและถามหาควายที่ตัวใหญ่ที่สุดในเมืองนั้น ชาวบ้านก็บอกว่าควายที่ตัวใหญ่ที่สุดก็มีแต่ควายของเจ้าเมืองเท่านั้นแหละ คนขี้เกียจก็ขอดูควายท่านเจ้าเมืองและพูดว่าควายตัวนี้เล็กไปเรากินไม่อิ่มหรอก ท่านเจ้าเมืองได้ยินก็พูดออกไปด้วยความโมโหและรำคาญว่า ถ้าเจ้ากินควายตัวนี้หมดในมื้อเดียว ข้าจะยกเมืองให้เจ้าครึ่งหนึ่งรวมทั้งลูกน้องบริวาร คนขี้เกียจก็ฆ่าควายและทำกินจนควายหมดทั้งตัว กินเสร็จก็บอก เฮ้อ... ยังไม่อิ่มเท่าไหร่เลย เจ้าเมืองก็ตกใจ แต่ต้องจำยอมยกเมืองให้ครึ่งหนึ่งพร้อมบริวาร แล้วคนขี้เกียจก็ออกเดินทางไปอีกเมืองหนึ่ง ถามหาที่ดินที่กว้างที่สุด ชาวบ้านก็บอกว่ามีแต่ที่ดินของเจ้าเมืองเท่านั้นแหละ ที่กว้างที่สุด คนขี้เกียจก็ไปบ้านเจ้าเมืองบอกว่า เจ้าเมืองมีที่ดินเท่านี้เองเหรอเราขี้ใส่ยังไม่พอเลยเจ้าเมืองได้ยินก็โมโหจึงพูดออกไปว่า ถ้าเจ้าขี้ได้เต็มที่ดินของเราเราจะยกเมืองให้เจ้าครึ่งหนึ่งเลย คนขี้เกียจก็ขี้ออกมาจนเต็มที่ของเจ้าเมือง แล้วก็พูดว่า เฮ้อขี้ยังไม่สุดเท่าดีเลย เจ้าเมืองก็แปลกใจมากแต่ก็ต้องยอมยกเมืองให้ครึ่งหนึ่งตามสัญญาแล้วในที่สุดคนขี้เกียจก็ได้ครองเมืองสามเมืองเมืองละครึ่ง พาลูกพาเมียมาอยู่ด้วยและมีบริวารมากมาย
             4.7 จ๊อเกอะโดะ 2 จ๊อเกอะโดะเป็นคนขี้เกียจมาก มีหน้าที่เลี้ยงควายตัวหนึ่ง แต่เขาก็มีความฉลาดหลักแหลมเพราะความขี้เกียจนี่เอง เขามีวิธีเลี้ยงควายที่ไม่เหมือนใคร ใช้เชือกเส้นยาว ๆ มัดควายไว้ตัวเองนอนจับปลายเชือกข้างหนึ่ง ปล่อยให้ควายหากิน ตกเย็นก็ดึงเชือกกลับมา
            วันหนึ่งเจ้าเมืองก็เกิดหมั่นไส้ ที่จ๊อเกอะโดะเลี้ยงควายสบายนัก จึงสั่งให้ลูกน้องไปจับควายของเขามาแล่เนื้อแบ่งกัน เมื่อจ๊อเกอะโดะดึงเชือกกลับก็เหลือแต่เชือกจึงออกตามหาและพบพวกลูกน้องของเจ้าเมือง พวกเขาเอาเนื้อไปหมดแล้ว เขาเลยพูดว่า พวกเจ้าขโมยฆ่าควายเราไม่เป็นไรเราเอาแต่หนังมันก็แล้วกันแล้วก็เผาหนังควายแบกกลับบ้านไป วันต่อมาก็หอบหนังควายทำทีว่าจะเอาไปขาย เมื่อไปถึงริมน้ำแห่งหนึ่งก็ปีนขึ้นต้นไม้ รอสักพักก็มีโจรกลุ่มหนึ่งจะมาแบ่งทรัพย์สินที่ปล้นมาได้หนึ่งกะบุง จ๊อเกอะโดะก็โยนหนังควายลงมาพวกโจรก็วิ่งหนีกันหมดโดยไม่ทันดูเพราะคิดว่าเป็นหมี จ๊อเกอะโดะจึงแบกกระบุงกลับบ้าน ข่าวเรื่องจ๊อเกอะโดะขายหนังควายได้เงินกระบุงหนึ่งก็ได้ไปถึงหูเจ้าเมือง