Amazing Journey Go Local : ตาก เมืองรองของไทยต้องไปให้รู้
เผยแพร่เมื่อ 12-12-2024 ผู้ชม 25
[16.8873721, 98.8173086, Amazing Journey Go Local : ตาก เมืองรองของไทยต้องไปให้รู้]
มหัศจรรย์น้ำตกและขุนเขา ละลานตาสินค้าชนเผ่าดอยมูเซอ เพลิดเพลินวิถีริมน้ำปิง
สำหรับใครหลายคน เมื่อพูดถึงจังหวัดตากมักนึกถึงเพียงน้ำตกและอำเภอแม่สอดที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศพม่า เมืองท่าสำคัญในการค้าขายระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเมื่อแรกก้าวเข้ามายังจังหวัดตาก บรรยากาศโดยรอบก็กระซิบกับเราทันทีว่าสถานที่แห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเริ่มต้นจากกลิ่นอายของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวทั่วจังหวัด ทั้งชาวปกาเกอะญอ ชาวไทใหญ่ ชาวมูเซอ รวมถึงชาวไทยเชื้อสายพม่า ที่ทำให้จังหวัดนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย
แนะนำให้เริ่มต้นวันกันที่ ‘ตลาดริมเมย’ ตลาดค้าส่งสำคัญในอำเภอแม่สอดที่เรียงรายด้วยสินค้านานาชนิด แต่ไฮไลต์ที่ต้องมาให้ได้คือ โซนขายอาหารการกินของพี่น้องชาวพม่า ที่มีอาหารและขนมแปลกตาให้ซื้อหามากมาย อาทิ ขนมถั่วงอกทอดกรอบนอกนุ่มใน หรือขนมแป้งทอดรสจัดจ้านราดน้ำจิ้มเปรี้ยวอมหวาน รวมถึงเต้าหู้ทอดแบบพม่าก็มีบริการ แต่ที่เด็ดคือหมากพลูห่อพอดีคำ ขนมกินเล่นยอดนิยม ของชาวพม่าที่ถ้ามาถึงก็น่าลองดูสักครั้ง
ถัดจากตลาดริมเมย อีกหนึ่งตลาดน่าตื่นตาที่อยู่ไม่ไกลจากอำเภอแม่สอดนั้นเราขอยกให้ ‘ตลาดดอยมูเซอ’ ตลาดขายวัตถุดิบท้องถิ่นและอาหารการกินละลานตา โดยอาหารส่วนมากในตลาดนี้เป็นอาหารพื้นถิ่นของชาวมูเซอและไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดตากอย่างหนาแน่น อาทิ น้ำพริกหนุ่มสูตรพิเศษที่มีส่วนผสมเพียงพริกหนุ่มและเครื่องปรุงรส แตกต่างจากน้ำพริกหนุ่มเมืองเหนือทั่วไปที่ใส่มะเขือยาวเผาอย่างที่เราคุ้นรส รวมถึงบรรดาพืชผักจากยอดดอยสดใหม่ที่พร้อมให้พ่อบ้านแม่บ้านเลือกหยิบใส่ตะกร้า อาทิ อะโวคาโด ผลโต มะเขือเทศสด กรอบปลอดสารเคมี
จับจ่ายจนได้ของถูกใจ ถัดกันไม่ไกลยังมีวัดใหญ่ที่พี่น้องชาวแม่สอดน้อมใจกันสักการะ อย่าง ‘วัดไทยวัฒนาราม’ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ ปี 2400 โดยพ่อค้าชาวพม่าผู้อพยพมาจากรัฐฉาน สถาปัตยกรรมภายในวัดแห่งนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบพม่าที่เน้นความอลังการเหลืองอร่าม และพระพุทธรูปอ่อนช้อย อาทิ วิหารสีทอง พระวิหารที่โดดเด่นด้วยลวดลายแกะสลักสีทองบนพื้นผนังสี แดงสด ล้อมรอบด้วยรูปปั้นหงส์สีทองขนาบคู่ดูน่าเกรงขาม กว่านั้นภายในวัดยังประดิษฐาน ‘พระพุทธมหามุนี’ พระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่ององค์ใหญ่ที่จำลองมาจากพระพุทธมหามุนีองค์จริงในประเทศพม่าซึ่งนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่ชาวแม่สอดและพุทธศาสนิกชนทั้งไทยและเทศเคารพบูชากันอย่างยิ่ง
