ตำนานพระร่วง

ตำนานพระร่วง

เผยแพร่เมื่อ 22-02-2017 ผู้ชม 14,865

[16.6617782, 99.5870909, ตำนานพระร่วง]

        คำว่าตำนานหมายถึงเรื่องแสดงกิจการอันมีมาแล้วแต่ปางหลังหรือเรื่องราวนมนานที่เล่าสืบต่อกันมาไม่ได้ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และไม่ทราบระยะเวลาว่านานเท่าใด มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นอุทาหรณ์สั่งสอนให้นำเป็นแบบอย่างหรือมุ่งเพื่อความบันเทิง เช่น ตำนานขอมดำดิน ตำนานพรานกระต่าย เป็นต้น
        เรื่องของตำนานถ้าศึกษากันให้ลึกซึ้งจริงจังแล้ว ตำนานหาใช่เพียงปรัมปราคติที่ไร้สาระไม่ หากแต่เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยข้อมูลเบื้องต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นหลักฐานเบื้องต้นที่มีคุณค่ามีความหมายเป็นผลผลิตทางประวัติศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งแห่งวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มหนึ่ง การศึกษาตำนานจะมีประโยชน์ต่อการสืบค้นหาต้นเค้าทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและทำให้เกิดความภูมิใจในประวัติความเป็นมาและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น
        ถนนพระร่วงเป็นเส้นทางหรือถนนที่สร้างขึ้นเชื่อมระหว่างกำแพงเพชร สุโขทัย และศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงสมัยนั้น เป็นเส้นทางโบราณที่ทอดยาวจากแม่น้ำปิงจังหวัดกำแพงเพชร ผ่านเมืองต่าง ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชร เมืองเพชร (คีรีมาศ) ในจังหวัดสุโขทัยและต่อไปจนจรดลำน้ำน่านที่เมืองศรีสัชนาลัยรวมระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร ตลอดสองข้างทางถนนพระร่วง จะมีทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ ปรากฏให้เห็นพร้อมทั้งเรื่องราวตำนานต่าง ๆ ที่ได้รับฟังจากคำบอกเล่าของชาวบ้านทั้งสองฝั่งถนน
        ในวันที่ 2 เมษายน 2545 เวลา 09.00 น. คณะสำรวจอันประกอบด้วยว่าที่ร้อยตรีพิทยา คำเด่นงาม อดีตนักโบราณคดี 8 วิทยากรพิเศษและหัวหน้าคณะนายสันติ อภัยราช อาจารย์ 3 ระดับ 8 รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด หัวหน้าคณะวิจัยสำรวจ พร้อมด้วยคณะสำรวจทั้งหมดได้มาประชุมร่วมกันวางแผนการสำรวจเส้นทางถนนพระร่วง ณ ที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และหลังจากที่ได้รับประทานอาหารกลางวันเสร็จเรียบร้อยจึงได้เริ่มออกเดินทางจากประตูสพานโคมไปตามถนนสายกำแพงเพชรสุโขทัยไปทางวัดอาวาสน้อย ผ่านสถานีวิทยุ อสมท. บ่อสามแสนและเลี้ยวขาวเข้าถนนข้างโรงเรียนบ่อสามแสนเดินไปตามทางถนนพระร่วงและในที่สุดพวกคณะสำรวจก็ได้เดินทางมาถึงบริเวณที่เรียกว่าจรเข้ปูน ข้าพเจ้าจึงนึกถึงเรื่องตำนานของจรเข้ปูนขึ้นมาได้ จึงได้เล่าให้เพื่อน ๆ คณะสำรวจฟังดังนี้