เจ้าเมืองก็คิดว่าควายตัวเดียวขายได้เงินตั้งหนึ่งกระบุงเรามีควายเป็นร้อยตัวต้องได้ร้อยกระบุงแน่ จึงสั่งให้ลูกน้องฆ่าควายร้อยตัวแล้วเอาหนังไปขาย แต่ขายอย่างไรก็ขายไม่ได้ จึงไปต่อว่า จ๊อเกอะโดะว่าหลอกและสั่งลูกน้องให้ไปเผาบ้านของจ๊อเกอะโดะ เมื่อบ้านถูกเผาแล้วเขาก็กวาดขี้เถ้าบ้านของตนได้สามกระบุง เจ้าเมืองก็ถาม เจ้าจะเอาขี้เถ้าไปทำไมเขาบอกว่า จะเอาขี้เถ้าบ้านที่ถูกเผาไปขาย เจ้าเมืองกับลูกน้องก็พากันหัวเราะเพราะยังไงขี้เถ้าก็ขายไม่ได้ วันรุ่งขึ้นจ๊อเกอะโดะก็เอาเงินใส่ไว้ตรงส่วนบนของขี้เถ้า ทำให้ดูเหมือนว่ามีเงินสามกระบุงแล้วก็ขนไปที่ริมน้ำ เรียกเรือลำหนึ่งจ้างข้ามแม่น้ำ แล้วก็บอกเจ้าของเรือว่า ต้องระวังให้ดีนะอย่าให้เรือจมน้ำเชียว ไม่อย่างนั้นเจ้าต้องชดใช้ให้เรา เจ้าของเรือก็รับปากและพายเรือไป เมื่อถึงกลางแม่น้ำนั่นเองน้ำเชี่ยวแรงเรือโคลงเคลงแทบจะพลิกคว่ำ น้ำเข้าเรือกมากมายในที่สุดขี้เถ้าก็ละลายน้ำหมดเหลือแต่เงินติดก้นกระบุง จ๊อเกอะโดะก็แกล้งโวยวายนี่เจ้าทำเงินเราหล่นลงน้ำหมด เจ้าต้องชดใช้ตามสัญญา เจ้าของเรือจึงจำเป็นต้องชดใช้ให้ตามสัญญา โดยใส่เงินให้เต็มสามกระบุงแล้วจ๊อเกอะโดะก็กลับมาสร้างบ้านใหม่
             ครั้งเมื่อเจ้าเมืองมาเห็นเข้า ก็แปลกใจที่จ๊อเกอะโดะขายขี้เถ้าได้เงินสามกระบุง ท่านเจ้าเมืองก็คิดบ้านหลังเล็กนิดเดียวยังขายได้เงินสามกระบุง บ้านเราหลังใหญ่ขนาดนี้คงขายได้มากมายจึงให้ลูกน้องเผาบ้านตนเอง แล้วเอาขี้เถ้าไปขาย ขายอยู่หลายวันแต่ก็ขายไม่ได้ เจ้าเมืองก็โกรธจ๊อเกอะโดะมาก สั่งให้ลูกน้องจับจ๊อเกอะโดะใส่เข่ง ห้อยไว้ข้างทางแล้วกลับบ้านไปคิดว่าเดี๋ยวค่อยมาฆ่า ฝ่ายจ๊อเกอะโดะคิดว่าคราวนี้คงตายแน่แล้ว ทันใดนั้นเองก็มีคนขี่ช้างผ่านมาจ๊อเกอะก็ร้อง คนขี่ช้างก็ถามว่าเจ้าเป็นอะไรก็ท่านเจ้าเมืองจะให้เราแต่งงานกับลูกสาวเราไม่อยากแต่งอีกเดียวก็คงมารับเราแล้วคนขี่ช้างก็แอบยิ้มในใจ แล้วบอกว่างั้นเปลี่ยนกันมั้ย เจ้าขี่ช้างไป ส่วนเราจะไปเป็นเขยเจ้าเมืองเอง ฝ่ายจ๊อเกอะโดะขี่ช้างขนเงินหนีไป ฝ่ายเจ้าเมืองกลับมาก็ยิงไปที่เข่งนั้นทำให้คนที่อยู่ในเข่งซึ่งคิดว่าเป็นจ๊อเกอะโดะตายแล้วเอาไปฝังทั้งเข่งเลย