ทำบุญจนอิ่มใจ เขยิบมาพักผ่อนหย่อนใจ กันอีกรูปแบบกับบ่อน้ำพุร้อน ‘อโรคยาศาล โป่งคําราม’ ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านน้ำดิบใกล้กับตัวอำเภอแม่สอด มีบริการทั้งนวดตัว ทำสปา กว่านั้นยังมีถังไม้โอ๊กหลายสิบถังรอให้มาแช่น้ำแร่ธรรมชาติกันให้สบายใจ หรือถ้าใครอยากซื้อหาผลิตภัณฑ์จากน้ำแร่และสมุนไพรท้องถิ่น สถานที่แห่งนี้ก็มีเพียบพร้อมให้เลือกจับจ่ายด้วยเช่นกัน และถัดกันไม่ไกลยังมีอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ใครๆ ก็ต้องแวะ นั่นคือ ‘น้ำตกแม่กาษา’ ที่มีน้ำให้เล่นจนฉ่ำใจตลอดทั้งปี
หลังแช่น้ำจนท้องหิว ในอำเภอแม่สอดก็มีร้านอาหารมากมายให้เลือกรองท้อง แต่ถ้า ใครอยากลิ้มรสเมนูแปลกใหม่ให้สมกับเดินทางมาไกล เราแนะนำ ‘Borderline’ คาเฟ่มังสวิรัติขนาดกะทัดรัดที่มีความพิเศษด้านรสชาติอาหารที่ผสมผสานความเป็นไทยและพม่าไว้ ด้วยกันอย่างลงตัว อาทิ ข้าวผัดสีเหลืองทองหอมกรุ่นใส่ผักสารพัดชนิด ให้กลิ่นอายอาหารพม่าแบบสุขภาพดี เนื่องจากใส่ทั้งขมิ้น แครอตและมะเขือเทศดอย กินคู่สลัดมะเขือเทศห่ามที่ใช้มะเขือเทศห่ามรสเปรี้ยวอมหวานมาปรุงเข้ากับน้ำสลัดโฮมเมดรสชาติกลมกล่อม เป็นการเลือกหยิบเอกลักษณ์ของอาหารพม่าที่นิยมใช้มะเขือเทศลูกจิ๋วและขมิ้นมาใช้อย่างมีเสน่ห์ หรือหากใครอยากดื่มกาแฟ คาเฟ่แห่งนี้ก็มีให้บริการเช่นกัน ทว่าสิ่งที่เราอยากแนะนำนอกจากนั้นคืองานฝีมือสิ่งละอันพันละน้อยที่ร้านนี้มีขาย ทั้งผ้ากันเปื้อน ผ้าพันคอ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ หลายสิบชนิดที่ หยิบเอาศิลปะของชาวชาติพันธุ์ในจังหวัดตากมาตัดเย็บอย่างประณีต เป็นหนทางกระจายรายได้สู่ชุมชนและช่วยสร้างอัตลักษณ์แสนพิเศษให้แก่จังหวัดตากได้ในอีกทาง
และเมื่อพูดถึงจังหวัดตาก แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่อำเภอแม่สอด จุดหมายต่อไปที่เราอยากให้ทุกคนลองมาเที่ยวชมคือตัวเมืองตากที่มากมายด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่หลายคนไม่รู้ เริ่มต้นกันที่ ‘ตรอกบ้านจีน’ ชุมชนชาวจีนเก่าแก่อายุนับร้อยปีในอำเภอเมืองตาก โดดเด่นด้วยบ้านไม้ของพ่อค้าชาวจีนอพยพเรียงรายหลายสิบหลัง เป็นสถาปัตยกรรมที่หาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ทั้งบ้านแต่ละหลังยังประกอบด้วย เรื่องราวเบื้องหลังที่เจ้าของบ้านพร้อมเปิดใจให้ทุกคนได้รับฟัง
