พิกุล
เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้ชม 12,797
[16.4258401, 99.2157273, พิกุล]
พิกุล ชื่อสามัญ Asian bulletwood, Bullet wood, Bukal, Tanjong tree, Medlar, Spanish cherry
พิกุล ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi var. parvifolia (R.Br.) H.J.Lam, Mimusops parvifolia R.Br.) จัดอยู่ในวงศ์พิกุล (SAPOTACEAE)
สมุนไพรพิกุล มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล), แก้ว (ภาคเหนือ), กุน (ภาคใต้), ไกรทอง, ตันหยง, มะเมา, พกุล, พิกุลทอง เป็นต้น
ลักษณะของพิกุล
- ต้นพิกุล มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน และในหมู่เกาะอันดามัน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลและแตกเป็นรอยแตกระแหงตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนกิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ดินดี ชอบแสงแดดจัด ทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานถึง 2 เดือน มีการเพาะปลูกมากในมาเลเซีย เกาะโซโลมอน นิวแคลิโดเนีย วานูอาตู และออสเตรเลียทางตอนเหนือ รวมไปถึงเขตร้อนทั่ว ๆ ไป (เปลือกต้น พบว่ามีสารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ Beta amyrin, Betulinic acid, Lupeol, Mimusopfarnanol, Taraxerone, Taraxerol, Ursolic acid, สารในกลุ่มกรดแกลลิก ได้แก่ Phenyl propyl gallate, น้ำมันหอมระเหย ได้แก่ Cadinol, Diisobutyl phthalate, Hexadecanoic acid, Octadecadienoic acid, Taumuurolol, Thymol)
- ใบพิกุล มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันแบบห่าง ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ใบมีความกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน ท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อน และเนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ส่วนก้านใบยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปเรียวแคบ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย
- ดอกพิกุล ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกพิกุลจะมีขนาดเล็กสีขาวนวล มีกลิ่นหอม (กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว) และหลุดร่วงได้ง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลนุ่ม ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยกลีบดอกจะสั้นกวากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอกมี 8 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมกันเล็กน้อย กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีลักษณะ ขนาด และสีคล้ายคลึงกับกลีบดอกมาก ดอกมีเกสรตัวผู้สมบูรณ์ 8 ก้าน อับเรณูเป็นรูปใบหอกและยาวกว่าก้านชูอับเรณู เกสรตัวผู้เป็นหมัน 8 อัน และรังไข่มี 8 ช่อง เมื่อดอกใกล้โรยจะเป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล สามารถออกดอกได้ตลอดปี (ดอกมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วย 3-hydroxy-4-phenyl-2-butanone 4.74%, 2-phenylethanol 37.80%, 2-phenylethyl acetate 7.16%, (E)-cinnamyl alcohol 13.72%, Methyl benzoate 13.40%, p-methyl-anisole 9.94%)
- ผลพิกุล ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ถึงรี ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาดและมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็ง สีดำเป็นมัน ติดได้ตลอดปี (ผลและเมล็ดพบ Dihydro quercetin, Quercetin, Quercitol, Ursolic acid, สารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน ซึ่งได้แก่ Mimusopane, Mimusops acid, Mimusopsic acid ส่วนเมล็ดพบสารไตรเทอร์ปีนซาโปนินได้แก่ 16-alpha-hydroxy Mi-saponin, Mimusopside A and B, Mi-saponin A และยังมีสารอื่น ๆ อีก ได้แก่ Alpha-spinasterol glucoside, Taxifolin)