ตำนานเมืองพลับพลา
        กล่าวกันว่าบริเวณเมืองพลับพลานี้ครั้งหนึ่งได้มีผู้เดินทางไปตามถนนพระร่วงเช่นเดียวกับคณะสำรวจชุดนี้นั่นแหละ ได้พบกับชีปะขาวผู้หนึ่งยืนอยู่บริเวณนั้น ชาวบ้านเข้าไปถามก็ไม่ยอมพูดด้วย แม้จะซักถามหลายครั้งหลายครา ชาวบ้านผู้นั้นจึงได้นำเรื่องไปบอกพระยาพานซึ่งเป็นเจ้าเมืองบางพานในสมัยนั้น พระยาพานจึงได้เดินทางตามแนวถนนพระร่วงมาหาชีปะขาวด้วยตนเอง ชีปะขาวจึงยอมพูดว่าอยากจะเข้าเฝ้าพระเจ้าศรีธรรมาโศก เจ้าเมืองกำแพงเพชร เพราะมีข่าวที่สำคัญเกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชรที่จะทูลให้ทราบ พระยาพานจึงรีบไปเข้าเฝ้าพระเจ้าศรีธรรมโศกเพื่อบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น พระเจ้าศรีธรรมโศกจึงมีรับสั่งให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่กลางป่าริมถนนพระร่วงที่ชีปะขาวยืนอยู่นั้น แล้วจึงเสด็จออกไปเชิญชีปะขาวผู้นั้นขึ้นมาบนพลับพลา และถามว่าเป็นผู้ใด และมีข่าวสำคัญอะไรมาบอก ชีปะขาวบอกว่าตนคือองค์อมรินทร์ทราธิราช การที่มานี้มีข่าวมาบอกเกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชรจะเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยกันอย่างหนัก ให้รีบสร้างเทวรูปพระเป็นเจ้าทั้ง 3 อันได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ขึ้นประดิษฐานไว้ที่อันควร เมื่อกล่าวจบชีปะขาวก็อันตรธานหายไปทันที พระเจ้าศรีธรรมาโศกพอรู้ว่าองค์สมเด็จพระอมรินทราธิราชได้จำแลงพระองค์ลงมาบอกข่าวสำคัญเช่นนั้น ก็รีบเสด็จกลับเข้าไปในเมืองกำแพงเพชรและทำตามที่ชีปะขาวบอกไว้ทุกประการ
        ต่อมาเมื่อเกิดเจ็บไข้ขึ้นจริง ๆ ดังคำทำนาย จึงได้ใช้น้ำมนต์สรงเทวรูปเป็นยารักษาโรคได้ ส่วนตำบลที่ปลูกพลับพลาก็เลยถูกเรียกว่าเมืองพลับพลาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ขณะที่เล่าเรื่องนี้พวกเราในคณะสำรวจยังไม่สามารถตั้งสมมติฐานได้ว่าเมืองพลับพลามีจริงหรือไม่และอยู่ตรงไหนกันแน่ เพราะไม่มีหลักฐานใด ๆ ปรากฏเลย ส่วนพระเจ้าทั้ง 3 ที่พระเจ้าศรีธรรมโศกสร้างไว้ปัจจุบันเหลือเพียงพระอิศวรเท่านั้น
คณะสำรวจได้เดินเท้าสำรวจบนเส้นทางถนนพระร่วงต่อไป โดยเข้าสู่บ้านดงขวัญ ลัดเลาะไปเรื่อย ๆ จนถึงบ้านวังพาน ตลอดเส้นทางจะพบเห็นซากวัตถุโบราณต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ และจากการที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านไปเรื่อย ๆ จึงได้ทราบตำนานเกี่ยวกับพระร่วงโดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับการที่พระร่วงใช้อิทธิฤทธิ์สร้างถนนพระร่วงและการวิ่งเล่นว่าวของพระร่วงในหมู่บ้านต่าง ๆ หลายแห่งมีลักษณะเรื่องราวคล้าย ๆ กัน ต่างกันแต่ละสถานที่เท่านั้น จึงยกยอดไปเล่าเสียที่เดียวเลยก็คืออำเภอพรานกระต่าย ๆ
        สำหรับหมู่บ้านวังพานนี้ คณะสำรวจได้เดินทางบนถนนลูกรังที่สมบูรณ์ดีมาก เพราะเส้นทางถนนพระร่วงบางแห่งจะทับกับเส้นทางถนนสายที่สร้างขึ้นใหม่ซึ่งเป็นลูกรัง เป็นเส้นทางคมนาคมของชาวบ้าน โดยเส้นทางจะผ่านเขานางพันและมีแยกไปเขานางทองไปทับกับถนนเส้นพรานกระต่ายวังพาน ส่วนทางเขานางพันจะผ่านหมู่บ้านวังพาน บ้านวังพานเก่า ไล่คดเคี้ยวมาทางเหนือ จรดถนนสายพรานกระต่ายเขา คีรีส เรื่อยมาจนถึงวัดพรานกระต่ายใต้ซึ่งปัจจุบันไม่มีวัดแล้ว ผ่านไปจนเกือบถึงวัดไตรภูมิ และวัดพรานกระต่ายเหนือ (วัดเค่าและร้างไปแล้ว) ในที่สุดบนเส้นทางถนนพระร่วงช่วงนี้มีสถานที่สำคัญหลายแห่งที่ประกอบกันเป็นตำนานเล่าสืบทอดกันมาเช่นบริเวณเขานางทอง (ปัจจุบันเป็นวัดชื่อวัดเขานางทองมีพระจำพรรษาอยู่จำนวนหนึ่ง) นางทองนี้เชื่อกันว่าเป็นชื่อมเหสีของพระร่วง ตามตำนานเล่าว่านางทองนี้ถูกพระยานาคกลืนเข้าไป พระร่วงตามมาถึงที่เขานี้ได้ล้วงนางทองออกมาจากพระยานาค แล้วเลยได้นางทองเป็นมเหสี  บนเขานางทองจะมีร่องรอยเจดีย์เก่า ๆ และรอยพระพุทธบาท แต่ปัจจุบันไม่เหลือแล้วเพราะในอดีตชาวบ้านไม่รู้เอาศิลาพระพุทธบาทที่กระเทาะออกมาเป็นส่วน ๆ มาทำหินลับมีดบ้าง อย่างอื่น ๆ บ้าง แต่บางส่วนทางพิพิธภัณฑ์ได้นำมาเก็บไว้ นอกจากนี้ก็ยังมีถ้ำ ในอดีตมีค้างคาวอาศัยอยู่มาก แต่ปัจจุบันไม่เหลือแล้ว เป็นอาหารของชาวบ้านสูญพันธุ์ไปหมด ปากถ้ำก็ชำรุดหินพังทับลงมา เขาเล่ากันว่าใต้ดินบริเวณนั้นมีพระนอนองค์เท่ากับพระนอนจักรศรี จังหวัดสุโขทัย และคนปั้นเป็นคน ๆ เดียวกันโดยปั้นองค์นี้ก่อนแล้วเลยไปปั้นที่จังหวัดสิงห์บุรี บริเวณบนเขานางทองยังมีที่อีกแห่งเรียกที่ตากผ้าอ้อม บริเวณนั้นจะไม่มีต้นไม้หรือหญ้าขึ้นเลย เป็นหินศิลาแลง เขาเล่าว่ามเหสีพระร่วงคือนางทองใช้บริเวณนี้ตากผ้าอ้อม
จากเขานางทองคณะสำรวจก็เดินเท้ามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเขาอีลูกหนึ่งชื่อเขานางพันเชื่อกันว่านางพันเป็นชื่อสนมหรือเมียน้อยของพระร่วง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพรานทองศิริมงคล มีพระจำพรรษาอยู่เช่นกันมีศาลาวัดอยู่บนยอดเขาส่วนหมู่บ้านที่เรียกกันว่าบ้านวังพานเก่า บริเวณนี้ชาวบ้านเล่าว่าเป็นวังเก่ามีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ บริเวณนี้จะเป็นวัดเก่าเป็นวัดร้าง ซึ่งปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์ได้มากั้นเขตไว้เป็นที่สาธารณะบริเวณนี้จะมีซากอิฐเก่า ๆ ชาวบ้านเคยไถนาแล้วได้พระเรียกว่าพระอู่ทอง ซึ่งคาดว่าเป็นพิมพ์สมัยทวาราวดี นอกจากนี้ก็ยังเคยได้พระวังพานเป็นต้น ภายในบริเวณวังเก่าจะมีอ่างเก็บนี้หรือบึงใหญ่ที่เคยเล่าว่าเป็นที่อยู่ของพญาจรเข้ใหญ่ที่เคยมาคาบเอานางทองไป (ดูตำนานจรเข้ปูน) จากวังพานการเดินทางของคณะสำรวจค่อนข้างสบายขึ้นเพราะแนวถนนพระร่วงชัดเจน และบางช่วงก็เป็นถนนที่ชาวบ้านช่วยเดินทางติดต่อกันอยู่แล้ว ช่วงนี้จะผ่านมาทางตำบลเขาคีรีส จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมจึงชื่อเขาคีรีสก็ได้คำตอบจากชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นดังนี้ และในที่สุดคณะสำรวจก็เข้าสู่อำเภอพรานกระต่าย ซึ่งผู้เขียนคุ้นเคยดีเพราะเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนพานกระต่ายพิทยาคมมานานพอควร จึงรู้ถึงตำนานถ้ำกระต่ายทองหรืออาจจะเรียกตำนานพรานกระต่ายก็ได้ จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