แต่เดิมชุมชนตรอกบ้านจีนแห่งนี้นับเป็นแหล่งค้าขายสำคัญ ทั้งเสื้อผ้าอาภรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ทันสมัยที่พ่อค้าชาวจีนนิยมนำเข้าจากเมืองกรุงมาขาย และนอกจากสินค้านานาชนิด ร้านอาหารในตรอกบ้านจีนเองก็เก่าแก่และน่าสนใจเช่นกัน อาทิ ‘ร้านผัดไทยเต้าเจี้ยว’ ที่เปิดขายมานานกว่าค่อนศตวรรษ พิเศษตรงรสชาติของผัดไทยที่เข้มข้นถึงใจ เนื่องจากแม่ครัวปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยวสูตรพิเศษ เมื่อคลุกเคล้าเข้ากับน้ำมะขามเปียก น้ำตาลมะพร้าว รวมถึงเครื่องเคราอีกหลายอย่างก็กลายเป็นผัดไทยสไตล์จีนที่ทำให้ลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรต่างติดอกติดใจในรสชาติ
นอกจากอาหารหนักอย่างผัดไทย ในตัวอำเภอเมืองตากนั้นยังมีของว่างน่าสนใจอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ ‘ยำข้าวเกรียบ’ ที่รับประกันว่าไม่สามารถหากินได้ที่ไหน ด้วยใช้แป้งข้าวเกรียบทำจากแผ่นแป้งข้าวเจ้านึ่งจนสุกตากจนแห้งกรอบ ตัดเป็นชิ้นพอดีคำมาเข้ากับถั่วลิสงคั่ว น้ำพริกเผา มะม่วงเปรี้ยว และกุ้งแห้งคั่วหอมๆ นับเป็นอาหารว่างที่ชาวตากหลงรักกันมารุ่นสู่รุ่นกระทั่งทุกวันนี้
อิ่มท้องกันเรียบร้อย อีกหนึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เราอยากให้ทุกคนได้เยี่ยมชมคือ ‘พิพิธภัณฑ์เมืองเฉลิมพระเกียรติ’ ซึ่งเดิมเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเก่า ก่อนปรับปรุงเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองตาก ไล่เรื่อยมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากยังเป็นทหารคุมหัวเมือง กระทั่งถึงสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนชาวตากเมื่อปี 2501 ทั้งยังมีหลักฐานทางโบราณคดีนับร้อยชิ้นที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านยุคอดีตให้ได้เห็นกับตา
เย็นย่ำค่ำลง ในเมืองตากก็คึกคักไม่แพ้ตอนเช้าหรือบ่ายคล้อยโดยเฉพาะบริเวณ ‘สะพานแขวนสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี’ สะพานแขวนสีเหลืองสว่างข้ามแม่น้ำปิงที่สวยเป็นพิเศษยามพระอาทิตย์ใกล้ตกดิน และแอบกระซิบนิดหนึ่งว่าตลอดช่วงหน้าร้อนนั้นแม่น้ำปิงจะตื้นกระทั่งสามารถลงไปทอดน่องได้ทั้งวัน นับเป็นกิจกรรมเพลินใจคลายร้อนให้ชาวเมืองตากได้อย่างดี
ส่วน 2 สถานที่สุดท้ายที่เราอยากแนะนำให้มาเยือนนั้นคือ ‘ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช’ แหล่งรวมใจของชาวตาก มากมายผู้คนทั้งในและต่างถิ่นแวะเวียนมาสักการะบูชา กว่านั้นยังเป็นสถานที่รวบรวมพระราชประวัติของพระเจ้าตากตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์กระทั่งครองราชย์ให้เราได้ทราบโดยละเอียด อีกหนึ่งสถานที่เหมาะแก่การทอดน่องยามค่ำคืนคือ ‘กาดนั่งยองคล้องย่าม’ ตลาดนัดกลางคืนที่เพียบด้วยอาหารการกินพื้นถิ่น อาทิ ข้าวต้มผงกะหรี่ ที่หากินได้แค่ที่จังหวัดตากเท่านั้นโดยเป็นข้าวต้มหมูสับปรุงด้วยน้ำซุปเจือผงกะหรี่กลิ่นหอมขึ้นจมูก นับเป็นเมนูเด็ดที่ชาวตากแทบทุกคนรับประกันว่าอร่อย!
