"ยันฮี" มา "บ้านนา" หาย

เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้ชม 453

[17.481075, 98.2989987, "ยันฮี" มา "บ้านนา" หาย]

       หลายคนอาจจะรู้จัก “ยันฮี” ในชื่อของโรงพยาบาล แต่น้อยคนที่จะรู้จักว่า “ยันฮี” เคยเป็นชื่อของเขื่อนมาก่อน เขื่อนที่ทำให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งหายไปจากแผนที่ประเทศไทยตลอดกาล
       โครงการบ้านนาในน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นโครงการที่จะพาทุกคนไปรู้จักกับเรื่องราวของหมู่บ้านหนึ่งที่ต้องอพยพย้ายถิ่น เมื่อโครงการโรงไฟฟ้ายันฮีถือกำเนิดขึ้น เรื่องราวความเป็นมาของหมู่บ้าน วิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านนา ความรู้ภูมิปัญญาต่าง ๆ ที่ยังคงถือปฏิบัติและสืบทอด ถูกบันทึกไว้ผ่านโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของโรงเรียนสามเงาวิทยาคม ภายใต้กิจกรรม “ผู้แก่เล่า ผู้เยาว์เขียน”

       เมื่อ “ยันฮี” มา.. “บ้านนา” ก็หาย...
       ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2494) มีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การสำรวจพื้นที่ทั่วประเทศจึงเริ่มต้น และพบว่า ลำน้ำปิงบริเวณหุบเขา “ย่านรี” หรือ “ยันฮี” (เขาแก้ว) อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีความเหมาะสม จึงนำมาสู่การก่อตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี” (กฟย.) เพื่อรับผิดชอบการสร้าง “เขื่อนยันฮี” และผลิตไฟฟ้าให้กับภาคกลางและภาคเหนือ ในปีพ.ศ. 2496
       “เขื่อนภูมิพล” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนาม จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปีพ.ศ. 2500 เดิมชื่อ เขื่อนยันฮี ส่วนที่มาของชื่อ มีหลากหลายเวอร์ชัน ทั้งที่บอกว่า เป็นการเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ย่านรี” ที่เป็นชื่อหุบเขาที่สร้างเขื่อน บ้างก็บอกว่า มาจากลักษณะของลำน้ำปิงในช่วงนี้ ที่มีลักษณะแคบ ยาว เวลาพายเรือ หรือแพ ต้องคอยใช้ไม้ยันขอบแกะแก่ง เพื่อไม่ให้เรือ/แพแตก หรือบางคนก็เชื่อตามตำนานของพระนางจามเทวี ที่เชื่อว่า ลำน้ำนี้เป็นที่อาบน้ำของพระนาง แล้วระดับน้ำในแม่น้ำก็สูงถึงของลับของพระนาง ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ ส่วนจะเชื่อแบบไหน?? ก็สุดแต่ใจ...
       ประเด็นสำคัญคือ เมื่อมีโครงการสร้างเขื่อน ชาวบ้านนากว่า 12 หมู่บ้านที่เคยอาศัยอยู่บริเวณเขาแก้วต้องอพยพย้ายถิ่น เพราะบริเวณที่อยู่อาศัยและที่มาหากินของพวกเขาจะถูกแปรสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การอพยพเริ่มต้นในช่วงปีพ.ศ. 2503 บางส่วนถอยร่นขึ้นไปบนภูเขาตั้งหมู่บ้านใหม่ ที่ต้องเดินทางเข้า-ออกด้วยเรือ บางส่วนยอมย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดอื่น และหลายครอบครัวเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นชาวแพ อาศัยอยู่ในเขื่อน ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ของบ้านนาย้ายมาลงหลักปักฐานใหม่ที่หมู่บ้านจัดสรร ตามที่ทางกรมชลประทานจัดหาไว้ให้ โดยเฉพาะหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ของหมู่บ้านจัดสรรในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นชาวบ้านนา