ตำนานพรานกระต่าย
        พรานกระต่ายเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ภาคเหนือของจังหวัด มีฐานะเป็นอำเภอมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยได้รับจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอเมื่อปี 2438 เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของจังหวัดกำแพงเพชรมีมณฑลนครเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคอีกชั้นหนึ่ง ชื่ออำเภอ “พรานกระต่าย” มีประวัติความเป็นมาเป็นตำนานเล่าขนานกันมาหลายชั่วคนดังนี้
ประมาณปี พ.ศ. 1420 พรานกระต่ายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพานมีมหาพุทธสาครเป็นกษัตริย์ ตัวเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอปัจจุบันทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร เมืองพานนั้นเจริญรุ่งเรืองมา เพราะตั้งอยู่ในในที่ราบลำน้ำใหญ่ไหลผ่านจากกำแพงเพชรไปสู่ที่จังหวัดสุโขทัย จึงเป็นเส้นทางคมนาคมเมืองใหญ่และเป็นแหล่งนี้อันอุดมสมบูรณ์ บ้านเรือนเรียงขนานแน่นสองฝั่งคลอง ปัจจุบันมีเมืองเก่าแก่ทรุดโทรมอยู่ในป่ารกเป็นคันเมือง คูเมือง (วัดเก่าหลายแห่ง) หมู่บ้านในอดีตยังเป็นหมู่บ้านในปัจจุบันอยู่บ้าง เช่น วัดโคก บ้านวังไม้พาน และบ้านจำปีจำปา เป็นต้น สัญลักษณ์แห่งความเจริญสูงสุดก็คือการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองสัมฤทธิ์ไว้ที่วัดนางทองบนเขานางทองใกล้เมืองพาน? ชื่อ? “นางทอง” เป็นชื่อของพระมเหสีพระร่วง มีถนนจากสุโขทัยผ่านอำเภอพรานกระต่ายไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร เรียกว่า “ถนนพระร่วง”
        กล่าวกันว่าในปี พ.ศ. 1800 เศษ พระร่วงครองสุโขทัย ทรงมีนโยบายที่จะขยายอาณาเขตให้กว้างขวางและมั่นคง จึงดำริที่จะสร้างเมืองหน้าด่านขึ้นทุกทิศซึ่งได้รับสั่งให้นายพรานผู้ชำนาญเดินป่าออกสำรวจเส้นทางและชัยภูมิที่มีลักษณะดี กลุ่มนายพรานจึงได้กระจายกันออกสำรวจเส้นทางต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงบริเวณแห่งนี้ได้พบกระต่ายป่าขนสีเหลืองเปล่งปลั่งด้วยทองสวยงามมาก นายพรานจึงกราบถวายบังคมทูลขอราชอนุญาตจากพระร่วงเจ้าไปติดตามจับกระต่ายขนสีทองตัวนี้มาถวายเป็นราชบรรณาการถวายแด่พระมเหสีพระร่วง นายพรานจึงกลับไปติดตามกระต่ายป่าตัวสำคัญ ณ บริเวณที่เดิมที่พบกระต่ายได้ใช้ความพยายามดักจับหลายครั้ง แต่กระต่ายตัวนั้นก็สามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง นายพรานมีความมุมานะที่จะจับให้ได้จึงไปชักชวนเพื่อนฝูงนายพรานด้วยกันมาช่วยกันจับแต่ยังไม่ได้จึงอพยพลูกหลานพี่น้อง และกลุ่มเพื่อนฝูงต่าง ๆ มาสร้างบ้านถาวรขึ้นเพื่อผลที่จะจับกระต่ายขนสีทองให้ได้ กระต่ายก็หลบหนีเข้าไปในถ้ำ ซึ่งหน้าถ้ำมีขนาดเล็กนายพรานเข้าไปไม่ได้แม้พยายามหาทางเข้าเท่าไรก็ไม่พบจึงได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นหน้าถ้ำเพื่อเฝ้าคอยจับกระต่ายขนสีทอง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งต่อมาหมู่บ้านได้ขยายตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงได้เรียกชุมชนนั้นว่า “บ้านพรานกระต่าย” และเป็นชื่ออำเภอในเวลาต่อมา
ในปัจจุบันถ้ำที่กระต่ายขนสีทองหนีเข้าไปซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำกระต่ายทอง” ได้รับการบูรณะใหม่เพื่อทำให้เป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นและประชาชนก็เห็นความสำคัญของสถานที่นี้จึงได้ช่วยกันดูแลรักษาตกแต่งบริเวณให้สะอาดเพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญสำหรับหมู่บ้านสมกับเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญอำเภอพรานกระต่ายที่ว่า  “เอกลักษณ์ภาษาถิ่น หินอ่อนเมืองพาน ตำนานกระต่ายทอง เห็นโคนดองรสดี”