             เวลาผ่านไปหลายปีจ๊อเกอะโดะซึ่งไปอยู่ที่อื่นจนมีลูกมีเมีย ก็พาลูกเมียตนกลับมาอยู่ที่บ้านเก่าเรื่องการกลับมาของจ๊อเกอะโดะรู้ถึงหูท่านเจ้าเมือง เจ้าเมืองก็แปลกใจว่าเป็นไปได้อย่างไรก็มันตายไปแล้วนี่ จึงไปถามเพื่อให้รู้แจ้ง จ๊อเกอะโดะก็บอกว่าเราไปอยู่เมืองผี ผู้เฒ่าที่เมืองผีดูแลเราอย่างดีและให้เราขี่ช้างกลับมาเจ้าเมืองได้ยินก็คิดว่าถ้าตนไปเมืองผีก็ต้องได้ช้างกลับมาเป็นแน่ จึงบอกลูกเมียแล้วให้จ๊อเกอะโดะฆ่าตน จ๊อเกอะโดะก็ฆ่าเจ้าเมืองแล้วเอาศพไปเผา หลายวันผ่านไปเมียของเจ้าเมืองก็มาถามว่าป่านนี้เจ้าเมืองไปถึงไหนแล้วป่านนี้คงไปถึงเมืองเหม็นแล้วมั้งหลายวันต่อมาก็มาถามอีก ป่านนี้ถึงไหนแล้วถึงเมืองกระดูกขาวแล้วมั้ง เมียเจ้าเมืองก็กลับไป นานวันก็ยิ่งร้อนใจเจ้าเมืองยังไม่กลับมา ก็ไปถามอีกจ๊อเกอะโดะก็หัวเราะอย่างสะใจ ก็คนมันตายไปแล้วจะให้กลับมาได้อย่างไร เมียของเจ้าเมืองก็แค้นมากที่จ๊อเกอะโดะหลอกฆ่าสามีตน เมียเจ้าเมืองจึงต้มเหล้ายาพิษให้จ๊อเกอะโดะกิน เมื่อจ๊อเกอะโดะรู้ตัวว่าไม่รอดแน่แล้ว กลับบ้านให้เมียหาปลามาใส่กะละมังแล้วเอาเท้าลงไปแช่แล้วทำให้ดูเหมือนเท้าของเขานั้นกระดิกอยู่ให้ลูกเมียนั่งล้อมวงกันปรบมือร้องเพลง และเมื่อเมียของเจ้าเมืองมาแอบดูว่าจ๊อเกอะโดะตายหรือยัง ก็เห็นภาพที่จ๊อเกอะโดะสร้างขึ้นก็คิดว่าจ๊อเกอะโดะยังไม่ตายเลยโกรธกลับบ้านไปบอกลูกลองกินเหล้ายาพิษที่ต้มให้จ๊อเกะโดะกินแล้วทั้งหมดก็ตาย
             4.8 เด็กกำพร้า กาลครั้งหนึ่งมีหมู่บ้านหนึ่งทำไร่ได้ข้าวไม่พอกินกันในแต่ละปี ทุกครอบครัวต้องหาของป่าเพื่อนำไปแลกข้าวที่หมู่บ้านอื่น มีเด็กกำพร้าอยู่คนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่คนเดียวเมื่อชาวบ้านออกไปหาของป่า เด็กกำพร้าก็ขอไปด้วย แต่พวกชาวบ้านก็ไม่ยอมให้เด็กกำพร้าไปพอพวกชาวบ้านเดินทางไปได้พักหนึ่งก็ได้พบแม่เฒ่าคนหนึ่งกำลังติดอยู่ในกอหวาย “หลายเอ๊ย ” แม่เฒ่าร้องเรียก ช่วยเอายายออกไปจากกอหวายที ยายออกไปไม่ได้ พวกชาวบ้านกำลังรีบเดินทาง และพลางคิดว่าเราไม่มีเวลาพอที่จะต้องมาเสียเวลาช่วยใคร จึงพากันออกเดินทางต่อ เมื่อเด็กกำพร้าเดินทางมาถึง แม่เฒ่าก็ร้องเรียกอีก “หลายเอ๊ย ช่วยเอายายออกไปที ยายออกไปไม่ได้” เมื่อเด็กกำพร้าเห็นเข้าก็รีบไปช่วยแม่เฒ่า “รอเดี๋ยวนะจ๊ะยาย” เด็กกำพร้ามีเพียงมีดผุๆ เล่มหนึ่งเท่านั้น เขาจึงต้องใช้ความพยายามมากในการช่วยแม่เฒ่าออกมาจากกอหวาย และในที่สุดเขาก็ช่วยแม่เฒ่าออกมาจากกอหวายได้ “หลานจะไปไหนเหรอจ๊ะ” ยายถามเด็กกำพร้าก็เล่าให้ยายฟังถึงเรื่องที่หมู่บ้านกำลังประสบอยู่ และตนเองกำลังจะออกไปหาของกินในป่า “ไม่ต้องไปหรอกจ๊ะเดี๋ยวยายจะช่วยเจ้าเองนะ” แม่เฒ่ากล่าว แล้วแม่เฒ่าก็ให้เด็กกำพร้าพากลับบ้าน พอไปถึงบ้านแม่เฒ่าก็หุงข้าวให้เด็กกำพร้ากิน เด็กกำพร้าก็แปลกใจว่าบ้านเขาไม่เห็นมีข้าวสารเลยแล้วทำไมแม่เฒ่าถึงหุงข้าวได้ เด็กกำพร้าเกิดความสงสัยจึงซุ่มแอบดูยาย แล้วเขาก็เห็นข้าวสารไหลออกมาจากเล็บของยาย เขาจึงรู้ว่ายายไม่ใช่คนธรรมดา