       จากบ้านนา สู่บ้านจัดสรร           
       การเดินทางออกจากบ้านนามาสู่บ้านจัดสรร (ที่รัฐจัดการให้) ไม่ใช่เรื่องง่าย การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินทางออกจากบ้านนาด้วยเรือพาย หรือแพไม้ไผ่ ต้องขนทั้งคน ทั้งทรัพย์สิน ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราด และโจรชุกชุม หลายครอบครัวต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัว ขณะที่หลายครอบครัวสูญเสียทรัพย์สินระหว่างการย้ายออก
       การตั้งบ้านในพื้นที่ที่รัฐจัดการให้ ไม่ใช่เรื่องที่คุ้นเคยสำหรับชาวบ้านในสมัยนั้น การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินให้แต่ละครอบครัวจึงจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ซึ่งก็อาจจะไม่ได้รับความยุติธรรม หรือเท่าเทียมกันเสมอไป
       เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่ทางรัฐ (กรมชลประทาน) จัดสรรให้ ผังบ้านของหมู่บ้านจึงมีลักษณะเหมือนกับหมู่บ้านจัดสรรในปัจจุบัน คือ มีการตัดถนนเป็นสายๆ ขนานไปกับลำน้ำปิง (มีทั้งหมด 8 สาย) นอกจากนั้นยังแบ่งพื้นที่ออกเป็นล็อคๆ (ปัจจุบันเรียกว่า ซอย) จากนั้นให้ชาวบ้านเข้าจับจองพื้นที่อยู่อาศัย โดยแต่ละครอบครัวจะได้ ครอบครัวละ 1 ไร่ สำหรับที่อยู่อาศัย ส่วนพื้นที่ทำมาหากินจะอยู่รอบนอกของหมู่บ้าน           
       ดังนั้น “หมู่บ้านจัดสรร” จึงไม่ได้มีความหมายแค่ หมู่บ้านที่รัฐเป็นผู้จัดสรรให้ แต่ยังหมายรวมถึงลักษณะของหมู่บ้านด้วย ที่มีการแบ่งที่ดินออกเป็นแปลง ๆ ให้ชาวบ้านเข้ามาจับจอง

คำสำคัญ : เขื่อน

ที่มา : https://www.facebook.com/laoruengmuengtak/

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). "ยันฮี" มา "บ้านนา" หาย. สืบค้น 19 เมษายน 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=2053&code_db=610001&code_type=TK006

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=2053&code_db=610001&code_type=TK006

Google search

Mic

"ยันฮี" มา "บ้านนา" หาย

 “เขื่อนภูมิพล” เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานนาม จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปีพ.ศ. 2500 เดิมชื่อ เขื่อนยันฮี ส่วนที่มาของชื่อ มีหลากหลายเวอร์ชัน ทั้งที่บอกว่า เป็นการเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ย่านรี” ที่เป็นชื่อหุบเขาที่สร้างเขื่อน บ้างก็บอกว่ามาจากลักษณะของลำน้ำปิงในช่วงนี้ ที่มีลักษณะแคบ ยาว เวลาพายเรือ หรือแพ ต้องคอยใช้ไม้ยันขอบแกะแก่ง เพื่อไม่ให้เรือ/แพแตก หรือบางคนก็เชื่อตามตำนานของพระนางจามเทวี ที่เชื่อว่า ลำน้ำนี้เป็นที่อาบน้ำของพระนาง แล้วระดับน้ำในแม่น้ำก็สูงถึงของลับของพระนาง ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ ส่วนจะเชื่อแบบไหน?? ก็สุดแต่ใจ...

เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 453

ประวัติอำเภอสามเงา

ประวัติอำเภอสามเงา

เล่าสืบต่อกันว่า ในอดีตกาลครั้งกระโน้น พระนางจามเทวีได้เสด็จทางชลมารค ขึ้นมา ตามลำน้ำปิงจะไปครองเมืองหริภุญชัย (ลำพูน)พอถึงหน้าผาริมน้ำแห่งหนึ่งก็เกิดอัศจรรย์ปั่นป่วนอากาศวิปริต พายุฝนโหมกระหน่ำหนัก พระนางไม่สามารถที่จะเสด็จต่อไปได้ ต้องพาข้าราชบริพารขึ้นไปประทับหลบภาวะวิปริตของดินฟ้าอยู่ ณ ที่นั้นถึง 3 วัน 3 คืน สภาพดินฟ้าอากาศก็ยังไม่คลี่คลายลง พระนางจึงเสด็จขึ้นไปบนหน้าผาและทรงจุดธูปเทียนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าหากพระนางมีบุญญาบารมีที่จะได้ครองเมืองหริภุญชัย (ลำพูน) จริงแล้ว ก็ขอให้อากาศวิปริตของดินฟ้าอากาศจึงหายไป อย่าได้เป็นอุปสรรคในการเดินทางของพระนางต่อไปอีกเลย

เผยแพร่เมื่อ 15-08-2018 ผู้เช้าชม 3,868

โปสเตอร์เก่า เล่าขานความทรงจำเขื่อนพระราชา

โปสเตอร์เก่า เล่าขานความทรงจำเขื่อนพระราชา

การเปลี่ยนผ่านของเมืองตาก ภายหลังการเกิดโครงการสร้างเขื่อนพระราชา อันเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ของเมืองไทย เหตุการณ์ที่ชาวตากไม่เคยลืมคือ เมื่อมีโอกาสได้รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จมาเปิดเขื่อนภูมิพล บริเวณอำเภอสามเงา จังหวัดตาก โดยมีนายกรัฐมนตรีลูกหลานชาวเมืองตาก(จอมพลถนอม กิติขจร) เป็นผู้กล่าวคำถวายรายงานโครงการสร้างเขื่อนที่เมืองตาก 

เผยแพร่เมื่อ 03-02-2022 ผู้เช้าชม 356