ตำนานพระร่วง
        โครงการร่วมเดินทางไปกับคณะสำรวจเส้นทางถนนพระร่วงกำแพงเพชร – สุโขทัยสำรวจตลอดระยะเวลา 5 วัน ( วันที่ 2 – 6 เมษายน ) ในการเดินทางสำรวจเส้นทาง นอกจากผู้เขียนจะได้รับทราบเกี่ยวกับแนวเส้นทางของถนนพระร่วงจากการบอกเล่าของชาวบ้านหแล้วได้ทราบตำนานต่างๆ ของพระร่วงอีกพอสมควร จะได้กล่าวดังต่อไปนี้
        กล่าวกันว่าพระยาอภัยคามณีเจ้าเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูนปัจจุบัน) ได้ไปจำศิลบนเขาหลวงในขณะเดียวกันก็ได้มีนางนาคตนหนึ่งซึ่งจำแลงตัวเป็นมนุษย์ ได้มาเที่ยวเล่นบนเขาหลวง (ปัจจุบันมีปล่องนางนาคอยู่) เกิดสมัครรักใคร่ ได้อภิรมย์สมรสอยู่ด้วยกันนานถึง 7 วัน จึงได้แยกจากกัน นางนาคได้กลับไปเมืองบาดาลและเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา เมื่อจวนจะคลอดลูกเห็นว่า ถ้าคลอดลูกในเมืองบาดาลทารกต้องตาย เพราะมีเชื้อมนุษย์ปนอยู่ จึงได้ขึ้นมายังเขาหลวงอีกครั้ง แล้วคลอดลูกเป็นชายทิ้งไว้ในถ้ำใหญ่บนเขาหลวง พร้อมด้วยแหวนและผ้าห่มของที่พระยาอภัยคามณีประทานให้นางนาคไว้ ต่อมามีตายายคู่หนึ่งซึ่งเป็นพรานป่า ได้ไปพบทารกนั้นและได้พามาเลี้ยงไว้ โดยตายายได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า “พระร่วง” เกิดอัศจรรย์ที่ตัวเด็กอย่างมามาย โดยเฉพาะในด้านวาจาสิทธิ์ พูดคำไหนจะเป็นดังเช่นคำพูดนั้น ตายายกลัวเด็กจะเหงาจึงได้นำเอาไม้ทองหลางมาแกะสลักเป็นตุ๊กตา ตั้งชื่อว่า “พระลือ” ให้เล่นเป็นเพื่อนพระร่วง และด้วยวาจาสิทธิ์ของพระร่วง ตุ๊กตาก็เกิดมีชีวิต ตายายเลยเลี้ยงไว้ทั้งคู่เป็นเพื่อนเล่นกัน จากการที่เกิดอัศจรรย์ต่าง ๆ ปรากฏที่ตัวเด็กชายร่วงอย่างผู้มีบุญ ความทราบถึงพระยาอภัยคามณี จึงตรัสเรียกไปทอดพระเนตร เมื่อทราบเรื่องจากสองตายายที่ไปพบและทอดพระเนตรเห็นชองที่อยู่กับตัวเด็ก ก็ทราบว่าเป็นราชบุตรที่เกิดด้วยนางนาค จึงประทานนามว่า “อรุณกุมาร” ส่วนกระลือให้ชื่อว่า “ฤทธิ์กุมาร” ทั้งสองเติบโตมาด้วยกันและเมื่องเข้าวัยหนุ่มพระยาอภัยคามณีจึงสู่ขอราชธิดาเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยให้อภิเษกสมรสกับอรุณกุมาร และได้ครองเมืองศรีสัชนาลัยและกรุงสุโขทัยในเวลาต่อมา ส่วนพระลือก็ได้สมรสกับราชธิดาพระยาเชียงใหม่และได้ครองเมืองเชียงใหม่เช่นเดียวกันกับพระร่วง ทั้งสองอาณาเขตมีเจ้าเมืองเป็นพี่น้องกัน บ้านเมืองก็เป็นพันธมิตรสืบต่อกันมา กล่าวกันว่าอรุณกุมารหรือพระร่วงเป็นเชื้อมนุษย์กับพญานาคระคนกัน จึงมี อิทธิฤทธิ์กล่าวเป็นตำนานต่าง ๆ มากมาย