อย่างที่กล่าวข้างต้น พูดได้ว่าจังหวัดตากมีรายละเอียดอันเต็มไปด้วยเสน่ห์ของความหลากหลาย จากวัฒนธรรมของชาวชาติพันธุ์ และอิทธิพลของพี่น้องชาวพม่าที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน กระทั่งกลายเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์น่าประทับใจไม่รู้ลืม
คำสำคัญ : ตาก
ที่มา : https://thai.tourismthailand.org/Articles/amazing-journey-go-local-tak
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2567). Amazing Journey Go Local : ตาก เมืองรองของไทยต้องไปให้รู้. สืบค้น 17 มกราคม 2568, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=2278&code_db=610001&code_type=TK001
Google search
การสื่อสารที่แสนทันสมัยในยุครัชกาลที่ 5 จังหวัด ตากเป็นเมืองที่มีอาณาเขตทางฝั่งตะวันตกในอำเภอแม่สอดติดกับประเทศพม่าสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองท่ามะละแหม่ง ตากจึงเป็นชุมทางโทรเลขที่สำคัญมากที่สุดในการติดต่อกับชาติตะวันตกในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังความนิยมใช้โทรเลขก็ลดบทบทลงตามสมัยนิยม เหลือไว้เพียงชื่อหมู่บ้านที่เป็นชุมทางโทรเลข เช่น ในเมืองตากย่านตรอกบ้านจีน ยังเคยเป็นชุมทางไปรณีย์ที่สำคัญในเมืองตาก เป็นที่ตั้งของเสาโทรเลขชาวตากจึงเรียกย่านนั้นว่า บ้านเสาสูง
เผยแพร่เมื่อ 04-02-2022 ผู้เช้าชม 572
กฎหมายมังรายศาสตร์เป็นการกล่าวถึงวิธีพิจารณาความและตัดสินความในแง่มุมต่าง ๆ ของคนในล้านนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสั่งสม ถ่ายทอด และเกิดเป็นวัฒนธรรมที่มีรูปแบบอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง และกระจายแนวคิดดังกล่าวไปยังเมืองโดยรอบที่รับวัฒนธรรมล้านนา จึงส่งผลให้เมืองตากมีความเป็นเมืองลูกผสมระหว่างวัฒนธรรมลุ่มน้ำปิงตอนบนและวัฒนธรรมปิงตอนล่างที่รับวัฒนธรรมขั้นใหญ่มาจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมเมืองชายตะเข็บแห่งล้านนาที่เห็นได้ง่ายคือ การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนลาว วัฒนธรรมอาหาร วัฒนธรรมการพูด(ปากลาว) ประเพณีที่เป็นแบบไทย ๆ ลาว ๆ และการถ่ายทอดด้านภาษาเขียนหรือตัวธรรมล้านนา
เผยแพร่เมื่อ 04-02-2022 ผู้เช้าชม 1,096
ภาพศาลากลางจังหวัดตากปี พ.ศ.2479 ภายหลังมีการย้ายศูนย์ราชการไปพร้อมกับการตัดถนนพหลโยธิน ส่งผลให้ศาลากลางหลังเดิม ถูกเปลี่ยนเป็นเทศบาลเมืองตาก ภายหลัง อาคารหลังนี้ถูกรื้อไปแล้วน่าเสียดายอาคารมาก เนื่องจากเป็นอาคารไม้สัก ทั้งอาคารหลังนี้เคยรับเสด็จรัชกาลที่ 6 ด้วย สมัยดำรงพระอิสริยศเป็นมงกุฎราชกุมารในสมัยรัชกาลที่ 5 และน่าจะเคยรับเสด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วย เพราะยังพบหลักฐานนาฬิกาโบราณที่มีชื่อพระนามสลักติดไว้ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองตากจวนผู้ว่าเก่า น่าเสียดายที่กระแสการอนุรักษ์อาคารโบราณเพิ่งจะได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้เอง มิเช่นนั้นคงจะมีท่างออกที่ดีในด้านการอนุรักษ์