             ต่อมาเมื่อถึงฤดูทำไร่ แม่เฒ่าก็ได้ให้พันธุ์ข้าวกับเด็กกำพร้าคนนั้น แล้วเด็กกำพร้าก็นำพันธุ์ข้าวไปปลูกจนเต็มไร่ เด็กกำพร้าก็เฝ้าดูแลอย่างดีจวบจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว เด็กกำพร้าเกี่ยวข้าวอย่างไร ก็เกี่ยวไม่หมด กว่าจะเกี่ยวเสร็จก็ใช้เวลาไปหลายวัน เมื่อถึงเวลาตีข้าวเด็กกำพร้าก็ใช้เวลาในการตีอยู่หลายวัน ยามแบกข้าวกลับบ้านก็แบกอยู่หลายวัน พอทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแม่เฒ่าก็บอกกับเด็กกำพร้าว่า “หลานเอ๊ย ให้เจ้าเอาข้าวเอาไก่ไปเลี้ยงที่ไร่ด้วยนะ”
             เด็กกำพร้าก็ทำตาม ขณะที่เด็กกำพร้าเลี้ยงไก่อยู่นั้น แม่เฒ่าก็กินข้าวกับไก่ของเด็กกำพร้านั้นจนหมด จากนั้นแม่เฒ่าก็กลายร่างเป็นนกฟ้า แล้วบินขึ้นสวรรค์ไป เมื่อเด็กกำพร้าเห็นเช่นนั้นถึงกับทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ยืนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าของเขา หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไปเด็กกำพร้าก็ขยันทำงานและได้ข้าวมากในทุกๆปี และทุกครั้งหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เด็กกำพร้าก็จะทำพิธีส่งนกขึ้นสวรรค์ตลอดมาตราบจนทุกวันนี้ชาวปกากะญอเชื้อสายเด็กกำพร้าก็ทำพิธีเลี้ยงส่งนกขึ้นสวรรค์ทุกปีมิได้ขาด
             4.9 น่อสะจู (นางผู้อดทน) มีเจ้าเมืองเมืองหนึ่งมีภรรยาที่แสนดีและน่ารัก ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 2 คน แต่ลูกของทั้งสองนั้นได้ถูกฝรั่งขอไปเลี้ยงทั้ง 2 คน เพื่อให้ไปร่ำเรียน เจ้าเมืองและภรรยาจึงต้องอยู่กันเพียง 2 คน วันหนึ่งเจ้าเมือง ก็คิดอยากจะลองใจภรรยาของตนเอง จึงออกอุบายขับไล่นางออกจากเมืองและให้ไปสร้างบ้านหลังเล็กๆ อยู่นอกเมือง นางจึงต้องไปใช้ชีวิตอย่างลำบากอยู่ในป่า แต่นางก็ไม่ได้คิดท้อแท้หรือน้อยใจ และไม่ได้คิดโกรธเคืองเจ้าเมืองเลยแม้แต่น้อย และต่อมาไม่นานลูกทั้งสองของนางก็กลับมา และเจ้าเมืองก็ออกมาประกาศว่าจะแต่งงานใหม่ แต่จะต้องให้นางสะจูมาทำอาหารในงานแต่งงานของท่านเท่านั้น เพราะไม่มีใครทำอาหารได้อร่อยเท่านาง เรื่องที่เจ้าเมืองจะแต่งงานใหม่และจะให้นางน่อสะจูมาทำอาหารให้นั้น ได้ถึงหูของนางน่อสะจู นางจึงเดินทางเข้าเมืองมาเพื่อที่จะทำอาหารในงานแต่งงานของท่านเจ้าเมือง นางก็ได้ตั้งใจทำอาหารอย่างเต็มที่และเต็มใจ เจ้าเมืองจึงรู้สึกสงสารและเห็นว่านางนั้นดีจริงจึงประกาศความจริงให้นางรู้ และบอกกับนางว่าลูกทั้งสองกลับมาแล้ว จากนั้นเจ้าเมืองและครอบครัวจึงอยู่กันอย่างมีความสุข
         5. ความเป็นอยู่ของชาวปกากะญอ
         ลักษณะการวางผังหมู่บ้านกระเหรี่ยงน้ำตก ตัวเรือนขนานไปกับถนนสายหลักทางเข้าหมู่บ้านชาวกระเหรี่ยงปลูกบ้านไว้ตามเชิงเขา ดังนั้นถนนที่เข้าหมู่บ้านอยู่ตีนเขา ส่วนตัวเรือนจะอยู่ถัดเข้าไป และ มีถนนซอยสร้างไว้เพื่อเป็นทางเข้าบ้านที่อยู่เป็นกลุ่มๆ 2-4 หลัง รูปแบบเรือนกระเหรี่ยง เป็นเรือนหลังคาจั่วความชันต่ำ มุงด้วยหญ้าแฝก มีช่องระบายอากาศทางด้านจั่ว ด้านหน้ามีชานและมีหลังคาคลุม ผังเรือนแยกพื้นที่ใช้สอย มีชานหน้าเรือน ยกใต้ถุนสูงถ้าหากมองจากบริเวณตีนเขา แต่ถ้ามองจากลานดินด้านหน้าเรือนจะเหมือนกับเรือนสร้างติดพื้นดิน บริเวณใต้ถุนเรือนใช้เก็บฝืนและเลี้ยงสัตว์ ผนังเรือนเป็นไม้ไผ่สาน ด้านหน้าเรือนเปิดโล่งเพื่อการระบายอากาศ มีชานทางเดินรอบตัวเรือน ใช้สำหรับเป็นพื้นที่ตากผ้า พื้นเรือนเป็นไม้แผ่นปูเว้นร่อง ภายในเรือนมีการจัดเตาไฟไว้บริเวณกลางห้องส่วนด้านหน้าจัดไว้เป็นส่วนเก็บอาหารแห้ง และเก็บของใช้ ห้องส้วมสร้างแยกต่างหากจากตัวบ้านหลังคาทรงหมาแหงน อย่างไรก็ตามพบว่าเรือนกระเหรี่ยงส่วนใหญ่ยังมีการวางผังในลักษณะเดิม แต่ปรับเปลี่ยนวัสดุและระบบโครงสร้างเป็นสมัยใหม่
         6. อาหารพื้นถิ่นของชาวปกาเกอะญอ
         อาหารเป็นส่วนหนึ่งของทุกชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ อาหารกะเหรี่ยงจะมีเอกลักษณ์ของตนเอง กล่าวคือ รสชาติจะเผ็ดและจัดจ้าน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
             6.1 แกงข้าวคั่ว “ต่า เค่อ”
             6.2 น้ำพริกปลา “นะ ป๊ะ โต้ เคอะหน่อ คะรี่”
             6.3 แกงเย็นปลา “ญ่า โพ จื่อ ที”
             6.4 แกงเบือ "ต่า คอ พ้อ"
             6.5 แกงไก่ใส่หัวปุก "ต้าซู พอชอเต่ลอคื่อ"
             6.6 แกงหางไหวใส่หมู "เง่ข่าดื่อ เดอเทาะย่า" 