ตำนานพระร่วงเล่นว่าว
        พวกเราได้เดินเข้าไปตามเส้นทางถนนพระร่วงได้พบปะกับชาวบ้านหลาย ๆ ท่านได้เล่าถึงพระร่วงซึ่งเป็นผู้สร้างถนนสายนี้ว่า พระร่วงได้ใช้เท้าเกลี่ยดินเพียงสามครั้งเท่านั้นก็ได้ถนนสายนี้ขึ้นมา พระร่วงเป็นกษัตริย์ที่ทรงโปรดการเล่นว่าวมาก ตลอดเส้นทางบนถนนสายนี้ชาวบ้านได้เล่าถึงการเล่นว่าวของพระร่วงคล้าย ๆ กันในหลาย ๆ หมู่บ้านที่คณะสำรวจเดินผ่าน จะต่างกันก็เพียงสถานที่ที่พระองค์เล่นว่าวเท่านั้น ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างที่อำเภอพรานกระต่ายก็แล้วกัน ในช่วงที่พระร่วงได้ครองราชอยู่ที่กรุงสุโขทัยวันหนึ่งพระองค์คิดถึง นางทองผู้เป็นมเหสีอยู่ที่เมืองพาน จึงได้เสด็จมาหาซึ่งในตอนนั้นนางทองเริ่มตั้งครรภ์อ่อน ๆ อยากทานมะดัน (ผลไม้ชนิดหนึ่ง) พระร่วงจึงเสด็จไปหามะดันเพื่อนำมาให้ มเหสีรับประทานในระหว่างทางนึกสนุกอยากเล่นว่าวขึ้นมาขณะนั้นเดินทางมาถึงวัดโพธิ์ (วัดเก่าอยู่ใกล้ ๆ วัดไตรภูมิในปัจจุบัน) จึงได้ไปเอาเชือกเพื่อมาเล่นว่าวและได้แช่ปอที่หนองกะโพ (โผล่) พอปอเหนียวดีแล้วจึงได้ออกวิ่งเล่นว่าววิ่งไปสะดุดเขาสว่างล้มลงบริเวณใกล้ ๆ โรงพยาบาลพรานกระต่ายในปัจจุบันบริเวณที่ล้มกลายเป็นหนองน้ำ 2 แห่ง จากนั้นได้เก็บดอกโสนที่หนองโสนเข็ม รู้สึกเหนียวตัว เลยวักน้ำล้างที่หนองกระหำขึ้นไปเก็บดอกซ่าเหล้ากลายเป็นหนองซ่าเหล้าแล้ววิ่งว่าวเรื่อยมาหยุดนั่งเล่นว่าวที่หนองหินบริเวณนั้นยังมีรอยหินที่พระร่วงนั่งซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “หัวหินกอง” และจากการที่พระร่วงวิ่งมาไกลพอสมควรจึงเหนื่อยได้เข้าไปขอน้ำชาวบ้านแถว ๆ หนองหัววัวบริเวณนั้นกันดาลน้ำมากประกอบกับไม่รู้ว่าเป็นพระร่วงจึงไม่ยอมให้น้ำ แต่ให้โยนน้ำในบ่อเอง พระร่วงจึงเอาปอเชือกว่าวมาโพงน้ำแต่ไม่ได้จึงโกรธมากกระทืบเท้าสามทีบริเวณตาน้ำจนตาน้ำตันไปหมดและสาปไม่ใช้มีน้ำ ชาวบ้านบริเวณนั้นจึงหาน้ำได้ยากมาก ต้องขุดบ่อลงไปลึกมากจึงจะมีโอกาสได้น้ำ (ในปัจจุบันนี้ทางรัฐบาลได้สร้างห้วยแม่บงกักเก็บน้ำไว้และน้ำระบบชลประทานมาช่วยจึงแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำลงไปได้) และในที่สุดพระร่วงก็ได้วิ่งว่าวมาถึงคลองแห่งหนึ่งซึ่งมีลูกมะดันมากจึงได้เก็บเอามาเพื่อจะให้นางทองกิน ชาวบ้านเรียกคลองนั้นว่า “คลองมะดัน” ในเวลาต่อมา และในที่สุดพระร่วงก็ได้วิ่งว่าวมาถึงคลองแห่งหนึ่งซึ่งมีลูกมะดันมากจึงได้เก็บเอามาเพื่อจะให้นางทองกิน ชาวบ้านเรียกคลองนั้นว่า “คลองมะดัน” ในเวลาต่อมา หลังจากที่คณะสำรวจเส้นทางถนนพระร่วง บรรลุจุดมุ่งหมายแล้วคือ เดินทางถึงเมืองเก่าจังหวัดสุโขทัยโดยเดินทางเข้าทางทิศตะวันออกเหมือนสมัยพระมหาสามีสังฆราช ต่อมาข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมอาจารย์ประทีป สุดโสภา จึงได้ทราบตำนานขึ้นมาอีก 1 เรื่องคือ ตำนานพระร่วงส่วยน้ำ ซึ่งจะได้เล่าต่อไป