เผยแพร่เมื่อ 04-02-2022 ผู้เช้าชม 1,386
รถโดยสารที่มีตัวถังของรถสร้างด้วยไม้ด้านในกรุพื้นด้วยไม้ด้านบนในห้องผู้โดยสารทำไม้เป็นระแนง เป็นรถยอดนิยมที่ขนถ่ายผู้คนจากนอกเมืองตากเพื่อเข้ามายังย่านการค้าแห่งใหม่ย่านตลาดริมน้ำ ผู้คนเรียกขานตามรูปลักษณ์ที่พบเห็นว่า "รถคอกหมู" ปัจจุบันยังคงพอจะเห็นรถคอกหมูวิ่งไปมาในย่านตัวเมืองอยู่บ้าง เพื่อให้ระลึกถึงช่วงการเปลี่ยนผ่านของเมืองเป็นหมุดหมายกาลเวลาที่อีกไม่นานคงเหลือให้ชมจากภาพก็น่าจะเป็นได้
เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 902
ถนนสายเล็ก ๆ ที่ชาวเมืองตากเรียกกันว่า “ตรอกบ้านจีน” ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองตาก บนถนนตากสิน ไม่ไกลจากสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เป็นชุมชนการค้าขายที่รุ่งเรืองมากในอดีต แม้วันนี้บรรยากาศความคึกคักของชุมชนค้าขายอาจไม่หลงเหลืออยู่ แต่ยังคงมีร่องรอยของความรุ่งเรืองในอดีตปรากฏให้เห็น ผ่านบ้านเรือนเก่าที่ยังคงลักษณะของสถาปัตยกรรมเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมท่ามกลางวิถีชีวิตอันเรียบง่าย กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตาก
เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 1,468
นักประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่า ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดของกระบวนการสร้างชาติจนสามารถพัฒนามาเป็นประเทศไทยในทุกวันนี้ได้คือ ช่วงเวลาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ.2310 ขณะนั้นอาณาจักรได้เกิดการแตกแยกออกเป็นสี่ส่วนใหญ่ๆ ตามภาค คือ พิษณุโลกคุมภาคเหนือ นครศรีธรรมราชมีอำนาจในภาคใต้ทั้งหมด นครราชสีมาและพิมาย มีอิทธิพลครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จันทบุรีเป็นหัวเมืองใหญ่ที่สุดทางภาคตะวันออก ส่วนเชียงใหม่ตกเป็นของพม่าเรียบร้อยแล้ว
เผยแพร่เมื่อ 03-08-2022 ผู้เช้าชม 1,354
เมืองตากตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าลำน้ำปิง ด้านตะวันตกติดกับชายแดนพม่าส่งผลให้กลายเป็นชุมทางหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาริงแล้วการค้าในสยามขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับการเข้ามาของจีนแผนดินใหญ่ในระหว่างนี้เองจีนกลุ่มต่าง ๆ จึงได้เลือกที่ลงหลักปักฐานบนย่านที่ทำการค้าได้ดี เมืองตากเป็นเมืองหนึ่งที่ชาวจีนนิยมเลือกมาทำการค้าตั้งเป็นชุมชนการค้า พร้อมทั้งน่าจะมีการสร้างศาลเจ้าจีนไว้เป็นที่เคารพของคนในย่านนั้น ศาลเจ้าปุนเถ่ากง จึงเสมือนหมุดยึดโยงความเชื่อความรักในแผ่นดินระหว่างจีนเก่า-จีนใหม่ในเมืองตาก เป็นอนุสรณ์ของชาวจีนที่เมืองตากที่ยังคงมีลมหายใจของคนในพื้นที่
เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 1,455