วัฒนธรรมและประเพณีของชาวปกาเกอะญอ
         1. ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
         เดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผีมีการบวงสรวงและเซ่นสังเวยอย่างเคร่งครัด ภายหลังหันมานับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่ไม่น้อย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญหรือการทำกิจกรรมต่างๆ จะต้องมีการเซ่น เจ้าที่เจ้าทาง และบอกกล่าวบรรพชน ให้อุดหนุนค้ำจุน ช่วยให้กิจการงานนั้นๆ เจริญก้าวหน้า ทำเกษตรกรรมได้ผลผลิตดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องคุ้มครองดูแล และยังเป็นการขอขมาอีกด้วย (ภคพร วงค์ดอยแก้ว, 2558)
         2. วัฒนธรรมและประเพณี
         ด้วยความเชื่อและนับถือในเรื่องผีวิญญาณ ชาวกะเหรี่ยงจึงมีประเพณี และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับ  การเลี้ยงผีอยู่เสมอ ผีที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือมีอยู่ 2 อย่าง คือ ผีดี กับ ผีร้าย  ผีดีคือผีบ้าน ซึ่งมีหน้าที่ดูและรักษาหมู่บ้านหรือผีเจ้าที่นั่นเอง และผีเรือน คือผีบรรพบุรุษ เช่น ผีปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้ว วิญญาณยังวนเวียน คุ้มครองลูกหลานอยู่ ชาวกะเหรี่ยงจะมีพิธีเซ่นบวงสรวงบูชาผีเรือนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ปลอดภัยจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือรอดพ้นจากภัยทั้งปวง  นอกจากการเลี้ยงผีบ้านผีเรือนแล้ว ชาวกะเหรี่ยงยังมีพิธีเลี้ยงผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีดอยอีกด้วย ดังนั้นความเชื่อถือในเรื่องผีและวิญญาณของชาวกะเหรี่ยง จึงมีผลดีต่อสังคมชาวกะเหรี่ยงอย่างมาก และทำให้เกิดคุณธรรมขึ้น เพราะไม่มีใครกล้าทำความผิดแม้แต่ต่อหน้าและลับหลัง เช่น การลักขโมยหรือการผิดลูกผิดเมียผู้อื่น แม้คนไม่เห็นแต่ผีเห็นเสมอเป็นต้น นอกจากการนับถือผีแล้ว ชาวกะเหรี่ยงยังนับถือศาสนาคริสต์ และพุทธศาสนาอีกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดเป็นประเพณีและวัฒนธรรมในเผ่าขึ้นเช่น ประเพณีปีใหม่ ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีเกี้ยวสาว และแต่งงาน หรือแม้กระทั่งประเพณีงานศพ (เจษฎา ขวัญเมือง, 2554)
             2.1 ประเพณีปีใหม่ ประเพณีปีใหม่ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวกะเหรี่ยง โดยถือกำเนิดเอาเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แต่การจัดงานอาจจะไม่ตรงกันทุกปีก็ได้ แล้วแต่หัวหน้าหมู่บ้านหรือฮีโข่ จะแจ้งให้ทราบ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นระยะเวลาก่อนจะถึงฤดูกาลการเกษตร คือ หลังจากงานปีใหม่แล้วกะเหรี่ยงจะเริ่มทำงานในไร่ ในนาทันที โดยทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านจะหมักเหล้าเตรียมเอาไว้ เมื่อถึงวันกำหนดงาน หมอผีจะประกอบพิธีให้ โดยเริ่มจากบ้านของฮีโข่ หรือ หัวหน้าหมู่บ้านก่อนเป็นหลังแรก แล้วกระทำต่อไปจนครบ ทุกหลังคาเรือน ซึ่งกินเวลาถึง 3 วัน กว่าจะเสร็จ การทำพิธีกรรม เริ่มจากจัดเตรียมขนมหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวต้ม ข้าวปุ๊ก ข้าวหลาม เพื่อวันรุ่งขึ้นจะถวายแด่เทพเจ้า เตรียมเหล้า สำหรับประกอบพิธีและดื่มร่วมกัน ตกกลางคืนของก่อนวันขึ้นปีใหม่ ผู้นำศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า "ฮี่โข่" จะทำการเรียกเหล่าชาวบ้านมาชุมนุม ในแต่ละบ้านจะส่งตัวแทนบ้านละหนึ่งคน คือ หัวหน้าครอบครัว (ต้องเป็นผู้ชาย) ตอนไปชุมนุมจะต้องเตรียมเหล้า บ้านละหนึ่งขวดไปยังบ้านของผู้นำศาสนา (ฮี่โข่) ด้วย เมื่อมาพร้อมกันทั้งคน และเหล้าแล้ว ฮี่โข่จะเริ่มทำพิธีกรรมพิธีกรรมนี้ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า พิธีกินหัวเหล้า (เอาะซิโค) โดยตอนแรกจะนำขวดเหล้ามารวมกัน โดยฮี่โข่จะทำการอธิษฐาน จากนั้นจะรินเหล้าลงในแก้ว แล้วให้คนที่มาร่วมพิธีดื่ม วิธีการดื่มคือ  เอาขวดแรกของคนที่มาถึงก่อน ฮีโข่จะเอามาเทลงแก้ว แล้วฮี่โข่จะจิบเป็นคนแรก จากนั้นก็ให้คนต่อไปจิบต่อ จิบเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนครบทุกคนที่มาร่วมงาน แล้ววนกลับมาถึงคิวฮี่โข่ ฮี่โข่จะทำการเททิ้งพร้อมอธิษฐานให้พร แด่เจ้าบ้านและครอบครัวของเจ้าของเหล้าขวดที่ได้เทไปแล้ว จะทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนครบทุกขวดของทุกบ้านที่มาร่วมงาน บางครั้งบางทีหมู่บ้านไหนที่มีหลังคาเรือนเยอะอาจทำถึงเช้้าเลยก็ว่าได้
             เช้าวันขึ้นปีใหม่ ชาวกะเหรี่ยงจะตื่นแต่เช้าแล้วมาฆ่าหมู ฆ่าไก่ เพื่อจะนำมาประกอบพิธี ในวันรุ่งเช้า โดยเริ่มจากการนำไก่ที่ฆ่าแล้ว พร้อมเหล้าหนึ่งขวดมาตั้งที่ขันโตก เพื่อจะประกอบพิธีมัดข้อมือ หรือเรียกขวัญของลูกหลานในแต่ละบ้าน โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีนี้ เวลานี้สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะอยู่กันครบหน้า
             2.2 ประเพณีแต่งงาน ผู้หญิงจะเป็นผู้เลือกคู่ครองเอง เจ้าสาวจะต้องทอเสื้อผ้า กางเกง ย่ามไว้ให้เจ้าบ่าว ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องฆ่าหมูฆ่าไก่เพื่อทำพิธีกรรมบอกต่อผีบรรพบุรุษและเป็นอาหารเลี้ยงแขก แต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง 1 ฤดูเก็บเกี่ยว ก่อนแยกไปปลูกบ้านใกล้กัน  เรื่องราวของการสู่ขอ (เอาะ เฆ) ของกะเหรี่ยง มีลักษณะดังนี้เมื่อเป็นที่รับรู้แล้วว่าหญิงชายรักชอบพอกัน พ่อแม่และญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงก็จะส่งคนไปหาฝ่ายชาย เพื่อสอบถามให้แน่ใจว่าฝ่ายชายรัก และยินดีที่จะแต่งงานกับฝ่ายหญิงจริงหรือไม่ หากฝ่ายชายรักชอบพอกัน และยินยอมที่จะแต่งงานกับฝ่ายหญิง ก็จะมีการนัดหมายวันเวลาทำพิธีแต่งงานกันในเวลานั้น (ตามหลักประเพณีกะเหรี่ยงฝ่ายหญิงจะต้องเป็นฝ่ายไปขอฝ่ายชาย) เมื่อฝ่ายชายตกลงปลงใจว่าจะแต่งงานกับฝ่ายหญิงและนัดหมายวันเวลาแต่งงานที่แน่นอนแล้วฝ่ายชายก็ส่งเถ้าแก่ไปทำพิธีหมั่นหมาย (เตอะ โหล่) ฝ่ายหญิงก่อนวันแต่งงานในพิธีฝ่ายหญิงจะฆ่าไก่ 2 ตัว ในการู่ทำอาหารเพื่อเลี้ยงรับรองเถ้าแก่ของฝ่ายชายและวันรุ่งขึ้นก็จะนัดหมายวันเวลาที่ฝ่ายชายและเพื่อนๆ จะมาหาฝ่ายหญิงเพื่อทำพิธีแต่งงานต่อไป
         3. เครื่องดนตรี
         “เตหน่า” เป็นเครื่องดนตรีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ทำด้วยไม้อ่อนเหลาและกลึงให้เป็นรูปเหมือนกล่องรูปทรงรี มีก้านยาวโก่งและโค้งสูงขึ้นไป ที่ตัวจะเจาะรูเป็นโพรงปิดด้วยโลหะบาง ๆ สายทำด้วยเส้นลวด มีสายตั้งแต่ 6 – 9 สาย เตหน่าใช้สำหรับดีดและร้องเพลงประกอบ ใช้ในโอกาสมีเวลาว่างและเพื่อความสนุกสนาน โดยเฉพาะหนุ่มๆ ชาวปกาเกอะญอจะใช้เตหน่าในการเกี้ยวพาราสีหญิงสาวในยามค่ำคืน (มูลนิธิโครงการหลวง, ม.ป.ป.)