ตำนานพระร่วงส่วยน้ำ
        เรื่องพระร่วงในพงศาวดารเหนืออีกเรื่องหนึ่งนั้น เรียกว่า “เรื่องพระร่วงส่วยน้ำ”ว่ามีชายชาวเมืองละโว้คนหนึ่งชื่อ “คงเครา” เป็นนายกองคุมคนส่วยน้ำสำหรับตักน้ำในทะเลชุบศร ส่งไปถวายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เสวย ณ เมืองขอม อยู่มานายคงเครามีลูกชายคนหนึ่งให้ชื่อว่า “ร่วง” เด็กร่วงนั้นเกิดเป็นผู้มีบุญด้วย “วาจาสิทธิ์” คือถ้าว่าให้อะไร เป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้นตั้งแต่เกิด แต่ไม่รู้ตัวว่ามีฤทธิ์เช่นนั้นมาจนได้อายุ 11 ปี วันหนึ่งพายเรือไปในทะเลชุบศร เรือทวนน้ำ เด็กร่วงพายเรือจนเหนื่อยจึงอกปากว่า “นี่ทำไม น้ำไม่ไหลไปทางโน่นมั่ง” พอขาดคำลงน้ำก็ไหลกลับไปอย่างว่า เด็กร่วงก็รู้ตัวว่ามีวาจาสิทธิ์แต่ปิดความไว้มิให้ผู้อื่นรู้ ครั้งนายคงเคราตาย พวกไพร่พร้อมใจกันยกนายร่วง ขึ้นเป็นนายกองส่วยน้ำแทนพ่อ พอประจวบเวลานักคุ้มข้าหลวงขอม คุมเกวียนบรรทุกกล่องสานสำหรับใส่น้ำเสวยมาถึงเมืองละโว้ สั่งให้นายร่วงเกณฑ์ไพร่ตักน้ำเสวยส่วยตามเคย นายร่วงเห็นว่า กล่องน้ำที่ทำมานั้นหนักนัก จึงสั่งให้ไพร่สายชะลอม ก็เป็นเช่นว่า นักคุ้มข้าหลวงเห็นเช่นนั้นก็กลัวฤทธิ์นายร่วง รีบรับชะลอมกลับไปเมืองขอม ทูลพระเจ้าปทุมสุริยวงค์ว่า มีผู้วิเศษเกิดขึ้นที่เมืองละโว้ ก็ทรงพระวิตกกลัวว่าจะเป็นขบถ จึงแต่งกองทหารให้มาจับตัวนายร่วง แต่นายร่วงได้ยินข่าวรู้ตัวก่อน จึงหนีออกจากเมืองละโว้ขึ้นไปยังเมืองเหนือ ไปบวชเป็นภิกษุอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งในเมืองสุโขทัย คนจึงเรียกกันว่า “พระร่วง” เพราะเหตุที่บวชเป็นพระ ฝ่ายทหารขอมมาถึงเมืองละโว้ รู้ว่านายร่วงรู้ตัวหนีขึ้นไปอยู่เมืองสุโขทัย มิรู้ว่าไปบวชเป็นพระ จึงดำดินลอดปราการเข้าไปในเมือง เผอิญไปโผล่ขึ้นในลานวัดที่พระร่วงบวชอยู่ เวลานั้นพระร่วงกำลังลงกวาดลานวัด เห็นเข้าก็รู้ว่าขอม แต่ขอมไม่รู้จักพระร่วง ถามว่ารู้หรือไม่ว่า นายร่วงที่มาจากเมืองละโว้อยู่ที่ไหน พระร่วงก็ลั่นวาจาสิทธิ์สาปว่า “สู่อยู่ที่นั้นเถิด รูปจะไปบอกนายร่วง “ พอว่าขาดคำ ขอมก็กลายเป็นหินติดคาแผ่นดินอยู่ตรงนั้น ด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์ของพระร่วง ชาวเมืองสุโขทัยรู้ว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญ เมื่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยสิ้นพระชนม์ พวกเสนาอำมาตย์จึงพร้อมใจกันเชิญพระร่วงขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “ พระเจ้าศรีจันทราธิบดี”

 

ภาพโดย : https://images.thaiza.com/37/37_201104211114541..jpg

 

คำสำคัญ : ตำนาน นิทาน วรรณกรรมพื้นบ้าน

ที่มา : http://sunti-apairach.com/06N/06NG.htm

รวบรวมและจัดทำข้อมูล : กาญจนา จันทร์สิงห์


สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2560). ตำนานพระร่วง. สืบค้น 19 มีนาคม 2567, จาก https://arit.kpru.ac.th/ap/local/?nu=pages&page_id=155&code_db=DB0008&code_type=A001

Facebook Twitter LINE Linkedin

PDF

https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=155&code_db=610006&code_type=01

Google search

Mic

นิทานพื้นบ้าน เรื่องเหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ

นิทานพื้นบ้าน เรื่องเหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ

เดิมทีงูเหลือมเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่มีพิษมาก อาศัยอยูํใกล้กอไผ่ วางไข่เป็นจำนวนมาก และก็หวงไข่ของตนเองเป็นที่สุด ใครเดินผำนจะต้องฉกตายทุกคน มีชายคนหนึ่งคิดจะลองดีกับงูเหลือม จึงเอากระทะครอบหัวเป็นหมวก แล้วเดินผำนบริเวณที่งูเหลือมอาศัย อยู่ งูเหลือมเห็นคนเดิ่นผ่านมาก็ฉกอย่างแรงไปโดนกระทะ ชายคนนั้นก็วิ่งหนีไป งูเหลือมเคยกัดคนตาย เห็นตาคนนี้ไม่ตายก็เลยนึกว่าตนเองไม่มีพิษสงอีกต่อไป โมโหตัวเองคายพิษออกมากองไว้สัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ได้ข่าวว่างูเหลือม คายพิษทิ้ง ก็อยากจะมีพิษกับเขาบ้างรีบเดินทางมาเอาพิษกันแน่นขนัด ใครมาเร็วก็ได้ไปมาก อย่างเช่น งูเห่าไฟเอาตัวคลุกพิษจนแดงไปทั้งตัว งูจงอาง งูแมวเซา งูที่ปัจจุบันมีพิษทั้งหลายมาเร็วก็ได้ไปมาก เจ้าแมงป่องมาช้าเบียดเข้าไปไม่ถึง หันหลังเข้าไป ได้แค่หางจุ่มก็เลยมีพิษที่หาง ส่วนเจ้ามดตะนอยอยากได้กะเขาบ้าง เบียดเข้าไปเลยถูกหนีบจนเอวคอด เหตุการณ์ครั้งนี้เลยทำให้สัตว์ต่างๆ มีพิษ และงูเหลือมไม่มีพิษ ตั้งแต่นั้นมา