เมืองตากแม้จะเป็นเมืองสำคัญในฐานะเมืองกึ่งกลางเส้นทางลำน้ำปิงและเมืองชายแดนพม่าก็ตาม แต่จากเอกสารในหอจดหมายเหตุท่านไม่เคยเสด็จฯมาเมืองตาก คงจะมีเพียงมงกุฏราชกุมารซึ่งต่อมาคือรัชกาลที่ 6 เท่านั้น การเสด็จในครั้งนั้นท่านเสด็จมาถึงเพียงปากน้ำโพเพื่อทรงเปิดทางรถไฟสายเหนือ ในคราวนั้น มงกุฏราชกุมารเสด็จฯพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯไปทำความคุ้นเคยกับเจ้านายหัวเมืองล้านนา ขากลับเสด็จฯ ลงมาตามลำน้ำปิงและเสด็จขึ้นเมืองตาก ในสมัยนั้นการสื่อสารคงยังไม่ทันสมัย ความแพร่ภาพเจ้านายต่อสาธารณะชนจึงน้อย และการเสด็จในครั้งนั้นเป็นการเสด็จแทนพระองค์ ชาวบ้านจึงอนุมานไปว่าเจ้านายที่เสด็จฯ คือสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เป็นไปได้
เผยแพร่เมื่อ 04-02-2022 ผู้เช้าชม 779
ชาวตากนับว่ามีโอกาสดีเคยรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่หลายครา แต่คราที่อยู่ในความทรงจำคือ ในคราวปีพ.ศ.2501 มีการจัดแต่งซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติบริเวณเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินบนถนนตากสิน ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดพระเนตรกิจในการสร้างเขื่อนภูมิพล และทรงเสด็จมาประทับที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตากในย่านตัวเมืองตากเดิม (ย่านตรอกบ้านจีน) เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวตากอย่างหาที่สุดมิได้
เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 519
การคัดเลือกพระพุทธรูปมาประดิษฐานในครั้งนั้นหมายที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาศึกษาศิลปะนั้นเอง นำไปสู่การค้นหาพระพุทธรูปที่เก่าแก่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ของไทยรวมไปถึงที่เมืองตากที่พบว่าพระพุทธรูปที่เก่าแก่องค์หนึ่งของเมืองตากคือ “หลวงพ่อแสนทอง”เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน สิงห์สาม มีเรื่องเล่าว่ามีนิมิตจากหลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์หนึ่งวัดเขาแก้ว นิมิตถึงพระพุทธรูปองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ในวิหารร้างบริเวณเมืองโบราณที่ชื่อว่า “เมืองตื่น” เมืองดังกล่าวตั้งอยู่ทางเหนือของเขื่อนภูมิพล ในนิมิตฝันว่าท่านเห็นแสงจากนั้นพระพุทธรูปได้เปล่งแสงลอยข้ามฟ้าจากป่าเมืองร้าง มาลอยวนเหนือตัวเมืองตาก และมาหยุดสถิตอยู่เหนือเขาแก้ว ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดมณีบรรพตวรวิหาร (วัดเขาแก้ว) หลวงพ่อห้อน พระเกจิดังเมืองตาก จึงสืบหาเมืองร้างดังกล่าวและเดินทางด้วยเท้า เข้าป่าเหนือลำแม่น้ำปิง นานกว่า ๒๐ วัน จึงค้นพบ “เมืองตื่น” ภายในเมืองโบราณมีวิหารร้างสภาพปรักหักพัง ภายในมีพระพุทธรูปทองสำริด ลักษณะดังเช่นที่หลวงพ่อนิมิตถึง
เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 658