บทสรุป
         กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน ซึ่งมีชนเผ่าปะกาเกอะญอ หรือ ชนเผ่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาร่วมร้อยปี ยังคงมีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของกลุ่มในด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งด้านภาษา ประเพณี และการแต่งกายประจำเผ่า ทั้งนี้หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลานยังได้รับการส่งเสริมจากจังหวัดกำแพงเพชรให้เป็นหมู่บ้านอัตลักษณ์โอทอปเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยใช้ภูมิปัญญาของคนในชุมชนและภายนอกชุมชนร่วมกันสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน ให้เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งโดยยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของชาวปะกาเกอะญอไว้ไม่ให้สูญหาย

คำสำคัญ : กลุ่มชาติพันธุ์, กะเหรี่ยง, ปะกาเกอะญอ, หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน

ที่มา : https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=กลุ่มชาติพันธุ์_ชุมชนและสังคม_:_หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน_จังหวัดกำแพงเพชร

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้น 20 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2086&code_db=610001&code_type=05

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2086&code_db=610001&code_type=05

Google search

Mic

กลุ่มชาติพันธุ์ สังคมและวัฒนธรรมของไทยทรงดำ

กลุ่มชาติพันธุ์ สังคมและวัฒนธรรมของไทยทรงดำ

ไทดำหรือไตดำ (Black tai) เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น โซ่ง ซ่ง ไทยโซ่ง ไทยซ่ง ลาวโซ่ง ลาวซ่ง ลาวทรงดำ และลาวพุงดำ โดยสันนิษฐานว่าไทดำเป็นชื่อเรียกแต่แรกเริ่ม ส่วนชื่อที่เรียก “ลาวโซ่ง” และ “ไทยทรงดำ” เป็นคำเรียกคนไทดำที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยเป็นชนกลุ่มที่อพยพผ่านประเทศลาวเข้ามายังประเทศไทย ประกอบกับภาษาพูดที่ใช้มีความคล้ายคลึงกับภาษาพูดของคนลาว (กลุ่มนักศึกษาโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชน, 2547) ซึ่งคำว่า “โซ่ง” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่า กางเกง เพราะชาวไทดำนิยมนุ่งกางเกงและสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ (สันติ, 2557) หากแต่ในการอพยพเข้าประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “ไทย” นำหน้าชื่อกลุ่มชนหรือกลุ่มภาษา เพื่อการเน้นถึงความเป็นชาติและความเป็นไทย คนไทดำที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงมักเรียกชนกลุ่มของตนเองว่า “ไทยทรงดำ” ตั้งแต่นั้นมา (จุรีวรรณ, 2554)

เผยแพร่เมื่อ 06-06-2022 ผู้เช้าชม 4,712

ประวัติอำเภอคลองลาน

ประวัติอำเภอคลองลาน

คลองลานเมืองคนงาม น้ำตกสวย เต็มไปด้วยไม้สัก อนุรักษ์วัฒนธรรมมากมี ของดีเครื่องเงิน อำเภอที่มีมรดกทางธรรมชาติและทิวทัศน์ที่งดงามที่สุด แห่งหนึ่งในโลก อำเภอที่มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์มากที่สุดในประเทศไทย อำเภอที่มีความงดงามทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตภูมิปัญญามากมาย คืออำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคลองลานจึงเป็นอำเภอที่น่าจะได้รับการเยี่ยมชมมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย

เผยแพร่เมื่อ 12-02-2018 ผู้เช้าชม 793

ประวัติตำบลคลองลานพัฒนา

ประวัติตำบลคลองลานพัฒนา

จากการสืบค้น หลายร้อยปีที่ผ่านมามีชนกลุ่มหนึ่งเป็นชาวไทยภูเขา โดยเฉพาะชาวปะกาเกอะญอ อพยพมาจากประเทศพม่าและทางตอนใต้ของจีน เข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในบริเวณป่าลานต้นน้ำตกคลองลาน ซึ่งมีต้นลานขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาทางราชการได้อพยพชาวเขาคนกลุ่มลงมาจากต้นน้ำด้วยเหตุผลสำคัญทางความมั่นคงของชาติ ชาวไทยภูเขาโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ได้ใช้ต้นลาน ซึ่งมีอยู่จำนวนมากมามุงหลังคาบ้าน ทำฝาบ้าน จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านคลองลาน และได้มาเป็นชื่ออำเภอคลองลานในปัจจุบัน

เผยแพร่เมื่อ 16-04-2020 ผู้เช้าชม 633

กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

กะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง เดิมอาศัยอยู่แถบบริเวณต้นแม่น้ำสาละวินของพม่า ต่อมาได้อพยพเข้าสู่ประเทศพม่าและประเทศไทย มีภาษาพูดเรียกว่า ภาษากะเหรี่ยง อยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต ชาวกะเหรี่ยงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหลายอย่าง นอกเหนือจากภาษาพูดแล้ว ยังมีการแต่งกาย ศิลปะการแสดง และประเพณีต่างๆ อนึ่ง คำว่า “กะเหรี่ยง” นั้น บางท่านถือว่าเป็นคำไม่เหมาะสม เป็นการเรียกด้วยความดูถูก แต่ชาวกะเหรี่ยงในบางชุมชน ก็แนะนำตัวเองว่า กะเหรี่ยง มิได้เห็นเป็นคำไม่เหมาะสมหรือดูถูก

เผยแพร่เมื่อ 06-06-2022 ผู้เช้าชม 529