สรรพคุณของพิกุล
- ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ดอก, แก่น, แก่นที่ราก, ราก)
- แก่นที่รากและดอกแห้งใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ส่วนดอกสดใช้เข้ายาหอมช่วยบำรุงหัวใจเช่นกัน (ดอก, ขอนดอก, แก่นที่ราก)
- ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ขอนดอก, ดอกแห้ง)
- ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้โลหิต (ดอก, ราก) ฆ่าพิษโลหิต (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้เลือดตีขึ้นให้สลบไป แก้เลือดตีขึ้นถึงกับตาเหลือง (ใบ)
- ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ดอกแห้ง)
- ช่วยแก้หอบ (ดอกแห้ง)
- ช่วยแก้หืด (ใบ)
- แก่นใช้เป็นยาแก้ไข้ (แก่น, ผลดิบและเปลือก, ดอกแห้ง), แก้ไข้จับ แก้ไข้หมดสติ แก้ไข้คลั่งเพ้อ (ดอกแห้ง)
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ดอกแห้ง)
- ผลสุกใช้รับประทานแก้อาการปวดศีรษะ (ผลสุก, ดอกแห้ง)
- ดอกแห้งใช้ป่นทำเป็นยานัตถุ์ (ดอกแห้ง)
- ช่วยรักษาโรคคอ (เปลือกต้น)
- ผลสุกใช้รับประทานแก้โรคในลำคอและปาก (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ดอกแห้ง)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอล้างปาก แก้โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม รำมะนาด (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเกลือช่วยแก้อาการปวดฟัน ช่วยทำให้ฟันแน่น แก้ฟันโยก ช่วยฆ่าแมงกินฟันที่ทำให้ฟันผุ (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาอาการปากเปื่อย (เปลือกต้น)
- ดอกแห้งช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ ละลายเสมหะ (ดอกแห้ง, ราก)
- รากและดอกใช้ปรุงเป็นยาแก้ลม (ระบบไหลเวียนทางโลหิต) ช่วยขับเสมหะที่เกิดจากลม (ราก, ดอก)
- ช่วยบำรุงปอด (ขอนดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย ลงท้อง (ดอกสด, ดอกแห้ง, ผลดิบและเปลือก, เปลือกต้น, ราก)
- เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวารหรือทำเป็นยาเหน็บทวารเด็กเมื่อมีอาการท้องผูก ช่วยแก้โรคท้องผูก (เข้าใจว่าใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) (เมล็ด)
- ช่วยขับลม (แก่นที่ราก)
- ช่วยรักษาไส้ด้วนไส้ลาม (ใบ)
- ใบมีสรรพคุณฆ่าพยาธิ (ใบ, แก่น) ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ดอกแห้ง, เปลือกต้น, ราก)
- เมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)
- ใบช่วยรักษากามโรค ฆ่าเชื้อกามโรค (ใบ)
- ช่วยแก้ตกโลหิต (ดอกแห้ง, ราก)
- ขอนดอก (เนื้อไม้ที่ราลง มีสีน้ำตาลเข้มประขาว เรียกว่า "ขอนดอก") ใช้เป็นยาบำรุงตับ (ขอนดอก)
- ผลดิบและเปลือกเป็นยาฝาดมาน (ผลดิบและเปลือก, ดอกสด)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและตามร่างกาย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการบวม (ดอกแห้ง, เปลือกต้น, ราก)
- ช่วยแก้เกลื้อน (กระพี้) ส่วนแก่นช่วยรักษากลากเกลื้อน (แก่น)
- ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง (ดอกแห้ง, ราก)
- ช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี (ครรภ์รักษา) (ขอนดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งห้า" (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง), ตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งเจ็ด" (เพิ่มดอกจำปาและดอกกระดังงา), ตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งเก้า" (เพิ่มดอกลำดวนและดอกลำเจียก) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ ช่วยแก้อาการวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ช่วยแก้ลมกองละเอียด และช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี หรือจะใช้เข้ายาผสมกับดอกไม้ชนิดอื่นที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงาก็ได้ (ดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดจตุทิพยคันธา" (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล รากชะเอมเทศ รากมะกล่ำเครือ เหง้าขิงแครง) ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้ลมปั่นป่วน แก้พรรดึก และแก้เสมหะ (ดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ใน "ตำรับยาเขียวหอม" ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบรรเทาอาการไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด และแก้พิษสุกใส (ช่วยบรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส) (ดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับ "ยาหอมนวโกฐ" ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ช่วยแก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ ช่วยแก้ลมปลายไข้ (มีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืด ซึ่งเป็นอาการหลังจากการฟื้นไข้) (ดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา "ยาหอมเทพจิตร" ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมกองละเอียด หรืออาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (ดอก)
หมายเหตุ : ขอนดอก คือ เครื่องยาไทยที่อาจได้จากต้นพิกุลหรือต้นตะแบกแก่ ๆ โดยจะมีเชื้อราที่เข้าไปเจริญในเนื้อไม้ ขอนดอกจะมีกลิ่นหอมและมีรสจืด และจากข้อมูลระบุว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่าที่ได้จากชนิดอื่น
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดอกพิกุล
- มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน (EC50 = 0.23-0.55 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) มีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้โพแทสเซียมต่ำ ช่วยลดความดันโลหิต มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อรา ฆ่าพยาธิ ต้านฮีสตามีน มีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์ ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ น้ำสกัดจากดอกพิกุลแห้งมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะในสุนัขที่สลบ แม้ว่าจะนำน้ำสกัดจากดอกที่เอาเกลือโพแทสเซียมออกไปทดลองขับปัสสาวะในสุนัข ในหนูขาวปกติ หรือในหนูขาวที่ตัดต่อมหมวกไต ก็ยังมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอยู่
- จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากดอกพิกุลด้วยเอทานอล 50% ด้วยการให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลอง ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ
ประโยชน์ของพิกุล
- ผลพิกุลสามารถใช้รับประทานเป็นอาหารหรือผลไม้ของคนและสัตว์ได้ และยังช่วยดึงดูดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกได้เป็นอย่างดี
- ดอกพิกุลมีกลิ่นหอมเย็น นิยมนำมาใช้บูชาพระ
- น้ำจากดอกใช้ล้างปากล้างคอได้
- เนื้อไม้พิกุลสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทำเครื่องมือได้ เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี การขุดเรือทำสะพาน โครงเรือ ไม้คาน ไม้กระดาน วงล้อ ครก สาก ด้ามเครื่องมือ เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ และยังใช้เนื้อไม้ในงานพิธีมงคลได้เป็นอย่างดี เช่น การนำมาทำเป็นด้ามหอกที่ใช้เป็นอาวุธ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือ ฯลฯ
- เปลือกต้นพิกุลใช้สกัดทำสีย้อมผ้า
- เนื่องจากต้นพิกุลมีลักษณะของทรงต้นเป็นพุ่มใบทึบ มีความสวยงาม สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ จึงนิยมนำมาใช้ปลูกเพื่อประดับอาคารและเพื่อให้ร่มเงา หรือจะใช้ปลูกตามบริเวณลานจอดรถ ริมถนนก็ดูสวยงามเช่นกัน อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย
- คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะส่งผลทำให้มีอายุยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ และสำหรับการปลูกต้นพิกุลเพื่อเสริมสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี (เนื่องจากพิกุลเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพตรี) และควรปลูกต้นพิกุลทองในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์หรือวันจันทร์ (การปลูกไม้วันเสาร์เป็นการปลูกเพื่อเอาคุณ) เพื่อจะช่วยป้องกันโทษร้ายต่าง ๆ
- ดอกมีกลิ่นหอมเย็น สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม ใช้แต่งกลิ่นทำเครื่องสำอาง
คำสำคัญ : พิกุล
ที่มา : https://medthai.com/
รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์
สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2563). พิกุล. สืบค้น 24 มีนาคม 2568, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=1750&code_db=610010&code_type=01
Google search
ต้นตองกง จัดเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีอายุหลายปี ลำต้นกลม มีลักษณะคล้ายต้นไผ่ ลำต้นตั้งมีกอที่แข็งแรงมาก มีความสูงของต้นประมาณ 3-4 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและส่วนของลำต้นหรือเหง้าที่อยู่ใต้ดิน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง โดยสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศอินเดีย จีน หม่า รวมไปถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยขึ้นเป็นวัชพืชตามที่โล่งสองข้างทาง ตามไหล่เขา และตามชายป่า ที่ระดับความสูงจนถึงประมาณ 1,800 เมตร
เผยแพร่เมื่อ 01-06-2020 ผู้เช้าชม 4,292
สำหรับต้นการะเกดนั้นเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น มีความสูงของลำต้นประมาณ 3-7 เมตร โดยแตกกิ่งก้านมีรากยาวและใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน 3 เกลียวตรงปลายกิ่ง คล้ายรูปรางน้ำ บริเวณขอบใบมีหนามแข็งๆ อยู่ และดอกนั้นจะแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน โดยดอกจะออกตามปลายยอดจำนวนมาก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีกาบสีนวลๆ หุ้มอยู่ กลิ่นหอมเฉพาะตัว และผลออกเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร ผลสุกมีกลิ่นหอม มีสีเหลืองตรงโคน ส่วนตรงกลางจะเป็นสีแสด และตรงปลายจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง
เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 3,830
ตะไคร้หอม (Citronella Grass, Sarah Grass) หรือตะไคร้แดง เป็นพืชสมุนไพรจำพวกหญ้า ซึ่งตะไคร้หอมนั้นมีต้นกำเนิดจากเขตร้อนของเอเชีย เป็นพืชสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ซึ่งใช้สำหรับไล่ยุงได้ ไม่นิยมนำมาประกอบอาหารรับประทานเหมือนกับตะไคร้ โดยมีการนำตะไคร้หอมเข้ามาจากอินเดีย ซึ่งผู้ที่เริ่มนำตะไคร้หอมเข้ามาในประเทศไทยของเราก็คือคุณหลวงมิตรธรรมพิทักษ์ โดยเริ่มปลูกจากจังหวัดชลบุรีแล้วจึงแพร่กระจายปลูกไปทั่วทุกภาคของประเทศ
เผยแพร่เมื่อ 08-05-2020 ผู้เช้าชม 7,504
ผักบุ้งมีชื่อเรียกอื่นว่าผักทอดยอด เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่เรามักจะคุ้นเคยกันมาตลอดว่ามีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา แต่จริงๆ แล้วผักชนิดนี้ยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญๆ แต่ก่อนจะไปรู้ถึงประโยชน์มาดูกันก่อนว่าผักบุ้งที่นิยมนำมาใช้รับประทานนั้นมีสายพันธุ์อะไรบ้าง ซึ่งในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ ผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน
เผยแพร่เมื่อ 10-07-2020 ผู้เช้าชม 7,424
มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นพืชสมุนไพรไทยชื่อแปลกอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์และสรรพคุณที่หลากหลาย โดยที่มะม่วงหาวมะนาวโห่จัดเป็นผลไม้ประเภทรับประทานผลสุก มีรสชาติเปรี้ยวเฉพาะตัว แต่อร่อย ผลสุกสีแดงขนาดเล็ก คล้ายกับมะเขือเทศราชินีหรือองุ่นแดง ประโยชน์ของมะม่วงหาวมะนาวโห่ไม่ได้มีเพียงแค่การรับประทานผลสุกเท่านั้น แต่เราสามารถทำแทบทุกส่วนของลำต้นมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้นในรูปแบบของสมุนไพรรักษาโรค
เผยแพร่เมื่อ 12-05-2020 ผู้เช้าชม 8,072
ชบา มีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบค่อนข้างมนรี มีปลายแหลม ขอบของใบเป็นจักเล็กน้อย และมีสีเขียวเข้ม เมื่อขยี้ใบจะเป็นเมือกเหนียว ดอกชบามีทั้งกลีบชั้นเดียวและหลายชั้น หากเป็นชั้นเดียวปกติจะมีกลีบดอก 5 กลีบ มีก้านเกสรอยู่ตรงกลางดอกหนึ่งก้าน ลักษณะของกลีบดอกชบาจะมีขนาดใหญ่ มีหลายสีไม่ว่าจะเป็น ขาว แดง แสด เหลือง ม่วง ชมพู และสีอื่นๆ โดยดอกชบาแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ ดอกบานเป็นรูปถ้วย, ดอกบานเป็นรูปแผ่แบน, กลีบดอกบานแบบแผ่โค้ง และขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ การติดตา และการเสียบยอด
เผยแพร่เมื่อ 26-05-2020 ผู้เช้าชม 16,550
พันงูน้อย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เซนติเมตร มีรากอยู่ใต้ดินยาวเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นจะคล้ายกับหญ้าพันงูขาว แต่ก้านค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมและมีสีน้ำตาลเหลือง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเรียบ ใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร
เผยแพร่เมื่อ 16-07-2020 ผู้เช้าชม 2,167
ต้นกาหลงนี้จัดเป็นไม้พุ่มที่มีลำต้นสูงประมาณ 1-3 เมตร มีเปลือกเรียบสีน้ำตาล มีใบเดี่ยวรูปไข่ออกเรียงสลับกัน โดยปลายใบนั้นจะเว้าลึกเข้ามาถึงเกือบครึ่งใบ โคนใบเป็นรูปหัวใจ ปลายเส้นกลางใบเป็นติ่งแหลมๆ และปลายแฉกทั้งสองข้างจะแหลม ผลัดใบช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม แล้วจะขึ้นมาใหม่ในช่วงหน้าร้อน หรือเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม ส่วนดอกนั้นจะมีสีขาวออกเป็นช่อสั้นๆ ตรงปลายกิ่ง ช่อละประมาณ 2-3 ดอก มีดอกย่อยสีขาวกลิ่นหอมอ่อนๆ บริเวณปลายกลีบมน โคนสอบ และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวติดกันอยู่ และผลเป็นฝักแบน ขอบฝักจะเป็นสันหนาๆ แต่ปลายและโคนฝักจะสอบแหลม ตลอดจนปลายฝักมีติ่งแหลมๆ ยื่นออกมา โดยต้นกาหลงนี้จะออกผลในเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม
เผยแพร่เมื่อ 29-04-2020 ผู้เช้าชม 4,364
ต้นใบเงิน มีถิ่นที่อยู่ในประเทศนิวกินี ส่วนต้นใบนาก มีถิ่นกำเนิดในเขตมรสุมในเมืองร้อน ใบเงิน ใบทอง และใบนากเป็นพรรณไม้ชนิดเดียวกัน โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบอยู่ในที่ร่มรำไร มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต้องการแสงแดดเป็นบางเวลา และทั้งใบเงิน ใบทอง และใบนาก ต่างก็มีสรรพคุณทางยาเช่นเดียวกัน
เผยแพร่เมื่อ 04-06-2020 ผู้เช้าชม 14,355
ต้นกัดลิ้น หรือ ต้นลำไยป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5-12 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างถึงค่อนข้างกลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนต่างประเทศนั้นจะพบได้มากในประเทศพม่าและกัมพูชา มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยจำนวน 3 ใบ โดยใบย่อยใบกลางจะมีขนาดใหญ่สุด ใบย่อยคู่ข้างจะอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนที่เชื่อมกับก้านใบย่อยจะป่องเป็นข้อ ลักษณะใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหม ส่วนโคนใบสอบ ผิวใบด้านบนสีเขียว ส่วนท้องใบสีอ่อนกว่า
เผยแพร่เมื่อ 09-07-2020 ผู้เช้าชม 3,407