เผยแพร่เมื่อ 03-09-2019 ผู้เช้าชม 5,998

นิทานเรื่อง หมาจอมขี้เกียจ

นิทานเรื่อง หมาจอมขี้เกียจ

มีหมาท้องแก่ตัวหนึ่ง มีนิสัยขี้เกียจมาก ขี้เกียจแม้กระทั่งไปหากิน มันเข้าไปนอนในโพรงจอมปลวก จอมปลวกก็ก่อขึ้นทุกวัน จนปิดสนิทไม่มีทางออก หมาท้องแก่ตัวนี้ก็เลยออกลูกในจอมปลวกนั่นเอง นานเข้ามันก็เกิดอาการหิว จนหิวจัดๆ แล้วมันก็กินลูกมันทีละตัวจนหมด มันก็เลยไม่มีอะไรให้กินอีก หมาตัวนี้จึงหันมาเจอหางตัวเองมันก็เริ่มกันหางตัวเอง ต่อมาก็กินขา และกินเนื้อตัวเองจนเหลือแต่ไส้ มันไม่รู้จะกินอะไรอีก หันไปทางไหนก็ไม่มีอะไรให้กินเลยมันคิดจะกินหูตัวเอง แต่อย่างไรมันก็กินไม่ได้ มันเลยอดตาย

เผยแพร่เมื่อ 27-03-2020 ผู้เช้าชม 1,911

นิทานพื้นบ้าน เรื่องทำไมคนถึงกินข้าว 3 มื้อ

นิทานพื้นบ้าน เรื่องทำไมคนถึงกินข้าว 3 มื้อ

มนุษย์รู้จักทำไร่ทำนาเลี้ยงชีพมาหลายพันปีแล้ว โดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ปีไหนฝนแล้งก็จะเหนื่อยยากอดอยากมากกว่าปีอื่นๆ เพราะข้าวตาย พระอิศวรมองลงมาจากสวรรค์ รู้สึกสงสารชาวนามาก เลยใช้ให้ควายลงไปโลกมนุษย์ไปบอกชาวนาว่า “ต่อไปนี้ ให้กินข้าว 3 วันมื้อหนึ่ง จะได้ไม่ต้องลำบากปลูกข้าวได้พอกิน” ควายรับปากดิบดีว่าจะไปบอกตามที่สั่ง พอไปถึงทุ่งนาเห็นหนองน้ำใหญ่น่าลงไปเล่นตามสัญชาติญาณของควายที่ชอบนอนแช่ในปลัก นอนแช่น้ำเย็นสบายจนบ่ายคล้อยก็นึกขึ้นได้ว่าพระอิศวรใช้มาส่งข้าว จำได้แค่ว่าอะไรสามๆ เลยบอกชาวนาว่า “ต่อไปนี้พระอิศวรให้กินข้าววันละ 3 มื้อ จากที่ลำบากอยู่แล้วยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ พอกลับไปเฝ้าพระอิศวร พระอิศวรทวนถามว่าไปบอกเขาว่าอย่างไร ควายตอบว่า “ก็ตามที่พระองค์สั่งพระเจ้าค่ะ ให้กินวันละสามมื้อ” “ไอ้โง่เอ๊ย ! ชาวนายิ่งเดือดร้อนเข้าไปใหญ่ ข้าสั่งให้กินสามวันมื้อ” แต่ก็แก้ไขคำพูดไม่ได้แล้ว จึงสั่งให้ควายไปช่วยชาวนาไถนาปลูกข้าวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เผยแพร่เมื่อ 10-04-2020 ผู้เช้าชม 4,905

ท้าวแสนปม 3 เรื่อง 3 ที่มา

ท้าวแสนปม 3 เรื่อง 3 ที่มา

เรื่อง “ท้าวแสนปม” เป็นเรื่องที่เล่าขานต่อเนื่องกันมาช้านาน กล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ในระยะแรก ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจที่พยายามจะศึกษาเรื่องราวของท้าวแสนปม แต่ละคนที่ให้ความรู้ให้ข้อมูลแตกต่างกันออกไปไม่เหมือนกัน จึงได้พยายามสืบค้นจากเอกสารต่าง ๆ จึงรู้ได้ว่าสาเหตุที่แตกต่างกันนั้น เกิดจากต้นเรื่องหรือข้อมูลของเรื่องมาจากหลายแหล่ง ซึ่งพอที่จะกล่าวถึงที่มาและเนื้อเรื่องดังนี้

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2020 ผู้เช้าชม 4,979

นิทานพื้นบ้าน เรื่องอีกากับนกยูง

นิทานพื้นบ้าน เรื่องอีกากับนกยูง

อีกากับนกยูงเป็นเพื่อนเกลอกัน วันหนึ่งอีกากับนกยูงผลัดกันลงรักปิดทอง อีกาลงรักให้กับนกยูงกํอน โดยปิดทองลงไปด้วย ทำให้นกยูงมีลวดลายสวยงามจนถึงปัจจุบัน ก็มาถึงตานกยูงทำให้กับอีกาบ้าง พอลงรักจนสีดำสนิทแล้ว ถึงขั้นจะปิดทอง อีกาแลเห็นหมาเนำลอยมาในแมํน้ำ ก็เลยรีบไปกินตามสัญชาติญาณชอบกินของเน่า นกยูงเห็นเข้าเลยไมํยอมปิดกองให้กับอีกา อีกาเลยมีสีดาสนิทมาจนทุกวันนี้

เผยแพร่เมื่อ 03-09-2019 ผู้เช้าชม 2,127

ตำนานท้าวแสนปม

ตำนานท้าวแสนปม

ท้าวแสนปมนามกระเดื่อง หมายถึง ท้าวแสนปม เป็นสัญลักษณ์สำคัญของนครไตรตรึงษ์ มีนิทานเล่ากันมาว่า  เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ มีพระธิดาสิริโสภาองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่รักใคร่ดังดวงแก้วตาทรงพระนามว่า นางอุษา  ที่ใกล้เมืองไตรตรึงษ์นี้มีชายคนหนึ่งซึ่งร่างกายเต็มไป ด้วยปุ่มปม ชาวบ้านเรียกเขาว่า นายแสนปม มีอาชีพปลูกผักสวนครัวขายเลี้ยงตัว มะเขือที่เขาปลูกเอาไว้ต้นหนึ่งมีผลโตน่ากินเพราะ นายแสนปมถ่ายปัสสาวะรดเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งเทวดาดลใจให้พระธิดานีกอยากเสวยมะเขือ พวกนางข้าหลวงจึงออกเสาะหาจน มาพบมะเขือในสวนของนายแสนปมลูกใหญ่อวบจึงขอซื้อ

เผยแพร่เมื่อ 25-02-2017 ผู้เช้าชม 17,626

ตำนานพระพุทธบาท 4 รอย

ตำนานพระพุทธบาท 4 รอย

เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในศาสนาปัจจุบันนี้ได้เสด็จจารึกประกาศธรรม และโปรดเวไนยสัตว์มายังปัจจัยตะประเทศ (ประเทศไทยในปัจจุบัน)จนกระทั่งมาถึงเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศ ชื่อเขา เวภารบรรพตซึ่งขณะนั้นได้เสด็จพร้อมกับพุทธสาวก 500 องค์ และได้แวะฉันจังหันอยู่บนเขา เวภารบรรพตแห่งนี้ เมื่อพระพุทธองค์ฉันจังหันเสร็จ ขณะประทับอยู่ที่นั้น ก็ได้ทราบด้วยญาณสมาบัติว่าบนเทือกเขาแห่งนี้ ได้มีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่บนก้อนหินก้อนใหญ่คือ พระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ภัทรกัลป์นี้ แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเล็งดูรอยพระพุทธบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้ง พระองค์ คือ พระพุทธเจ้ากุสันธะ ,พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ

เผยแพร่เมื่อ 03-04-2019 ผู้เช้าชม 1,799

เมืองไตรตรึงษ์ในนิยายปรัมปรา

เมืองไตรตรึงษ์ในนิยายปรัมปรา

มีบทละครเรื่อง ท้าวแสนปม พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสันนิษฐานเพิ่มเติมจากตำนานเรื่องท้าวแสนปม ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ดังนี้ เมื่อราวจุลศักราช 550 พ.ศ.1731 มีพระเจ้าแผ่นดินไทยองค์หนึ่ง เป็นเชื้อวงศ์ของพระเจ้าพรหมมหาราช ทรงพระนามว่าท้าวไชยศิริ ครองเมืองฝางอยู่ ได้ถูกข้าศึกจากรามัญประเทศยกมาตีเมือง ท้าวไชยศิริสู้ ไม่ได้ จึงหนีลงมาทางใต้ พบพวกไทยที่อพยพกันลงมาแต่ก่อนแล้ว ตั้งอยู่ตำบลแพรก พวกไทยเหล่านั้นหาเจ้านายเป็นขุนครองมิได้ จึงอัญเชิญท้าวไชยศิริขึ้นเป็นขุนเหนือตน

เผยแพร่เมื่อ 02-03-2020 ผู้เช้าชม 1,294

ตำนานประเพณีนบพระ เล่นเพลง

ตำนานประเพณีนบพระ เล่นเพลง

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า พญาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย เมื่อขึ้นครองราชย์ ณ กรุงสุโขทัย บรรดาหัวเมืองต่างๆ พากันแข็งเมือง ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ ของพญาลิไท เช่น เมืองบางพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม พญาลิไท จึงเสด็จ มาด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์ มาจากประเทศศรีลังกา มาแสดงความเป็นไมตรี เมื่อเมืองนครชุมรับไมตรี พญาลิไท จึงนำพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์พระบรมธาตุนครชุม ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สามองค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน องค์กลางใหญ่อยู่กลาง องค์เล็กย่อมสององค์ อยู่ด้านข้าง นอกจากนั้นได้นำ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ มาปลูกไว้เบื้องหลังพระเจดีย์

เผยแพร่เมื่อ 17-01-2020 ผู้เช้าชม 2,588

ตำนานท่อทองแดง

ตำนานท่อทองแดง

ในอดีตบรรพบุรุษของชุมชน มีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการบริหารจัดการน้ำ จึงได้คิดค้นวิธีการนำน้ำจากสายน้ำต่างๆเข้ามาสู่ชุมชน ชื่อ ท่อทองแดง หรือ ท่อปู่พระยาร่วง” ถูกสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระร่วงเจ้า ตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่พอมาถึงสมัยอยุธยา ก็ถูกทอดทิ้งไม่ได้ใช้งาน และถมหายไปจนหมด ผู้อาวุโสของชุมชนเล่าว่า เรื่องท่อทองแดง นี้ถูกเล่าขานต่อๆ กันมาว่า ถูกฝังไว้ใต้ดินคูเมืองกำแพงเพชรตั้งแต่สมัยเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา ในขณะนั้นพม่าได้ยกทัพเข้ามาโจมตีกำแพงเพชรหลายครั้งแต่ตีไม่สำเร็จ จึงได้ล้อมเมืองไว้เพื่อให้คนในเมืองอดตาย แต่ชาวบ้านก็ได้อาศัยน้ำจากท่อทองแดงประทังชีวิต แต่ต่อมามีคนชื่อ หมื่นแสน” เกิดคิดมักใหญ่ไฝ่สูง ทรยศบ้านเมืองนำเรื่อง ท่อทองแดง” ไปบอกกับพม่า แม่ทัพพม่ารู้ดังนั้นจึงฆ่าหมื่นแสน แล้วนำศพไปใส่ไว้ในท่อทองแดงและปิดเสีย จนทำให้ชาวบ้านต้องอดอยากเพราะขาดน้ำจนเป็นผลให้พม่าเข้ายึดเมืองได้ในที่สุด

เผยแพร่เมื่อ 13-03-2018 ผู้เช้าชม 2,004